โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของกว่างซี
27 Feb 2018
ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นมณฑลเดียวทางภาคตะวันตกที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่างเริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างจริงจัง ดัชนีชี้วัดด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้รักษามาตรฐานชั้นนำระดับโลกมาโดยตลอด
บริษัท Fangchenggang Nuclear Power (广西防城港核电有限公司) หรือ FCGNP เปิดเผยว่า ปี 2560 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 11,780 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (kilowatt hour/kWh)ถือเป็นดัชนีชี้วัดการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 และ 2 ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง(เฟสแรก) ที่รักษามาตรฐานชั้นนำระดับโลก
The World Association of Nuclear Operators (WANO) ได้กำหนดดัชนีชี้วัดเพื่อประเมินคุณภาพและความปลอดภัยในการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยร้อยละ 67 ของดัชนีชี้วัดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง(เฟสแรก)อยู่ในระดับยอดเยี่ยมของโลก
นอกจากนี้ การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์(เฟสสอง)ที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Hualong No.1(华龙一号) ประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 3 และหมายเลข 4 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของจีนก็มีความคืบหน้าอย่างมากคาดว่าจะเริ่มเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (เฟสสอง) เชิงพาณิชย์ได้ในปี 2564
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (เฟสสอง) เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Bradwell B ในสหราชอาณาจักร โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (เฟสสอง) นี้เป็นสัญญาร่วมทุนระหว่างบริษัท CGN บริษัท Guangxi Investment และบริษัท RATCH China Power (บริษัทย่อยของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง) โดยถือหุ้นร้อยละ 51, 39 และ 10 ตามลำดับ
โดยบริษัท RATCH ใช้เงินลงทุนจากกระแสเงินสดของบริษัทตามสัดส่วนการร่วมทุนคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,330 ล้านหยวนหรือราว 7,500 ล้านบาท (เมื่อปี 2558 อัตราแลกเปลี่ยน 1 RMBประมาณ5.6331 บาท)
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2561 จะสามารถเริ่มการก่อสร้างหลังคาครอบอาคารปฏิกรณ์ของเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 3 และเข้าสู่ขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์ภายในตัวอาคารปฏิกรณ์อย่างเต็มรูปแบบ
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ระบบความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมืองฝางเฉิงก่างตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกที่มีความปลอดภัย โครงสร้างทางธรณีวิทยาไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขั้นรุนแรง โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกออกแบบให้ทนต่อแรงแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิขั้นรุนแรง
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ยังทำงานได้เป็นปกติในสถานการณ์แผ่นดินไหวระดับ 7 ริกเตอร์ และสามารถหยุดการทำงานของแท่งปฏิกรณ์ได้อย่างปลอดภัยในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวระดับ 8 ริกเตอร์ และสามารถป้องกันการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีออกสู่ภายนอกได้แม้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงระดับ 9 ริกเตอร์
การที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมืองฝางเฉิงก่างตั้งอยู่ในอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) ซึ่งเป็นทะเลชายขอบทวีป (marginal sea)ที่มีความลึกไม่เกิน 200 เมตร ดังนั้น การก่อตัวของคลื่นสึนามิที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือนมากกว่า 6.5 ริกเตอร์ในบริเวณน่านน้ำทะเลที่มีความลึกมากกว่า 1,000 เมตร จึงเกิดขึ้นได้ยากในอ่าวเป่ยปู้
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังมีแผนปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน มีการจัดตั้งศูนย์ตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อม (ทั้งดิน น้ำ อากาศ พืชผัก และสัตว์น้ำ) มีระบบตรวจวัดสภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า ปริมาณรังสีตลอดทั้งปีในบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีค่าต่ำกว่าการเอ็กเรย์และการโดยสารเครื่องบินระยะไกล 1 ครั้ง
ในบริบทที่ภาครัฐกำลังส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิล (ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ด้วยเหตุผลดังนี้
หนึ่ง ต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้มีราคาถูก ช่วยให้การใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมมีราคาไม่แพงมีขีดความสามารถทางการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม
สอง ราคาเชื้อเพลิงมีเสถียรภาพ ราคาแร่ยูเรเนียมซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ผันผวนเหมือนพลังงานฟอสซิลอย่างถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ
สาม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ อีกทั้งเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สมัยใหม่มีความทันสมัย สามารถควบคุมการจัดเก็บกากกัมมันตภาพรังสีได้อย่างปลอดภัย
สี่ ให้กระแสไฟฟ้าเพียงพอ หากเปรียบเทียบกับพลังงานทางเลือกประเภทอื่นๆ เช่น พลังงงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ จะเห็นได้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีปัจจัยการผลิตไฟฟ้าที่แน่นอน ไม่ต้องอาศัยสภาพดินฟ้าอากาศ
ลิงก์ข่าว
–โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (เฟสแรก) ของกว่างซีสร้างเสร็จสมบูรณ์(22 ก.ค. 2559)
–โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมืองฝางเฉิงก่าง เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว(14 ม.ค. 2559)
–RATCH ควัก 7.5 พันล้านบาท ร่วมทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในกว่างซี(29 ธ.ค. 2558)
– กว่างซีสานต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เฟส 2 สิ้นปี 2558(14 ธ.ค. 2558)
จัดทำโดย: นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
แหล่งที่มา:www.gx.chinanews.com (中新网广西) วันที่ 26 มกราคม 2561