อนาคตอุตสาหกรรม VR เซี่ยงไฮ้สดใส ครองส่วนแบ่งตลาด 1 ใน 4 ของจีน

27 Oct 2017

ถ้าอยู่ดี ๆ มีคนถามคุณว่า คุณรู้จักเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality VR1) มั้ย หลายคนอาจจะยังงง ๆ และนึกไม่ออกว่ามันคืออะไร แต่ถ้าถามว่าเคยเห็นคนที่ใส่แว่นตาใหญ่ ๆ คล้าย ๆ หมวกกันน็อกครอบอยู่บนศีรษะ แล้วทำท่าทางแปลก ๆ หรือไม่ คงมีคนพยักหน้าอย่างแน่นอน แต่ถ้ายังนึกไม่ออกอีก ให้ลองนึกถึงภาพยนตร์ Sci-Fi ชื่อดังอย่าง The Matrix ดูก็ได้ โดยตัวเอกในเรื่องได้เข้าไปต่อสู้อยู่ในโลกเสมือนจริงผ่านการนอนบนเตียงที่มีอุปกรณ์ต่อพ่วง คราวนี้คุณคงพอมีภาพราง ๆ ของเทคโนโลยีนี้อยู่ในหัวแล้ว เทคโนโลยี VR สามารถพาคุณเข้าไปสู่โลกอีกโลกหนึ่งในจินตนาการ เหมือนกับคุณเป็นส่วนหนึ่งของโลกนั้น เท่านั้นยังไม่พอคุณยังสามารถตอบสนองต่อโลกในจินตนาการของคุณได้เหมือนกับว่ามันเป็นความจริง เป็นอย่างไรบ้าง เทคโนโลยีนี้ฟังดูน่าสนใจขึ้นหรือยัง ถ้าเป็นเมื่อก่อนเรื่องราวเหล่านี้อาจดูห่างไกลจากความเป็นจริง แต่ตอนนี้ขอบอกเลยว่าเราเข้าใกล้ยุคสมัยของ VR มากกว่าที่ผ่านมาเข้าไปทุกทีแล้ว ปัจจุบันมีการนำเอาเทคโนโลยี VR มาประยุกต์ใช้งานในวงการธุรกิจ รวมทั้งมีอุปกรณ์ VR มากมายวางขายอยู่ในท้องตลาดให้ผู้ใช้งานที่ชื่นชอบความทันสมัยและความแปลกใหม่ได้ซื้อหาไปทดลองเล่นกัน และแน่นอนว่า เทคโนโลยีที่ว่านี้มีการนำมาใช้งานจริงแล้วในนครเซี่ยงไฮ้ เมืองที่มีความทันสมัยระดับโลกของจีน

การที่บริษัทชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์และเกมของโลกต่างพุ่งความสนใจไปที่เทคโนโลยี VR ได้ส่งผลให้อุตสาหกรรม VR ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลาดจีนเองก็ตามหลังมาติด ๆ โดยที่อุตสาหกรรม VR ของจีนเป็นรองแค่ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ตามสถิติอย่างไม่เป็นทางการ อุตสาหกรรม VR ของนครเซี่ยงไฮ้ครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 1 ใน 4 ของส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งหมดในจีน โดยอุตสาหกรรมดังกล่าว (รวมไปถึงเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม Augmented Reality – AR2 ) กำลังอยู่ในช่วงของการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันนครเซี่ยงไฮ้มีบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ VR โดยตรงเกือบ 200 บริษัท ซึ่ง 1 ใน 5 เป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 10 ล้านหยวนขึ้นไป จากการสนับสนุนด้านเงินทุนของตลาดทุนและการร่วมมือกันดำเนินธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ที่ครอบคลุมทุกกระบวนการในห่วงโซ่อุตสาหกรรม VR มีส่วนช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรม VR เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ รัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้เองก็ให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม VR เป็นอย่างมาก โดยได้มีนโยบาย นวัตกรรมขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อรวมและยกระดับเศรษฐกิจที่แท้จริง (Innovationdriven development to consolidate and enhance the level of the real economy) โดยเร่งบ่มเพาะและพัฒนา 4 เศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ เทคโนโลยีใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ กิจกรรมใหม่ รูปแบบใหม่ เสริมสร้างความเข้มแข็งในการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีอัจฉริยะ ให้ครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรมและทุกสาขา สนับสนุนเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality) ความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality) ไมโครเทคโนโลยี (Micro Electro-Mechanical SystemsMEMs) ดาวเทียมนำร่อง (Satellite Navigation) เป็นต้น ให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท HiScene (Liang Feng Tai) ในนครเซี่ยงไฮ้ที่เน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ด้าน AR เป็นหลัก และเป็นบริษัทแรกในประเทศจีนที่เปิดตัวแว่นตา AR HiAR Glasses ได้พัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายของเทคโนโลยีนี้  โดยสร้าง One Stop Solution ของบริการ AR ที่บูรณาการแพลตฟอร์มเทคโนโลยีพื้นฐาน (Basic Technology Platform) แพลตฟอร์มคลาวด์ (Cloud Platform) แว่นตา AR (AR Glasses) และแพลตฟอร์มเนื้อหา (Content Platform) เข้าด้วยกัน และได้นำเสนอ One Stop Solution ดังกล่าวให้แก่วงการอุตสาหกรรมรถยนต์ การศึกษา การอุตสาหกรรม  การท่องเที่ยว และการตลาด นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ มากกว่า 100 แห่งในจีน เช่น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน, Alipay, Meitu, OPPO, Autohome (汽车之家) และ Kohler ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก

นอกจากนี้ นครเซี่ยงไฮ้ยังได้นำเทคโนโลยี VR และ AR มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมสำคัญของเมือง เช่น ใช้ในแอปพลิเคชันจำลองการบินของเครื่องบินพาณิชย์ C919  ระบบสนับสนุนการสร้างภาพถ่ายทางการแพทย์ที่สมจริงของโรงพยาบาลจงซาน วิธีการผลิตอัจฉริยะของบริษัทรถยนต์ SAIC Motor ในขณะเดียวกัน นครเซี่ยงไฮ้ยังได้แสวงหาความต้องการใหม่ ๆ ของผู้บริโภค VR ประเภทต่าง ๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มสร้างเสริมประสบการณ์แบบ Online และ Offline เช่น การสร้างสวนสนุก VR หรือแพลตฟอร์มการออกอากาศแบบ 3D ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการใหม่ ๆ ในการบริโภคเทคโนโลยี VR และสร้างการเติบโตให้กับตลาดแอปพลิเคชันสำหรับผู้บริโภคได้อีกด้วย

การที่รัฐบาลมีนโยบายที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม VR  บวกกับการร่วมมือกันของภาคธุรกิจในห่วงโซ่อุตสาหกรรม รวมทั้งการสนับสนุนด้านเงินลงทุน ตลอดจนความสามารถในการนำเทคโนโลยี VR ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลักเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรม VR ของนครเซี่ยงไฮ้มีความเข้มแข็ง และมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จีนจะพัฒนาไปสู่การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี VR ของโลกต่อไปในอนาคต อีกทั้งอาจเป็นอุตสาหกรรมใหม่อีกสาขาที่ไทยสามารถมีความร่วมมือกับจีนได้ ซึ่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy Promotion Agency – DEPA) ก็เพิ่งจัดโครงการ VR Inventors เพื่อที่จะสนับสนุนผู้ที่สนใจเรียนรู้ด้านการทำ VR ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศไทยเข้าสู่ Thailand 4.0 ต่อไป

หมายเหตุ

1.  ความจริงเสมือน (Virtual Reality – VR) หมายถึง การที่มนุษย์สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้เกินกว่าความเป็นจริงปกติ โดยจะมีฮาร์ดแวร์ที่ป้อนข้อมูลตรงต่อประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น เป็นที่สวมศีรษะที่มีจอป้อนภาพ (Head-Mounted Display – HMD) ให้ตาทั้งสองข้างได้เห็นภาพเป็นสามมิติจากจอภาพขนาดเล็กที่ให้ภาพ (ต่อไปอาจลดขนาดลงเป็นแว่นตาก็ได้) เมื่อผู้ใช้เคลื่อนไหว ภาพก็จะถูกสร้างให้รับกับความเคลื่อนไหวนั้น บางกรณีก็จะมีหูฟังแบบสเตอริโอให้ได้ยินเสียงรอบทิศทาง และอาจมีถุงมือรับข้อมูล (data gloves) หรืออุปกรณ์อื่นที่จะทำให้ผู้ใช้โต้ตอบกับสิ่งแวดล้อมจำลองที่ตนเข้าไปอยู่ การสร้างขึ้นจะเลียนแบบมาจากความจริงแต่สามารถมองเห็นได้ในระบบสามมิติ ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของมนุษย์ให้รับรู้และเข้าใจได้ง่าย ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจ จึงมีการดัดแปลงไปใช้ในงานหลาย ๆ ด้าน เช่น การจำลองการขับเครื่องบิน การนำเสนอแบบบ้านหรือห้องคอนโดมิเนียมในโครงการเปิดตัวอสังหาริมทรัพย์ การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาแบบ 360 องศา ที่สามารถจำลองเหมือนเราเข้าไปนั่งติดขอบสนามได้จริง ๆ

2. ความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality – AR) เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างความเป็นจริง และโลกเสมือนที่สร้างขึ้นมา ผสานเข้าด้วยกันผ่านซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างข้อมูลอีกข้อมูลหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบบนโลกเสมือน (virtual world) เช่น ภาพกราฟิก วิดีโอ รูปทรงสามมิติ และข้อความตัวอักษร ให้ผนวกซ้อนทับกับภาพในโลกจริงที่ปรากฏบนกล้อง ตัวอย่างของการใช้งาน AR เช่น เกม Pokemon Go และแค็ตตาล็อกสินค้าของ IKEA ความแตกต่างของ VR และ AR คือ VR จะตัดขาดเราออกจากสถาพแวดล้อมปัจจุบันเพื่อเข้าไปสู่สภาพแวดล้อมที่จำลองขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่ AR จะพยายามรวบรวมหรือผสานระหว่างสภาพแวดล้อมจริง ณ ขณะนั้นเข้ากับวัตถุที่จำลองขึ้นมานั่นเอง

VR เซี่ยงไฮ้

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน