นครหนานหนิงนำร่องเทคโนโลยี “เฝ้าระวังดินถล่ม” ที่แรกในจีน

6 Mar 2020

ไฮไลท์

  • ธรณีพิบัติภัยจากดินถล่มปิดทับเส้นทางเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายแก่ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ตลอดจนความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
  • “นครหนานหนิง” เริ่มใช้งาน “ระบบปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่มในพื้นที่ลาดชันด้วยระบบอัจฉริยะ” บริเวณถนนวงแหวนรอบนอก (G97) เป็นที่แรกในประเทศจีน เพื่อเป็นต้นแบบสาธิตการจัดการบำรุงรักษาทางหลวงด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการยกระดับประสิทธิภาพการจัดการบำรุงรักษาถนน
  • เทคโนโลยีแกน (core technology) ของระบบปฏิบัติการดังล่าวประกอบด้วย “อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง” (Internet of Things) หรือ IoT เชื่อมโยงผ่านเครือข่าย 5G ที่มีความเร็วสูง และ “ระบบดาวเทียมบอกพิกัดเป่ยโต้ว” (BeiDou Satellite System) ที่มีความแม่นยำสูง รวมถึงเชื่อมอุปกรณ์กล้องวงจรที่มีความคมชัดสูง ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเฝ้าระวังและลาดตระเวนผ่านระบบควบคุมทางไกลในห้องควบคุมโดยไม่ต้องออกไปลงพื้นที่จริง ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

 

“นครหนานหนิง” เริ่มใช้งาน “ระบบปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่มในพื้นที่ลาดชันด้วยระบบอัจฉริยะ” บริเวณถนนวงแหวนรอบนอก (G97) เป็นที่แรกในประเทศจีน เพื่อเป็นต้นแบบสาธิตการจัดการบำรุงรักษาทางหลวงด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยียกระดับประสิทธิภาพการจัดการบำรุงรักษาถนน

ดินถล่มปิดทับเส้นทางเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศจีน ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า เกือบ 10 ปีมานี้ ธรณีพิบัติภัยได้สร้างความเสียหายแก่ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนนในจีน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละหลายพันล้านหยวน การตัดสร้างถนนอย่างต่อเนื่องในจีน โดยเฉพาะถนนที่สร้างขึ้นในพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชันเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาดินโคลนถล่มสูง จึงต้องมีระบบการจัดการตรวจสอบและเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมา การตรวจสอบและเฝ้าระวังปัญหาดินถล่มนั้นใช้การลานตระเวนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีต้นทุนสูง แต่ประสิทธิผลต่ำ จึงเป็นที่มาของ “ระบบปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่มในพื้นที่ลาดชันด้วยระบบอัจฉริยะ ผลงานวิจัยชิ้นโบว์แดงชิ้นแรกจาก “ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมด้านการคมนาคมอัจฉริยะผ่านระบบ 5G[*] (5G智慧交通联合创新实验室)

ระบบปฏิบัติการดังกล่าวใช้เทคโนโลยีแกน (core technology) คือ “อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง” (Internet of Things) หรือ IoT เชื่อมโยงผ่านเครือข่าย 5G โดยอาศัยประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อย่อยของ 5G ที่สามารถรองรับอุปกรณ์ได้สูงถึง 1 ล้านชิ้นในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร และยังมีอัตราการรับส่งข้อมูลสูง (Bandwidth) ความหน่วงต่ำ ใช้พลังงานต่ำ ร่วมกับ “ระบบดาวเทียมบอกพิกัดเป่ยโต้ว” (BeiDou Satellite System) ที่มีความแม่นยำสูง

หลักการทำงานทั่วไป คือ อุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ลาดชันจะส่งข้อมูลทั้งหมดมายังระบบแม่ข่ายที่ศูนย์เฝ้าระวังผ่านเครือข่าย 5G เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะและเตือนภัย โดยเครือข่าย 5G ที่ใช้นั้นได้รับการพัฒนามาเฉพาะสำหรับการรับส่งข้อมูลระหว่างศูนย์เฝ้าระวังกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ โดยอุปกรณ์เซ็นเซอร์ประเภทต่างๆ มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดินที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน

นอกจากนี้ ยังผสมผสาน 5G กับเทคโนโลยีดาวเทียมเป่ยโต้ว ผ่านแพลตฟอร์ม “ดาวเทียมบอกพิกัดเป่ยโต้วแม่นยำสูง” ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิจัยอุตสาหกรรม China Mobile (เซี่ยงไฮ้) โดยดาวเทียมเป่ยโต้วมีความละเอียดแม่นยำในการระบุค่าพิกัดในระดับ 1 มิลลิเมตร หากพิกัดตำแหน่งในสถานที่นั้นเกิดความเคลื่อนไหวผิดปกติ ระบบดาวเทียมจะสามารถตรวจสอบค้นหาตำแหน่งนั้นได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตรวจสอบและดำเนินมาตรการต่อไปได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งระบบสนับสนุนการทำงาน (back office) จะได้รับผลการตรวจสอบเพื่อควบคุมอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยรถลาที่กำลังวิ่งสัญจรอยู่บริเวณใกล้สถานที่เกิดเหตุ เพื่อป้องกันความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

บนพื้นฐานเครือข่าย 5G ยังมีการเชื่อมอุปกรณ์กล้องวงจรที่มีความคมชัดสูง ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเฝ้าระวัง และลาดตระเวนผ่านระบบควบคุมทางไกลในห้องควบคุมโดยไม่ต้องออกไปลงพื้นที่จริง ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

เห็นได้ว่า ปัจจุบัน จีนมีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีเป็นอย่างมากและมีการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อลดการสิ้นเปลืองแรงงานและยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น โดย “ระบบปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่มในพื้นที่ลาดชันด้วยระบบอัจฉริยะ” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาระบบงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เป่ยโต้ว” เป็นดาวเทียมบอกพิกัดที่จีนพัฒนาขึ้นเองเพื่อลดการพึ่งพาระบบ GPS ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากการใช้ประโยชน์ทางการทหารแล้ว จีนยังมีแผนที่จะนำระบบดาวเทียมเป่ยโต้วเข้าแข่งขันในตลาดนำร่องดาวเทียมของพลเรือน

ที่ผ่านมา จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศได้พัฒนาระบบเสริมสมรรถนะดาวเทียมภาคพื้นดินของดาวเทียมนำร่องเป่ยโต้ว (BDS Ground-base Augmentation System) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเก็บประมวลและรับส่งข้อมูลผ่านดาวเทียม

ใน “นครหนานหนิง” เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ก็มีการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะดาวเทียมเป่ยโต้วจีน-อาเซียน” ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือดังกล่าวในการร่วมพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน

 

 

คำอธิบายเพิ่มเติม

[*]ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมด้านการคมนาคมอัจฉริยะผ่านระบบ 5G” ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาลกว่างซี โดยมีภาคธุรกิจเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาร่วมกัน ได้แก่ China Mobile สาขากว่างซี (中国移动广西公司) บริษัท Guangxi Transportation Research & Consulting CO.,LTD (广西交通科学研究院有限公司) บริษัท Guangxi Communications Investment Group Corp., Ltd. (广西交通投资集团有限公司) บริษัท SGMW (上汽通用五菱汽车股份有限公司) และ China Mobile (Shanghai) Industry Research Institute (中国移动(上海)产业研究院)

 

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์ พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนณนครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนณนครหนานหนิง
ที่มาเว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 7 มกราคม 2563
เว็บไซต์ www.bgigc.com (广西交科院公司) ประจำวันที่ 10มกราคม 2563
รูปประกอบ www.pixabay.com

Core TechnologyInternet of ThingsIoT เชื่อมโยงผ่านเครือข่าย 5Gระบบดาวเทียมบอกพิกัดเป่ยโต้วห้องปฏิบัติการนวัตกรรมด้านการคมนาคมอัจฉริยะผ่านระบบ 5Gอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน