กว่างซีเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตัวที่ 4 แล้ว
7 Jun 2024ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา “จีน” ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากการส่งเสริมและเดินหน้าไปทั้งระบบ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากเทคโนโลยีอวกาศแล้ว เทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่าง “พลังงานนิวเคลียร์” เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงที่สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน
ปัจจุบัน จีนเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการกำเนิดไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แบบน้ำอัดความดัน (Pressurized Water Reactor: PWR) ที่มีความทันสมัยและมีความปลอดภัยมากที่สุดในโลก และพร้อม “ส่งออกเทคโนโลยี” ดังกล่าวไปต่างประเทศ เทียบชั้นประเทศผู้นำด้านการสร้างเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
“พลังงานนิวเคลียร์”เป็นแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพและความมั่นคง และเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในทวีปเอเชีย พบว่า ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกมีการใช้ “พลังงานนิวเคลียร์” กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะ “จีน” ที่ถือว่าเป็นมหาอำนาจด้าน “พลังงานนิวเคลียร์” ของโลก ด้วยจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่า 1/3 ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณมณฑลชายฝั่งทะเล
ท่านรู้หรือไม่ว่า… โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของจีนที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุดอยู่ที่ไหน คำตอบ คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง(ในอ่าวตังเกี๋ย) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นมณฑลแรกในภูมิภาคตะวันตกที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหงซิง (Hongxing Village/红星村) ตำบลกวางพัว (Guangpo Town/光坡镇) ริมชายฝั่งทะเลเมืองฝางเฉิงก่าง เริ่มวางแผนการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2549 และเริ่มการก่อสร้างปี 2553
บริษัท Fangchenggang Nuclear Power (广西防城港核电有限公司) เป็นผู้ดำเนินงาน บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท China General Nuclear Power Group หรือ CGN (中广核集团) กับบริษัท Guangxi Investment Group (广西投资集团)
ตามแผนแม่บทการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง แบ่งการก่อสร้างออก 3 เฟส มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รวม 6 ยูนิต เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่างสร้างเสร็จทั้งหมดจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 48,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หากเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเดียวกัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่างจะช่วยลดปริมาณการใช้ถ่านหินได้มากถึงปีละ 14.39 ล้านตัน และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 39.74 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับการปลูกป่า 1.08 แสนเฮกตาร์ หรือราว ๆ 6.75 แสนไร่
สำหรับโครงการเฟสแรก ใช้เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ CPR1000 ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 (เริ่มก่อสร้าง 30 กรกฎาคม 2553) และหมายเลข 2 (เริ่มก่อสร้าง 23 ธันวาคม 2553) และเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อ 1 มกราคม 2559 และ 1 ตุลาคม 2559 ตามลำดับ
ปัจจุบัน เป็นโครงการเฟสสอง ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 (เริ่มก่อสร้าง 24 ธันวาคม 2558) และหมายเลข 4 (เริ่มก่อสร้าง 23 ธันวาคม 2559) เป็นครั้งแรกของการใช้เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ HPR1000 หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “หัวหลง อีฮ่าว” (Hualong No.1 / 华龙一号) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการกำเนิดไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์รุ่นที่ 3 ที่จีนคิดค้นขึ้นเอง มีกำลังการผลิตเครื่องละ 1.161 ล้านกิโลวัตต์ มีอายุการใช้งานนาน 60 ปี และเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Bradwell B ในประเทศอังกฤษและปากีสถาน
เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Hualong No.1 ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ European Utility Requirements (EUR) และได้รับการรับรอง Design Acceptance Confirmation (DAC) และ Statement of Design Acceptability (SoDA) จาก Generic Design Assessment (GDA) ของประเทศอังกฤษ
ความเคลื่อนไหวล่าสุด หลังจากประสบความสำเร็จในการทดสอบปฏิบัติการระยะเวลา 168 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2567 เวลา 08.00 น. บริษัท CGN ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ได้ประกาศว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่างมีคุณสมบัติพร้อมสำหรับการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ (เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 เริ่มการผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566)
เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Hualong No.1 ใช้แกนปฏิกรณ์ (Reactor Core) ที่บรรจุแท่งเชื้อเพลิง 177 ชุด โครงสร้างอาคารที่มีความปลอดภัยแบบสองชั้น และใช้ระบบควบคุมความปลอดภัยแบบผสมผสาน คือ ระบบ Active Safety ซึ่งมีเจ้าหน้าที่และระบบจ่ายไฟสำรอง และระบบ Passive Safety ซึ่งอาศัยกฎทางฟิสิกส์มาควบคุมความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์
“การเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 เป็นการตอกย้ำด้านความปลอดภัย ความพร้อมสมบูรณ์ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Hualong No.1 เป็นการสั่งสมประสบการณ์อันมีค่าที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงและทำซ้ำเพื่อการผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Hualong No.1 ต่อไป (mass production)” นายช่าย เจิ้น (Cai Zhen/蔡振) ประธานบริษัท Guangxi Fangchenggang Nuclear Power Co., Ltd. กล่าว
ตามรายงาน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 ยูนิต (หมายเลข 3 และ 4) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 18,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าในชีวิตประจำวันได้ 2 ล้านคนต่อปี ช่วยลดการใช้ถ่านหินมาตรฐานได้ปีละมากกว่า 5.436 ล้านตัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 14.832 ล้านตัน เท่ากับการปลูกป่าได้มากกว่า 40,000 เฮกตาร์ หรือราว 250,000 ไร่
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง เป็นโครงการสำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานของกว่างซี และมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงสร้างพลังงาน การสร้างความมั่นคงทางพลังงานของกว่างซี รวมถึงการสร้างระบบพลังงานสมัยใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด คาร์บอนต่ำ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง คาดหมายว่า ภายหลังโครงการสองเฟสแรกแล้วเสร็จ จะสามารถป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซีได้ปีละ 31,500 ล้านกิโลวัตต์
บีไอซี เห็นว่า การแสวงหาพลังงานทางเลือกเพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิล (ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยการศึกษาข้อมูลและติดตามพัฒนาการของประเทศต้นแบบความสำเร็จอย่างจีน จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อม และการสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ที่สะอาดและปลอดภัยของไทยในอนาคต โดยเฉพาะการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การบริหารจัดการกากกัมมันตรังสี และการขยายผลไปสู่การต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน(กว่างซี) ในมิติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์ไอน้ำความดันสูง (Pressurized Water Reactor: PWR) มีหลักการทำงาน คือ เมื่อเครื่องปฏิกรณ์ทำงาน จะเกิดปฏิกิริยาแตกตัวกับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ทำให้เกิดความร้อน กัมมันตรังสี และผลิตผลจากการแตกตัว (fission product) หรือ กากเชื้อเพลิง โดยความร้อนจากเชื้อเพลิงจะถ่ายเทให้แก่น้ำระบายความร้อนวงจรที่ 1 ซึ่งไหลเวียนตลอดเวลาด้วยปั๊มน้ำ โดยมีเครื่องควบคุมความดันคอยควบคุมความดันภายในระบบให้สูงและคงที่ ส่วนน้ำที่รับความร้อนจากเชื้อเพลิงจะไหลไปยังเครื่องผลิตไอน้ำ และถ่ายเทความร้อนให้ระบบน้ำวงจรที่ 2 ซึ่งแยกเป็นอิสระจากกัน ทำให้น้ำเดือดกลายเป็นไอน้ำแรงดันสูง และถูกส่งผ่านไปหมุนกังหันไอน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งต่ออยู่กับกังหันไอน้ำ เมื่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนจะเกิดกระแสไฟฟ้าที่สามารถนำไปใช้งานได้ต่อไป ไอน้ำแรงดันสูงที่หมุนกังหันไอน้ำแล้ว จะมีแรงดันลดลง และถูกส่งผ่านมาที่เครื่องควบแน่นไอน้ำ เมื่อไอน้ำได้รับความเย็นจากวงจรน้ำเย็น จะกลั่นตัวเป็นน้ำและส่งกลับไปยังเครื่องผลิตไอน้ำด้วยปั๊มน้ำ เพื่อรับความร้อนจากระบบน้ำวงจรที่ 1 วนเวียนเช่นนี้ตลอดการเดินเครื่องปฏิกรณ์ |
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 25 พฤษภาคม 2567
เว็บไซต์ www.fcgs.gov.cn (广西防城港市人民政府)
เว็บไซต์ www.cgnpc.com.cn (中国广核集团有限公司)
เว็บไซต์ www.sasac.gov.cn (国务院国有资产监督管理委员会)