ปัญหาและอุปสรรคในการใช้เส้นทาง R3A ขนส่งผลไม้จากไทยเข้าสู่จีน
15 Jul 2013เส้นทางคดเคี้ยวรูปตัว S ของเส้นทาง R3A ในช่วงประเทศลาว
ข้อมูลพื้นฐาน
· เมือง/มณฑลที่ประเทศจีนอนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ มี 9 แห่ง ได้แก่ กวางตุ้ง เหลียวหนิง ซานตง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หนิงโป เซี่ยเหมิน หนานจิง และเทียนจิน
· ด่านทางบกที่อนุญาตนำเข้าผลไม้ไทย โดยความตกลงทวิภาคีไทย-จีน ภายใต้พิธีสารการนำเข้าและส่งออกผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยและจีน มี 2 แห่ง ได้แก่ ด่านบ่อหานของยูนนานบนเส้นทาง R3A และด่านโหยวอี้ของเขตฯ กว่างซีจ้วงบนเส้นทาง R9
· ในแต่ละปี จีนมีการนำเข้าผลไม้จากไทยกว่า 600,000 ตัน โดยร้อยละ 60-70 ของผลไม้ทั้งหมด จะขนส่งทางทะเลมายังท่าเรือกว่างโจวในมณฑลกวางตุ้ง เพื่อนำไปขายในตลาดเจียงหนาน ซึ่งเป็นแหล่งค้าส่งสินค้าผักและผลไม้ที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุด
· ปี 2555 จีนมีการนำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านบ่อหานของเขตฯ สิบสองปันนา 66,700 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.7 คิดเป็นมูลค่า 96.79 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 144.9 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของผลไม้ทั้งหมดที่จีนนำเข้าจากไทยในแต่ละปี
ด่านบ่อหานของจีนหน้าตาทันสมัย
อุปสรรคการขนส่งผลไม้บนเส้นทาง R3A
จากปริมาณ มูลค่า และอัตราการเติบโต ของการนำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านบ่อหานของเขตฯ สิบสองปันนา พบว่า เส้นทาง R3A ถือเป็นเส้นทางการขนส่งผลไม้จากไทยสู่จีนที่มีศักยภาพสูง กำลังได้รับความนิยมจากผู้ประกอบทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในจังหวัดภาคเหนือของไทย และผู้ประกอบการในจีนตอนใต้ แต่การขนส่งบนเส้นทาง R3A ก็ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคบางประการที่ขัดขวางไม่ให้เส้นทางการขนส่งนานาชาติเส้นนี้ถูกใช้อย่างเต็มขีดความสามารถ ได้แก่
1. การถ่ายสินค้าบริเวณด่านบ่อเต็นของลาว “พิธีสารฯ” เป็นข้อตกลงทวิภาคีระหว่างไทยกับจีน โดยไม่ได้รวมถึงลาวในฐานะประเทศทางผ่านของเส้นทาง R3A ลาวจึงไม่อนุญาตให้รถขนส่งสินค้าไทยหรือจีนผ่านลาวเข้าสู่อีกประเทศได้โดยตรง จำเป็นจะต้องถ่ายสินค้าจากรถของฝ่ายหนึ่งไปยังรถของอีกฝ่ายที่มารอรับอยู่บริเวณจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าด่านบ่อเต็นของลาว ซึ่งทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูงขึ้นเที่ยวละ 2,000 – 3,000 หยวน มีต้นทุนด้านเวลาเพิ่มขึ้น 2 – 3 ชั่วโมง ยิ่งกว่านั้น ยังมีผลกระทบโดยตรงต่อสินค้าประเภทผักและผลไม้ ซึ่งอาจเกิดความบอบช้ำเสียหายระหว่างการถ่ายสินค้าและจำเป็นจะต้องเก็บในตู้สินค้าปรับอากาศตลอดกระบวนการขนส่งจากต้นทางถึงปลายทาง
1) รถสินค้าไทย-จีนจอดถ่ายสินค้าที่ด่านบ่อเต็นของลาว 2) ถ่ายสินค้าด้วยแรงงานคน
ปัจจุบัน ประเทศไทย ลาว และจีน ได้มีความพยายามในการจัดทำบันทึกความเข้าใจ 3 ฝ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกการคมนาคมขนส่งข้ามพรมแดนบนเส้นทาง R3A ในระหว่างที่การให้สัตยาบัน “ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้าโขง (GMS Cross Border Trade Agreement: GMS CBTA)” ซึ่งเมื่อลงนามบันทึกความเข้าใจแล้ว สามารถเดินรถตรงข้ามพรมแดน จะช่วยแก้ปัญหาการขนถ่ายสินค้าบริเวณด่านบ่อเต็น ซึ่ง เชื่อว่า ปริมาณการค้าผลไม้ไทยบนเส้นทาง R3A ผ่านด่านบ่อหานเข้าสู่จีนจะเติบโตขึ้นอีกมาก
2. การกำหนดราคาพึงชำระอากรเพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ผลไม้ไทยได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรนำเข้าภายใต้ FTA อาเซียน-จีน แต่ยังต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ด่านชายแดนในอัตราร้อยละ 13 ของราคาพึงชำระอากร โดยพบว่าการประเมินราคาพึงชำระอากรดังกล่าว ณ จุดนำเข้า ยังไม่มีความโปร่งใส และไม่มีมาตรฐานทั่วจีน อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงราคาอ้างอิงบ่อยครั้งโดยขาดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ราคาประเมินลำไยสดต่อตู้เมื่อเดือน ต.ค. 2554 อยู่ที่ 31,000 หยวน ต่อมาในเดือน ธ.ค. 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 42,000 หยวน โดยที่ราคาขายของลำไยในท้องตลาดไม่ได้ปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และไม่สามารถคำนวณต้นทุนภาษีมูลค่าเพิ่มที่แน่นอนได้
คนจีนรุมซื้อผลไม้ไทย ภาพจากงานเทศกาลไทย ณ นครฉางซา
ในเรื่องนี้ ทางการจีนกล่าวว่า การกำหนดราคาพึงชำระอากรใช้ราคาซื้อขาย (Transaction Value) ที่จะต้องสำแดงตามความสัตย์จริง จึงไม่เกี่ยวกับราคาประเมิน ส่วนในกรณีฝากขาย ซึ่งใช้กันมากสำหรับการซื้อขายผลไม้ไทยมายังจีนนั้น ปรากฎว่า ผู้นำเข้าจีนมักจะมีหลักฐานที่ไม่ชัดเจนในเรื่องราคาซื้อขาย ณ ขณะที่มีการนำเข้า เพราะยังไม่มีการชำระจริง จึงต้องใช้กฎหมายเลขที่ 148 ข้อ 36 คือให้ผู้ชำระภาษีอากรจีนมาพบเจ้าหน้าที่จีน ณ ที่นำเข้า เพื่อการกำหนดราคาพึงชำระอากร
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2556 กสญ ณ นครกว่างโจว ร่วมกับกงสุลฝ่ายศุลกากร อทป. เกษตร/ปักกิ่ง และนายกสมาคมผู้ค่าและส่งออกผลไม้ไทย เข้าพบ Mr.Zhou Wenyi รองอธิบดี Department of Customs Collection, กระทรวงการศุลกากรจีน (General Administration of China Customs: GACC) และคณะ ที่กรุงปักกิ่ง เพื่อหารือเรื่องการกำหนดราคาพึงชำระอากรสำหรับผลไม้ไทยที่นำเข้าจีน เพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดนำเข้า ให้สะท้อนความเป็นจริงของราคาซื้อขายตามฤดูกาล ทั้งนี้ ก.เกษตรฯ ของไทย (โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ได้เก็บข้อมูลราคาซื้อขายผลไม้ไทย และจะมอบให้ Department of Customs Collection, GACC พิจารณาใช้ประโยชน์สำหรับการกำหนดราคาพึงชำระอากร ทั้งนี้ Mr.Zhou Wenyi เห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวคงจะมีส่วนช่วยในการกำหนดราคาพึงชำระอากร และจะเป็นข้อมูลราคาซื้อขายผลไม้ ณ ต้นทาง ซึ่งอาจจะช่วยให้การกำหนดราคาพึงชำระอาการได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด แต่เนื่องจากรูปแบบการค้าผลไม้ของไทย (ที่ตลาดเจียงหนานของนครกว่างโจว) เป็นแบบ “ฝากขาย” (หมายถึง เป็นข้อตกลงระหว่างกลุ่มเกษตรกรหรือเจ้าของสวนผลไม้กับผู้นำเข้าจีน เพื่อให้มีการขนส่งและนำเข้าไปจำหน่ายในจีนก่อน แล้วจังมีการชำระบัญชี ซื้อ-ขายกันในภายหลัง) ข้อมูลดังกล่าวคงจะไม่อาจทำให้ผลการกำหนดราคาพึงชำระอากรตรงกับความคิดของนักธุรกิจไทย
1) บนสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย มองไปยังฝั่งไทย
2) สภาพบริเวณตีนสะพานฯ ฝั่งลาว กำลังเร่งก่อสร้างให้เสร็จทันปลายปี 2556
3. ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าต้นทุนสูงจากการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อน ของผู้ประกอบการในจีน (รวมถึงผู้ประกอบการไทย) ซึ่งในความเป็นจริงเป็นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น ทอด ๆ ต่อไปถึงผู้บริโภค และผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถนำภาษีขายที่ได้รับจากการขายผลไม้ ไปหักจาก ภาษีซื้อที่จ่ายให้ผู้ขนส่งผลไม้ แล้วจึงนำส่วนต่างไปชำระให้แก่กระทรวงการภาษีจีน ซึ่งหมายความว่าไม่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อน เป็นเพียงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ
ศักยภาพของเส้นทาง R3A มีอยู่อย่างมากล้น ไม่เพียงในฐานะเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศักยภาพในเชิงการท่องเที่ยวอีกด้วย เมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการภายในปลายปี 2556 จะทำให้อุปสรรคเชิงกายภาพของเส้นทาง R3A ได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์แบบ
ปัจจุบัน ผู้โดยสารและสินค้าเล็กๆ น้อยๆ ยังคงใช้เรือเล็กขนส่งระหว่างเชียงของ-ห้วยทราย
แต่อย่างไรก็ตาม หากปัญหา 3 ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม ก็จะยังทำให้ประโยคที่หน่วยงานภาครัฐ/เอกชนจีนที่เกี่ยวข้องกับเส้นทาง R3A กล่าวอยู่เสมอๆ ว่า “เส้นทางเปิดตลอด แต่กลับไม่สะดวก” ก็จะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป
ผู้เขียน: นางสาวธิดารัตน์ วนพฤกษาศิลป์ นายโกสินทร์ บุณยวัฒโนภาส
ตรวจทาน: นายธนพ ปัญญาพัฒนากุล