ส่านซี นำคลื่นความถี่ 700M Hz และ 2.6GHz ในสัญญาณ 5G มาใช้ในงานขุดถ่านหินได้เป็นครั้งแรกของจีน  

11 Nov 2021

เมื่อวันที่ 13-15 ตุลาคม 2564 รัฐบาลเมืองยวีหลินเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Yulin International Coal and High-end Energy Chemical Industry Expo: CYCE ครั้งที่ 16 (第十六届榆林国际煤炭暨高端能源化工产业博览会)  ตามแนวคิด “การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานอัจฉริยะและคาร์บอนต่ำมุ่งสู่อนาคต” (智慧能源聚榆林 低碳发展引未来)

ภายในงาน CYCE ครั้งที่ 16 มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะนิทรรศการการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในกิจการเหมืองแร่ อาทิ การจัดงานเปิดตัวการใช้คลื่นความถี่ 700M Hz และ 2.6GHz ในสัญญาณ 5G มาใช้ในงานขุดถ่านหินได้เป็นครั้งแรกของจีนของบริษัท China Coal Shaanxi Yulin Energy Chemical Co., Ltd. (中煤陕西榆林能源化工有限公司) ผ่านการเปิดตัวระบบ 5G Core (5GC) ที่จะนำมาใช้ในเหมืองถ่านหินเสินตง (神东煤炭)

จุดเด่นของการนำเอาคลื่นความถี่ 700MHz และ 2.6GHz ของเทคโนโลยี 5G มาปรับใช้ในกิจการเหมืองแร่คือ การที่ทั้งสองคลื่นเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีการสร้างที่ต่างกัน โดยคลื่นความถี่ 700MHz เกิดจากเทคโนโลยี FDD NR ส่วนคลื่นความถี่ 2.6GHz เกิดจากเทคโนโลยี TDD NR ดังนั้น เมื่อนำคลื่นความถี่ทั้ง 2 มาปรับใช้จะสามารถเสริมประสิทธิภาพของคลื่นการสื่อสารในเหมืองแร่ได้ โดยจะทำให้คลื่นการสื่อสารสามารถครอบคลุมระยะทางได้มากกว่า 1,600-1,800 เมตร มากกว่าการใช้คลื่นความถี่ทั่วไปกว่า 4-6 เท่า และยังสามารถส่งข้อมูลภาพและเสียงกลับมายังฐานควบคุมได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถค้นหาตำแหน่งการขุดเจาะแร่ใต้ดินได้อย่างแม่นยำ

การจัดงานมหกรรมฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการสะท้อนบทบาทและความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมพลังงานของมณฑลส่านซี ที่เป็นมณฑลสำคัญในการผลิตถ่านหินและก๊าซธรรมชาติของจีน โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตอนเหนือของมณฑลอย่างเมืองยวีหลิน ที่รู้จักในนาม “คูเวต” ของจีน เฉพาะเมืองยวีหลินมีปริมาณถ่านหินสำรองราว 28,000 ล้านตัน สำรวจพบแล้ว 14,900 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 86.2 ของทั้งส่านซีหรือร้อยละ 20 ของจีน ในงาน CYCE ครั้งที่ 16 มีการลงนามโครงการทั้งหมด 56 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 39,450 ล้านหยวน

นอกจากการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี 5G มาปรับใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่แล้ว มณฑลส่านซียังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจเหมืองแร่โดยไม่ใช้แรงงานคน โดยเฉพาะในเมืองยวีหลินที่มีเหมืองแร่กระจายอยู่กว่า 235 แห่ง (มากเป็นอันดับ 2 ในจีน) มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5,100 ล้านตัน/ปี (คิดเป็นร้อยละ 13 ของทั้งหมดในจีน) อุบัติภัยดินถล่มและอัตราการเสียชีวิตของแรงงานจึงมีสูงตามไปด้วย การมุ่งผลิตและวิจัยอุปกรณ์และเทคโนโลยีการสำรวจเหมืองแร่แบบไร้คน จึงเป็นการลดความสูญเสียได้เป็นอย่างดี

นอกจาก 2 วิสาหกิจข้างต้นแล้ว ในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัท China Mobile และบริษัท China Telecom ได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยี อาทิ บริษัท HUAWEI TECHNOLOGIES CO., LTD. และบริษัท Zhongxing Telecom Equipment (ZTE:中兴) ในด้านพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในการตัดถ่านหิน เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการส่งข้อมูลวิดีโอใต้ดิน การเชื่อมต่อเซ็นเซอร์ใต้ดิน และการควบคุมระยะไกลในเหมือง โดยได้ร่วมมือกับ 2 บริษัทถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ได้แก่ China Coal Shaanxi Yulin Energy Chemical Co., Ltd. (中煤陕西榆林能源化工有限公司) และ Shendong Coal Group (神东煤炭集团) ในการเปิดเครือข่าย 5G ใต้ดิน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการผสานรวมเทคโนโลยี 5G, AI, มาใช้ในอุตสาหกรรมถ่านหิน

แหล่งที่อ้างอิง

  1. https://www.sohu.com/a/495562913_482239
  2. https://new.qq.com/rain/a/20211015A0C7BS00
  3. 3. https://shaanxi.chinacoal.com/art/2021/9/3/art_1477_html
  4. https://baijiahao.baidu.com/s?id=1713659395730624908&wfr=spider&for=pc
  5. https://www.163.com/dy/article/GNCUA6BL051495SS.html

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน