รัฐบาลกลางไฟเขียวกว่างซีสร้าง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” เพิ่มอีกแห่ง
9 Sep 2024เป็นที่ทราบกันดีว่า… ความมั่นคงทาง “พลังงานไฟฟ้า” เป็นรากฐานสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ความมั่นคงที่ว่า…ไม่ใช่แค่การมีไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนเท่านั้น แต่หมายถึงเศรษฐกิจภาพใหญ่ของประเทศที่พร้อมจะไปต่อหรือหยุดพอแค่นี้
หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนอย่างหนักจากหลายปัจจัย (การเพิ่มกำลังการผลิต ภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ รวมถึงสภาพอากาศกับความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน) ทำให้แต่ละประเทศจำเป็นต้องแสวงหา “แหล่งพลังงาน” ที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับตน รวมถึงจีน
ท่านทราบหรือไม่ว่า… รัฐบาลจีนมีแนวทางอย่างไรในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานภายใต้โจทย์ “ความกระหายพลังงานบนเส้นทางที่ต้องบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)” นั่นคือ การเพิ่มสัดส่วนการบริโภคเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิล (non-fossil fuel) ในโครงสร้างการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศจีน โดย “พลังงานนิวเคลียร์” ถือเป็น 1 ในพลังงานทางเลือกที่จีนให้ความสนใจและต้องการนำมาเป็นพลังงานทดแทน
ปัจจุบัน “จีน” ได้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้าน “พลังงานนิวเคลียร์” ของโลก เทียบชั้นผู้นำด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นแล้ว โดยประเทศจีนเป็น “ผู้เล่น” ที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก (เริ่มใช้พลังงานนิวเคลียร์เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1990) โครงการพลังงานนิวเคลียร์ในจีนที่แนวโน้มเติบโตเร็วที่สุดในโลก และ “จีน” เป็นเจ้าของเทคโนโลยีการกำเนิดไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีความทันสมัยและมีความปลอดภัยมากที่สุดในโลก และพร้อม “ส่งออกเทคโนโลยี” ดังกล่าวไปต่างประเทศด้วย
ปัจจุบัน ประเทศจีนมียักษ์ใหญ่ด้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 ราย ได้แก่ บริษัท China National Nuclear power Co., Ltd. หรือ CNNC (中国核能电力股份有限公司) / บริษัท State Power Investment Corporation Limited หรือ SPIC (国家电力投资集团有限公司) / บริษัท China General Nuclear Power Group หรือ CGN (中广核集团) และบริษัท China Huaneng Group Co., Ltd. (中国华能集团有限公司)
ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 ประเทศจีนมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว 56 ชุด ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 17 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีก 27 ชุด โดยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในจีนส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณมณฑลชายฝั่งทะเล รวมถึงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงด้วย
รู้หรือไม่ว่า…. เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นเขตปกครองตนเองแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศจีนที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเป็นเขตการปกครองระดับมณฑลแห่งแรกในจีนตะวันตกที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดย “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หงซาฝางเฉิงก่าง” (Fangchenggang Hongsha Nuclear Plant/防城港红沙核电站) เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของเขตฯ กว่างซีจ้วง ตั้งอยู่ที่ตำบลกวางพัว เมืองฝางเฉิงก่าง มีบริษัท CGN เป็นผู้ลงทุนหลัก ประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 6 ชุด ปัจจุบัน เดินเครื่องปฏิกรณ์แล้ว 4 ชุด
ล่าสุด!! (19 ส.ค. 67) รัฐบาลกลางได้เห็นชอบอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 แห่งใหม่ในจีน ซึ่งรวมถึง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ป๋ายหลง” (Guangxi Bailong Nuclear Plant/广西白龙核电站) ในเขตฯ กว่างซีจ้วงด้วย
“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ป๋ายหลง” มีบริษัท SPIC เป็นผู้ลงทุนหลัก เป็นโครงการแรกของ SPIC ในจีนตะวันตก โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะก่อสร้างที่บริเวณปลายแหลมเจียงซาน (Jiangshan Peninsular/江山半岛) ตำบลเจียงซาน เมืองฝางเฉิงก่าง ห่างจากตัวเมืองฝางเฉิงก่าง 24.7 กิโลเมตร ห่างจากนครหนานหนิง 145 กิโลเมตร การก่อสร้างแบ่งเป็น 2 เฟส ทั้งหมดมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 6 หน่วย มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง (Installed capacity) รวม 8.62 ล้านกิโลวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 120,000 ล้านหยวน
(1) โครงการเฟสแรกใช้ “เครื่องปฏิกรณ์แบบน้ำอัดแรงดัน” หรือ Pressurized Water Reactor – PWR รุ่น CAP1000 ซึ่งเป็น จำนวน 2 หน่วย แต่ละเครื่องมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1.25 ล้านกิโลวัตต์ ใช้เวลาก่อสร้าง 56 เดือน ใช้เงินลงทุนราว 40,000 ล้านหยวน
เมื่อโครงการเฟสแรกแล้วเสร็จ สามารถส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 20,000 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดปริมาณการใช้ถ่านหินมาตรฐานได้ราวปีละ 6 ล้านตัน แต่ละปีสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 16 ล้านตัน ลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ราว 52,000 ตัน และลดการปล่อยกลุ่มก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ได้ราว 45,000 ตัน ซึ่งทั้งหมดเท่ากับการปลูกป่า 44,000 เฮกตาร์ หรือราว 275,000 ไร่
(2) โครงการเฟสหลังใช้ “เครื่องปฏิกรณ์แบบน้ำอัดแรงดันขนาดใหญ่ หรือ Large Advanced Passive Pressurized Water Reactor รุ่น CAP1400 หรือ Guohe-1 (国和一号) จำนวน 4 หน่วย
บีไอซี เห็นว่า กุศโลบายการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของจีน นอกจากจะเป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ภายใต้การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการกำจัดกากนิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพ) โดยเขตฯ กว่างซีจ้วง ถือเป็นเขตการปกครองระดับมณฑลเพียงแห่งเดียวในภาคตะวันตกที่ได้รับการสนับสนุนด้านพลังงานนิวเคลียร์
หลายปีมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปฏิรูปโครงสร้างพลังงานในกว่างซีไปสู่ “พลังงานสะอาด” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็น “เขตพื้นที่ความมั่นคงด้านพลังงานครบวงจรระดับชาติ” โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานสะอาด และการสร้างฐาน “พลังงานนิวเคลียร์ + พลังงานสะอาดนอกชายฝั่ง” การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสู่ความเป็นไฮเอนด์และความเป็นอัจฉริยะ
บีไอซี เห็นว่า การศึกษาข้อมูลและติดตามพัฒนาการของประเทศต้นแบบความสำเร็จอย่างจีน จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อม และการสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ที่สะอาดและปลอดภัยของไทยในอนาคต โดยเฉพาะการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การบริหารจัดการกากกัมมันตรังสี และการขยายผลไปสู่การต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน(กว่างซี) ในมิติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ รวมถึงการแสวงหาแนวทางเพื่อการพัฒนาธุรกิจพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ (ร่วมทุน) ระหว่างสองฝ่ายได้ในอนาคต
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (新华网) วันที่ 22 สิงหาคม 2567
เว็บไซต์ www.spic.com.cn (国家电投) วันที่ 20 สิงหาคม 2567
เว็บไซต์ https://vod.gxtv.cn (广西广播电视台新闻频道) วันที่ 20 สิงหาคม 2567
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 11 สิงหาคม 2567
เว็บไซต์ www.china-nea.cn (中国核能行业协会)
เว็บไซต์ www.cpnn.com.cn (中国能源新闻网)
เว็บไซต์ https://pris.iaea.org