มณฑลฝูเจี้ยนส่งเสริมการสร้างสรรค์เมืองอัจฉริยะนำร่องรูปแบบใหม่แห่งชาติจีน

28 Oct 2019

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2556 จีนได้ประกาศรายชื่อการเริ่มเขตทดลองเมืองอัจฉริยะนำร่องแห่งชาติระยะแรกรวม 90 เมืองทั่วจีน โดยมี 3 เมืองของมณฑลฝูเจี้ยนที่ได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตทดลองเมืองอัจฉริยะนำร่องระยะแรก ได้แก่ นครฝูโจว เมืองหนานผิง และเมืองผิงถาน ต่อมาในเดือน ต.ค. 2556 จีนได้ประกาศรายชื่อการเริ่มเขตทดลองเมืองอัจฉริยะนำร่องแห่งชาติระยะที่ 2 รวม 103 เมืองทั่วจีน โดยมณฑลฝูเจี้ยนมี 2 เมืองได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตทดลองฯ เพิ่มเติม ได้แก่ เมืองผู่เถียน และเขตการลงทุนนักธุรกิจไต้หวันเมืองเฉวียนโจว (Quanzhou Taiwanese Investment Zone) จากนั้น เมื่อเดือน เม.ย. 2558 จีนได้ประกาศรายชื่อการเริ่มเขตทดลองเมืองอัจฉริยะนำร่องแห่งชาติระยะที่ 3 รวม 97 เมืองทั่วจีน ครอบคลุม 3 เมืองของมณฑลฝูเจี้ยนเพิ่มเติม ได้แก่ เมืองฉางลื่อ เมืองเฉวียนโจว และเขตการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเมืองจางโจว จนถึงปัจจุบัน จีนได้จัดตั้งเขตทดลองเมืองอัจฉริยะนำร่องทั้งหมดกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ

  1. ผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะของมณฑลฝูเจี้ยน 3 ด้าน ได้แก่

1.1 ระบบออนไลน์รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government)

มณฑลฝูเจี้ยนประกาศการใช้ระบบออนไลน์รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government)  โดยแบ่งกลุ่มผู้รับบริการเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) การให้บริการจากภาครัฐสู่ประชาชน (Government to Citizen : G2C) โดยประชาชนชาวฝูเจี้ยนสามารถทําธุรกรรมภาครัฐผ่านเครือข่ายสารสนเทศของภาครัฐ ได้แก่ การชําระเงินภาษี การสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้บริการของภาครัฐ และการค้นหาข้อมูลภาครัฐทางออนไลน์ 2) การให้บริการจากภาครัฐสู่ภาคเอกชน (Government to Business : G2B) โดยภาครัฐมุ่งให้บริการที่รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้รวมถึงมีความถูกต้องของข้อมูล เช่น การจดทะเบียนการค้า การจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์และการชําระภาษี 3) การให้บริการจากภาครัฐสู่ภาครัฐ (Government to Government : G2G) โดยเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลภาครัฐ รวมทั้งสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ได้แก่ ระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ระบบบัญชีและการเงิน ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ 4) การให้บริการจากภาครัฐสู่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ (Government to Employee : G2E) ได้แก่ ระบบการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ และระบบสวัสดิการออนไลน์ เป็นต้น

ตัวอย่างการรับบริการภาครัฐผ่านระบบออนไลน์ของชาวฝูเจี้ยนซึ่งได้รับความนิยมและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ระบบ “บัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเริ่มใช้งานเมื่อเดือน ส.ค. 2561 โดยผู้รับบริการสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่น “พลเมืองดิจิทัล (数字公民)” สำหรับออกบัตรประจำตัวในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือในรูปแบบคิวอาร์โค้ดส่วนบุคคล เพื่อให้ประชาชนนำคิวอาร์โค้ดดังกล่าวไปใช้พิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลในการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ที่ธนาคาร บริษัท โรงแรม หรือห้องสมุด เป็นต้น นอกเหนือจากแอพพลิเคชั่น “พลเมืองดิจิทัล (数字公民)” ชาวฝูเจี้ยนยังสามารถใช้บริการในการออกเอกสารสำคัญในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ได้อีก เช่น ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส และการค้นหาข้อมูลสังคมสวัสดิการส่วนบุคคลและการออกใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

1.2 ระบบการขนส่งและการจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Transport System)

มณฑลฝูเจี้ยนเริ่มใช้ระบบการขนส่งและการจราจรอัจฉริยะแล้วในหลายเมือง โดยรัฐบาลใช้เทคโนโลยีการคำนวณเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้กับการจัดการจราจรและการขนส่งให้สอดคล้องกับเวลาจริง (Real Time) มากที่สุด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและสะดวกรวดเร็วในการเดินทางและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น ในเมืองเซี่ยเหมินได้จัดตั้ง 1)ป้ายรถโดยสารประจำทางอัจฉริยะ” เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีในการบอกตำแหน่งของยานพาหนะอัตโนมัติ (Automated Vehicle Locator – AVL) โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “รถเมล์บนมือถือ (掌上公交)” และค้นหาสายรถโดยสารสาธารณะ เพื่อตรวจสอบสถานะการเดินทางและตำแหน่งของรถโดยสารที่ตนเองต้องการโดยสาร 2) ระบบสัญญาณไฟจราจรแบบตั้งเวลาอัตโนมัติ” ตามสภาพปริมาณการจราจรในขณะนั้น โดยระบบจะรับข้อมูลสภาพการจราจรผ่านทางระบบตรวจสอบสภาพการจราจร (Detection System) และ 3) โปรแกรมอ่านป้ายทะเบียนรถยนต์ (License Plate Reading System) เป็นโปรแกรมที่สามารถอ่านภาพป้ายทะเบียนรถยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกด้านจราจรต่าง ๆ เช่น การควบคุมรถยนต์เข้าออกอาคารสถานที่ การรักษาความปลอดภัย การติดตามรถหาย และรถที่อยู่ในรายชื่อที่ต้องสงสัย การจัดการที่จอดรถอัตโนมัติ การจดเวลาเข้าออกเพื่อคำนวณค่าจอดและควบคุมการรั่วไหลจากการจัดเก็บเงินค่าจอด 4) การส่งเสริมการใช้ระบบ ETC (Electronic Toll Collection) ของผู้ขับขี่ในมณฑลฝูเจี้ยนให้ทั่วถึง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชำระค่าผ่านทางอัตโนมัติ สามารถช่วยผู้ใช้งานทางด่วนชำระค่าผ่านทางด้วยบัตร ETC โดยไม่ต้องจอดรอ โดยการทำงานของบัตร ETC คือ ตัวอุปกรณ์ซึ่งติดอยู่ที่รถยนต์ซึ่งจะส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับ จากนั้นระบบจะทำการตรวจสอบข้อมูลในบัตรและหักเงินค่าธรรมเนียม พร้อมกับเปิดที่กั้นรถโดยอัตโนมัติ ตลอดกระบวนการใช้เวลานี้ประมาณ 10 วินาที ซึ่งประหยัดทั้งเวลาและค่าเชื้อเพลิงของผู้ใช้งานจราจร 5) ระบบที่จอดรถอัจฉริยะ เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ขับรถยนต์ในการหาที่จอดรถ โดยระบบจะมีป้ายแสดงผลแจ้งสถานะความหนาแน่นของที่จอดรถและระบุที่ว่างเพื่อเพิ่มความคล่องตัวของการจราจรในอาคาร ลดเวลาและเชื้อเพลิงในการขับวนหาที่จอดรถ 6) รถโดยสารที่ให้บริการรับชำระค่าโดยสารด้วยระบบ QR Code โดยผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “e-การ์ด (e通卡)” และเปิด QR Code เพื่อชำระค่าโดยสารซึ่งเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทในเมือง

1.3 ชุมชนอัจฉริยะ (smart community)

นครฝูโจวส่งเสริมการใช้ระบบการรักษาความปลอดภัยและการชำระเงินผ่านระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ตามสถานที่ชุมชนต่าง ๆ เช่น การสแกนใบหน้าบริเวณทางเข้าของชุมชนที่พักอาศัย ศูนย์การค้า สถานีรถไฟ สถานที่ชมคอนเสิร์ต สนามกีฬา หรือสถานที่จัดงานชุมนุมต่าง ๆ โดยระบบถูกออกแบบให้สามารถตรวจจับใบหน้าจากด้านข้างหรือแม้แต่ใบหน้าที่กำลังเคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ระบบจดจำใบหน้ายังถูกนำมาใช้ในการชำระเงินที่ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำต่าง ๆ ในมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งระบบชำระเงินนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 5 วินาที รวมทั้งร้านสะดวกซื้อแบบไร้พนักงานของบริษัทซูหนิง คอมเมิร์ซ กรุ๊ป ซึ่งกำลังจะเปิดตัว “ร้านไร้พนักงาน” ในฝูเจี้ยน หัวใจสำคัญของร้านไร้พนักงานของซูหนิงคือ การผสมผสานเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (Radio-frequency Identification) และระบบการชำระเงินออนไลน์เข้าด้วยกัน ทำให้ลูกค้าสามารถเดินเข้ามาในร้านได้ทันทีเพียงแค่สแกนใบหน้าบริเวณทางเข้า ในระหว่างเลือกซื้อของ ระบบจะบันทึกสินค้าต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ เมื่อถึงขั้นตอนที่ลูกค้าต้องการชำระเงิน จะใช้เวลาเพียง 15 วินาทีเท่านั้น

นอกจากนี้ นครฝูโจวเริ่มมีการทดลองติดตั้ง “ตู้ขยะอัจฉริยะที่คัดแยกประเภทขยะผ่านระบบจดจำใบหน้า” ตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบไม่ให้ผู้คนทิ้งขยะปะปนกันลงในถังขยะ แม้ว่าระบบดังกล่าวจะยังไม่มีการระบุตัวผู้กระทำความผิดจากการไม่คัดแยกขยะเนื่องจากยังไม่มีผลในการกฎหมาย แต่จะตักเตือนให้ประชาชนทิ้งขยะโดยแยกประเภทก่อน และให้รางวัลสำหรับผู้คัดแยกขยะ เช่น การออกตั๋วรถโดยสารฟรี รวมถึงการได้รับถังขยะใบใหม่ขยะใบใหม่

  1. เป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของมณฑลฝูเจี้ยนในปี 2563
    • ด้านจราจร มณฑลฝูเจี้ยนเตรียมใช้ระบบ ETC เต็มรูปแบบ และตั้งเป้าหมายยกเลิกตู้เก็บค่าทางด่วนภายในสิ้นปีนี้ โดยรัฐบาลส่งเสริมให้ผู้ใช้รถยนต์ติดตั้งอุปกรณ์ ETC พร้อมให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น สามารถขอลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์เพื่อขอติดตั้งอุปกรณ์ฟรีและได้รับบริการจัดส่งอุปกรณ์ถึงบ้าน รวมทั้งเพิ่มส่วนลดค่าผ่านทางอีกร้อยละ 5 สำหรับผู้ที่ใช้ระบบดังกล่าว โดยรัฐบาลฝูเจี้ยนตั้งเป้าให้รถยนต์ที่จดทะเบียนมากกว่าร้อยละ 90 ติดตั้งอุปกรณ์ ETC ให้เสร็จภายในสิ้นปี 2562 และส่งเสริมให้รถยนต์ที่จดทะเบียนของมณฑลฝูเจี้ยนติดตั้งอุปกรณ์ ETC ให้ถึงร้อยละ 100 ภายในสิ้นปี 2563
    • ระบบรักษาความปลอดภัยของเมือง รัฐบาลมีเป้าหมายส่งเสริมการใช้ระบบจดจำใบหน้าที่สถานีรถไฟ และท่าอากาศยานของมณฑลฝูเจี้ยนในการถ่ายรูปใบหน้าของผู้โดยสาร เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับรูปภาพบนหน้าหนังสือเดินทางก่อนที่จะผ่านจุดตรวจความปลอดภัย และการใช้ระบบจดจำใบหน้าในงานของตำรวจในการติดตามผู้ต้องสงสัย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้วิธีถ่ายรูปใบหน้าของผู้ต้องสงสัยด้วยสมาร์ทโฟนซึ่งติดตั้งระบบดังกล่าวเพื่อค้นหาประวัติด้านอาชญากรรมบุคคล
    • การประกอบธุรกิจ ในปี 2563 รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนมีเป้าหมายในการดึงดูดวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูงให้เข้ามาลงทุนในมณฑลฝูเจี้ยนประมาณ 50 แห่ง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cloud Computing Smart Chip และปัญญาประดิษฐ์ (AI) 50 คน รวมทั้งอบรมบริษัทด้าน Hi-tech ยักษ์ใหญ่ 5 แห่ง และอบรมบุคลากรด้าน Hi-tech ประมาณ 10,000 คน โดยรัฐบาลมีเป้าหมายการลงทุนกว่า 200 ล้านหยวน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม Hi-tech รวมทั้งออกนโยบายสิทธิพิเศษให้กับวิสาหกิจ Hi-tech ได้แก่ การยกเว้นระยะเวลาการเสียภาษีรายได้นิติบุคคลตามความเหมาะสม การให้วิสาหกิจ Hi-tech เช่าพื้นที่ทำงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และการจัดตั้งกองทุนรางวัลเป็นเงินอุดหนุนให้กับวิสาหกิจ Hi-tech เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 รายได้ของ Xiamen Software Park ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจ Hi-tech ของจีนและต่างชาติ มีมูลค่าการผลิตสูงถึง 150,000 ล้านหยวน ขณะที่ GDP ของเมืองเซี่ยเหมินในปี 2561 ทั้งหมด 479,141 ล้านหยวน) และ Xiamen Software Park เป็นโครงการที่มีศักยภาพมากที่สุดติดอันดับ 7 ใน 43 โครงการฐานอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติจีน

 

********

      ข้อมูลอ้างอิง

http://fj.people.com.cn/n2/2018/1227/c181466-32457690.html

http://fj.people.com.cn/n2/2019/0508/c181466-32918386.html

http://m.xinhuanet.com/fj/2018-04/13/c_1122675837.htm

http://news.21csp.com.cn/special/SYZT/20190401/index.html

http://www.besticity.com/newsExpress/243086.html

https://www.xinpianchang.com/a10303561

http://www.chinajsb.cn/html/201907/29/4353.html

http://qiye.chinadaily.com.cn/2018-01/31/content_35620497.htm

http://tjj.xm.gov.cn/tjzl/tjsj/jdsj/sjyb/201901/t20190130_2214146.htm

Xiamenเซี่ยเหมินเมืองอัจฉริยะ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน