ว่าด้วยฉลากผลิตภัณฑ์อาหารในจีน ความรู้เบื้องต้นที่ผู้ประกอบการไทยต้องรู้ (ตอนที่ 1)
6 Mar 2013“วิกฤตศรัทธานมผงจีน” เป็นความรู้สึกในปัจจุบันที่พ่อแม่แดนมังกรยังคงมีให้กับนมผงที่ผลิตในประเทศตัวเอง แม้ว่าเหตุการณ์เมลามีนปนเปื้อนในนมผงจีนที่เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก ได้ผ่านมาแล้วหลายปีแล้ว
วิกฤตดังกล่าว ไม่เพียงเกิดขึ้นกับนมผงเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารชนิดอื่นๆ ที่ผลิตในจีน ไม่ว่าจะเป็นอาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว ของทานเล่น และผลิตภัณฑ์ยา
นักลงทุนต่างชาติต่างจับจ้องวิกฤตครั้งนี้ตาเป็นมัน เพราะเห็นโอกาสในการแบ่งเค้กก้อนโตให้กับผลิตภัณฑ์อาหารของตนเองจากตลาดที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
ขณะเดียวกัน วิกฤตครั้งนี้ก็ทำให้รัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังมากยิ่งขึ้นกับเรื่อง “ความปลอดภัยทางอาหาร”
การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับฉลากอาหาร (Label) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อการนี้ โดยตั้งแต่ เม.ย. 2555 กระทรวงสาธารณสุขจีนได้บังคับใช้ “กฎทั่วไปว่าด้วยมาตรฐานการทำฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ GB7718-2011” (预包装食品标签通则)
กฎฉบับล่าสุด ซึ่งปรับปรุงจากกฎฉบับปี 2547 (GB7718-2004) บังคับใช้กับฉลากผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดที่แยกบรรจุเป็นหน่วย (ขวด ถุง กล่อง ฯลฯ) ที่จำหน่ายในจีน รวมถึง “สินค้าแบรนด์ต่างประเทศ” ที่ผลิตในจีนด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น กฎฉบับนี้ไม่ได้บังคับใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้า “โดยตรง” จากต่างประเทศที่ยังต้องการคงไว้ซึ่งแพกเกจที่เป็นเอกลักษณ์แบบที่ขายอยู่ในต่างประเทศ
หากเป็นสินค้าที่ยังต้องการใช้แพกเกจของตัวเองในการบุกตลาดจีน ก่อนวางขาย ก็จะต้อง “แปะสติ็กเกอร์ภาษาจีน” บนผลิตภัณฑ์ แต่การใช้ฉลากแบบนี้ มีขั้นตอนการยื่นขออนุญาตที่ค่อนข้างยุ่งยาก เอกสารเยอะ และการตรวจสอบที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน
นอกจากนี้ การตรวจสอบก็เป็นแบบล็อตต่อล็อต กล่าวคือ ถึงเป็นสินค้าเหมือนกัน แต่นำเข้าไม่พร้อมกัน ก็จะต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตและตรวจสินค้าใหม่อีก
ในบทความนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) จะพาท่านไปรู้จักกับกฎนี้ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับสอดแทรกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงกับผู้ประกอบการไทยรายหนึ่งที่ “พลาด” เรียนรู้กฎว่าด้วยฉลากอาหารของจีนก่อนบุกตลาดจีน
ขอย้ำว่า ระเบียบเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่อง “ประดับความรู้” แต่เป็นสิ่งต้องทำความเข้าใจและถือปฏิบัติ หากจะขายสินค้าในจีน มิเช่นนั้นแล้ว อาจต้องมากุมขมับปวดหัวในภายหลัง
กฎว่าด้วยฉลากฯ ฉบับใหม่นี้สำคัญไฉน?
กล่าวโดยสรุป กฎฉบับล่าสุดนี้ ระบุถึงข้อกำหนดต่างๆ ในการจัดทำฉลากผลิตภัณฑ์อาหารให้ได้ “มาตรฐาน” ตามที่ทางการจีนกำหนด เพื่อวางขายในตลาดจีน
กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ หากฉลากที่ทำออกมา แม้จะดูหรูเริ่ดอลังการงานสร้างเพียงใดก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในกฎฉบับนี้ ก็ถือว่า “ผิดกฎหมาย”

ขนาดตัวอักษรอังกฤษ และจีนเท่ากัน
ยกตัวอย่างเช่น ในกฎฉบับนี้ กำหนดไว้ว่า บนฉลากบรรจุภัณฑ์ ยี่ห้อของสินค้าจะต้องใช้ “ภาษาจีน” แต่หากจะมีภาษาต่างประเทศประกอบด้วย (เช่น เพื่อยกระดับให้ดูไฮโซเป็นของนอก) ก็สามารถทำได้ แต่ตัวหนังสือในภาษาต่างประเทศต้องอ่านแล้วมีเสียงที่คล้ายกับเสียงของตัวหนังสือภาษาจีน (เช่น “เข่อเล่อ” คือเสียงในภาษาจีนของ Coke หรือ “อ้าวลี่อ้าว” คือเสียงในภาษาจีนของคุ้กกี้โอรีโอ) นอกจากนี้ ขนาดตัวอักษรภาษาต่างประเทศห้ามใหญ่กว่าตัวอักษรจีน
ขณะเดียวกัน กฎฯ ก็กำหนดมาตรฐานอื่นๆ เช่น การคำนวณพื้นที่ฉลากต่อพื้นที่บรรจุภัณฑ์ แบบฟอร์มการแจกแจงส่วนประกอบหรือส่วนผสม คำสามัญหรือศัพท์ที่ใช้ในการเรียกวัตถุดิบชนิดหนึ่งๆ การเริ่มนับวันที่ผลิตสินค้า และข้อมูลที่ต้องระบุเกี่ยวกับผู้ผลิตสินค้า เป็นต้น
พูดง่ายๆ ก็คือ หากท่านจะออกแบบแพกเกจผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อขายในจีน นอกจากต้องทำให้มีสีสันและรูปลักษณ์ที่เตะตาต้องใจคนจีนแล้ว ยังต้องทำให้เป็นไปตามมาตรฐานต่างๆ ที่กำหนดไว้ในกฎฉบับนี้อย่างเคร่งครัด
เว้นเสียแต่จะนำสินค้าไปขายในจีนแบบคงไว้ซึ่งแพกเกจภาษาต่างประเทศแบบที่ขายอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งสามารถทำได้โดยแปะสติ๊กเกอร์ภาษาจีนทับ แต่ขั้นตอนการขออนุญาตยุ่งยากและใช้เวลานาน ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
กฎว่าด้วยฉลากฯ ฉบับนี้ มีอะไรใหม่?
ผู้ที่มีผลิตภัณฑ์อาหารวางขายในตลาดจีนอยู่แล้ว กฎฉบับใหม่นี้มีประเด็นสำคัญที่แตกต่างจากฉบับที่แล้ว ที่ต้องพิจารณาหลายประการ
กล่าวโดยสรุป กฎฉบับนี้
– แยก “ประเภท” ของผลิตภัณฑ์อาหารชัดเจนยิ่งขึ้น อาทิ (1) ผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงจำหน่ายในร้าน (เช่น ขนมปังที่ขายในร้านเบเกอรี่ ม็อคค่าปั่นที่ชงสดๆ ในร้านกาแฟ และอาหารที่ขายในร้านอาหาร เป็นต้น) (2) วัตถุดิบเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งจากโรงงานถึงโรงงาน รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ขายในปริมาณมากๆ เพื่อนำไปแบ่งขายหรือผลิตต่อ และ (3) ผลิตภัณฑ์อาหารที่แยกบรรจุเป็นหน่วย (ขวด ถุง กล่อง ฯลฯ) เพื่อขายให้ผู้บริโภคเป็นหน่วยสุดท้าย หรือ “end-user” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทที่ (3) นี่แหล่ะ ที่กฎฉบับนี้ ใช้บังคับ
– ให้คำจำกัดความของ "วันที่ผลิต" ว่าหมายถึง “วันที่ทำการบรรจุอาหารลงในบรรจุภัณฑ์หน่วยนั้น” เพื่อจำหน่ายยังผู้บริโภคหน่วยสุดท้าย
– กำหนดศัพท์มาตรฐานให้ใช้ในการเรียกวัตถุปรุงแต่งอาหาร เช่น น้ำมันที่สกัดจากพืช แป้งสตาร์ช วัตถุปรุงแต่งรส น้ำผลไม้และเนื้อผลไม้แห้ง วัตถุปรุงแต่งกลิ่นอื่นๆ
– กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับข้อมูลผู้ผลิตที่ต้องสำแดง โดยข้อมูลภาคบังคับที่จำเป็นต้องมี คือ ชื่อ ที่อยู่ วิธีการติดต่อบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีน และประเทศแหล่งกำเนิด (Country of Origin) ทั้งนี้ ในส่วนของวิธีการติดต่อผู้ผลิต จะระบุหรือไม่ก็ได้ (อาทิ ในกรณีที่เป็นสินค้านำเข้าจากไทยโดยตรง จะระบุถึงวิธีการติดต่อผู้ผลิตในไทยหรือไม่ก็ได้ไม่ว่ากัน)
– เพิ่มเติมมาตรฐานในส่วนของความสูงของตัวอักษร และสัญลักษณ์ รวมถึงตัวเลขบนบรรจุภัณฑ์ กล่าวคือ หากพื้นที่บรรจุภัณฑ์มีขนาดตั้งแต่ 35 ตร.ซม.ขึ้นไป ขนาดของสิ่งเหล่านี้ต้องไม่น้อยกว่า 1.8 มิลลิเมตร
– เพิ่มเติมข้อกำหนดให้สลากต้องมีข้อมูลอย่างชัดเจนหากผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของสิ่งที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น พืชตระกูลข้าวสาลี สัตว์มีเปลือกหรือกระดอง ปลา ไข่ ถั่วลิสง ถั่ว นม และถั่วเปลือกแข็ง โดยนอกจากต้องระบุว่ามีส่วนประกอบเหล่านี้แล้ว ยังต้องมีข้อความเตือนว่าวัตถุดิบเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้บริโภคบางคนได้ด้วย
นอกจากนี้ หากเป็นสินค้าที่มีส่วนผสมของสิ่งที่มาจากการตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically Modified Organism: GMOs) ก็จะต้องมีการแสดงสัญลักษณ์และระบุถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน
– ปรับปรุงมาตรฐานในการคำนวณพื้นที่บรรจุภัณฑ์ อาทิ การคำนวณพื้นที่ “ถุง” ต้องไม่นับรวมพื้นที่ขอบสำหรับซีล และการคำนวนพื้นที่ “ขวด/กระป๋อง” ต้องไม่นับรวมด้านบนและด้านล่าง ไหล่ขวดและคอขวด เป็นต้น (โดยรายละเอียดปรากฏในภาคผนวก A ของกฎฉบับนี้)
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความสับสนจากการตีความ กฎฉบับนี้จึงได้เพิ่มภาคผนวกอีก 2 ส่วน (ภาคผนวก B และ ภาคผนวก C) โดยภาคผนวก B แจกแจงรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการแสดงวัตถุปรุงแต่งอาหารในตารางส่วนผสม และภาคผนวก C เป็นตัวอย่างแนะนำการแสดงรายละเอียดสินค้าบนบรรรจุภัณฑ์ อาทิ น้ำหนักสุทธิ หรือปริมาณสุทธิ วันเดือนปี ระยะเวลาเก็บรักษา และเงื่อนไขการเก็บรักษา
ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ “ข้าวหอมไทย” ของ CP Group ที่จำหน่ายในจีน
ประสบการณ์จริง – พลาดแล้ว ปวดหัวจริง ไรจริง
เรื่องจริงที่จะเล่าต่อไปนี้ ซึ่ง BIC หนานหนิงได้รับทราบมาจากการร้องเรียน เป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดีว่า การศึกษากฎการค้าต่างๆ ของจีน รวมถึงฎว่าด้วยสลากสินค้าสำคัญมากน้อยเพียงใด
เรื่องมีอยู่ว่า หลังจากมาเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจที่นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (มณฑลกว่างซี) แล้ว ผู้ประกอบการค้าข้าวจากภาคอีสานของไทยรายหนึ่ง ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกับฝ่ายจีน
ภายใต้สัญญาดังกล่าว ผู้ประกอบการฝ่ายไทยมีหน้าที่ส่งส่งมอบข้าวสารถุง ถุงละ 2 กิโลกรัมให้ฝ่ายจีนไปทำตลาดและวางขายในจีนเอง ทั้งนี้ โดยไม่มีการส่งออกข้าวสารถุงใหญ่ๆ จากไทยไปให้ฝ่ายจีนแยกบรรจุใหม่
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การบรรจุข้าวสารไทยเพื่อให้ถึงผู้บริโภคหน่วยสุดท้ายชาวจีน ต้องดำเนินการในประเทศไทยเลย ซึ่งนั่นหมายความว่า ต้องออกแบบถุงข้าวแต่ละถุงให้เป็นไปตามกฎว่าด้วยฉลากฯ ของจีนตั้งแต่ขั้นตอนการบรรจุที่มีขึ้นในประเทศไทยเลย
เท่าที่ทราบ ผู้ประกอบการรายนี้มีความตั้งใจและตั้งความหวังไว้สูงมากกับการขายข้าวสารไทยให้จีนครั้งนี้ เพราะนอกจากเป็นการส่งข้าวสารออกมาจีนครั้งแรกแล้ว ยังเป็นการส่งออกข้าวไปต่างประเทศครั้งแรกของผู้ประกอบการรายนี้ด้วย ทั้งนี้ โดยมีการจ้างนักศึกษาจีนจบใหม่ (ซึ่งพูดไทยได้อย่างคล่องแคล่ว) เป็นผู้ประสานงานในเรื่องนี้ด้วย
จากการที่ผู้ประกอบการรายนี้ตั้งบริษัทอยู่ในภาคอีสานของไทย เส้นทางถนนที่เชื่อมไทยกับกว่างซี ได้แก่ ถนนสาย R9 (มุกดาหาร-กว่างซี) และ R12 (นครพนม-กว่างซี) จึงถูกเลือกเป็นเส้นทางขนส่งข้าวสารในล็อตแรก
การติดต่อประสานงานเพื่อส่งข้าว รวมถึงการเตรียมการต่างๆ เป็นไปด้วยดี โดยในส่วนของบรรจุภัณฑ์ข้าว 2 กิโลกรัมนั้น ผู้ประกอบการฝ่ายไทยได้ออกแบบและสั่งพิมพ์ถุงเป็นสีแดงที่สดใส และข้อมูลบนถุงก็มีทั้งภาษาไทยและภาษาจีนประกอบกัน
แต่แล้วเรื่องที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น เมื่อข้าวล็อตแรกถูกกักไว้นานหลายเดือนที่ "โหย่วอี้กวาน" ด่านสากลของจีนซึ่งเป็นปลายทางถนน R9/R12 (ประตูเข้าสู่จีน)
เจ้าหน้าที่หน่วยงานตรวจสอบและกักกันโรคประจำด่านโหยวอี้กวานของจีนแจ้งว่า ต้องกักข้าวล็อตดังกล่าวไว้เนื่องด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับคุณภาพของข้าวหรือโรคพืชเลย
กรณีที่เป็นชื่อหรือคำเรียกที่มีการประดิษฐ์คิดคำใหม่ ชื่อแปลก ชื่อทับเสียง(จากภาษาต่างประเทศ) ชื่อยี่ห้อ ชื่อสถานที่ หรือชื่อเครื่องหมายการค้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภคถึงตัวสินค้า การออกแบบบนบรรจุภัณฑ์จะต้องแสดงชื่อหรือคำเรียกที่บ่งชี้ถึงลักษณะของตัวสินค้านั้นๆ โดยใช้ขนาดตัวอักษรขนาดเท่าๆกัน
หนึ่งในสองสาเหตุ คือ ข้าวถูกบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีฉลาก “ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” เพราะชื่อยี่ห้อข้าวที่เป็นภาษาไทยวางอยู่เหนือชื่อยี่ห้อข้าวที่เป็นภาษาจีน (อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเอกสารการส่งออก)
ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ตามกฎว่าด้วยฉลากฯ ของจีนระบุว่า ฉลากบรรจุภัณฑ์จะต้องใช้ “ภาษาจีน” หากมีภาษาต่างประเทศ ขนาดตัวอักษรภาษาต่างประเทศต้องเล็กกว่าตัวอักษรจีน
ด้วยการมองข้ามเรื่องนี้ไป เรื่องปวดหัวจึงตามมา และมีเด้งที่สองด้วย เมื่อผู้ประกอบการรายนี้ สั่งพิมพ์ถุงแบบนี้ไปแล้วนับแสนใบ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ใช้บรรจุข้าวล็อตแรกนี้ และอีกส่วนหนึ่งเตรียมไว้ใช้ข้าวล็อตต่อไป
เหตุการณ์นี้ BIC ไม่อยู่ในสถานะที่จะตัดสินได้ว่า ใครผิด ใครถูก หรือเป็นการกลั่นแกล้งกันเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ แต่ที่รู้แน่ๆ คือ ผู้ประกอบการรายนี้ต้องเสียทั้งเงิน เวลา และอารมณ์ และเหนืออื่นใดโอกาสทางธุรกิจ
บทสรุป
วิกฤตศรัทธาผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำในประเทศจีน และกระแสการชอบลองสิ่งแปลกใหม่จากต่างประเทศซึ่งมาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางจีน เป็นประตูบานใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารของไทย
การศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎระเบียบของจีน เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม แม้บางเรื่องจะดูเป็นประเด็นหยุมหยิม
ฉบับหน้า BIC หนานหนิง จะนำท่านผู้อ่านไปพบกับกฎอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งมีความสืบเนื่องโดยตรงและมีความสำคัญไม่แพ้กันกับกฎฉบับนี้
“กฎทั่วไปว่าด้วยฉลากโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์”