ธุรกิจการแพทย์อัจฉริยะของจีนก้าวหน้าไปถึงไหน
26 Jul 2019ไฮไลท์
- หลายประเทศ/องค์กรเริ่มมีความตื่นตัวมากขึ้นหลังมีการยกแนวความคิดการแพทย์อัจฉริยะขึ้นมาพูดกันเมื่อ 10 ปีก่อน รวมถึงประเทศจีน โดยรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายยุทธศาสตร์ Healthy China 2030 ให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงและมีโอกาสได้รับบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ
- 10 ปีที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์อัจฉริยะ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการแพทย์กับเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ โดยมีบิ๊ก ดาต้า ระบบประมวลผลคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ การบริหารจัดการองค์ความรู้ และบล็อกเชน เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
- แนวโน้มการพัฒนาส่วนใหญ่จะเป็นการปฏิรูปกลไกการแพทย์และสาธารณสุข การบริการการแพทย์สาธารณะ โครงสร้างทางการแพทย์ การเชื่อมต่อการแพทย์กับระบบอินเทอร์เน็ต (Internet of Medical Things : IOMT) ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ระบบนัดหมายและรับคิวล่วงหน้า ระบบการแพทย์ทางไกล อุปกรณ์การแพทย์เคลื่อนที่ การจัดตั้งสถาบันทางการแพทย์ และเทคโนโลยีบิ๊ก ดาต้า
- อย่างไรก็ดี ระดับการพัฒนาของการแพทย์อัจฉริยะของจีนยังอยู่ในช่วงทดลองระยะแรกเท่านั้น โดยอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาการแพทย์อัจฉริยะในจีน คือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงค่อนข้างล้าหลัง รวมทั้งการแบ่งงานในกลุ่มธุรกิจยังคงคลุมเครือ แต่มีแนวโน้มว่าจีนจะสามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้
บุคลากรในแวดวงการแพทย์อัจฉริยะ (Smart Healthcare) ได้รวมตัวกันในงานฟอร์รัมความร่วมมือใหม่ด้านนวัตกรรมการแพทย์อัจฉริยะระหว่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฝางเฉิงก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ (พัฒนาการและปัญหาอุปสรรค) ของการแพทย์อัจฉริยะจีนในปัจจุบัน ตลอดจนแนวทางการพัฒนาในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลการแพทย์อัจฉริยะให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ Healthy China 2030 ที่ให้ประชาชนชาวจีนมีสุขภาพแข็งแรง
นางหลี่ หลานเจวียน (Li Lanjuan/李兰娟) ผู้ก่อตั้งสถาบันการแพทย์ชั้นนำ Shulan Health (树兰医疗) ระบุว่า ความพยายามตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของจีนทำให้เทคโนโลยีบิ๊ก ดาต้า อินเทอร์เน็ต และปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาครัฐก็ได้ออกนโยบายสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับการแพทย์อัจฉริยะ บุคลากร และผู้ประกอบการธุรกิจการแพทย์ในจีนให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง
นายเซว เสี่ยวหลิน (Xue Xiaolin/薛晓林) รองประธานคณะกรรมการสามัญและเลขานุการสมาคมโรงพยาบาลจีนแพทย์จีน (Chinese Hospital Association/中国医院协会) กล่าวว่า หลายประเทศ/องค์กรเริ่มมีความตื่นตัวมากขึ้นหลังมีการยกแนวความคิดการแพทย์อัจฉริยะขึ้นมาพูดเมื่อ 10 ปีก่อน แนวโน้มการพัฒนาส่วนใหญ่จะเป็นการปฏิรูปกลไกการแพทย์และสาธารณสุข การบริการการแพทย์สาธารณะ โครงสร้างการแพทย์ การเชื่อมต่อการแพทย์กับระบบอินเทอร์เน็ต (Internet of Medical Things : IOMT) ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ระบบนัดหมายและรับคิวล่วงหน้า ระบบการแพทย์ทางไกล อุปกรณ์การแพทย์เคลื่อนที่ การจัดตั้งสถาบันทางการแพทย์ และเทคโนโลยีบิ๊ก ดาต้า
การพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีบิ๊ก ดาต้า ระบบประมวลผลคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย ตลอดจนการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ต+แอปพลิเคชัน ต่างช่วยยกระดับการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ให้เกิดประสิทธิภาพ ช่วยให้มาตรฐานการรักษาและการบริการทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้น และเป็นแนวทางสำคัญในการช่วยผลักดันให้จีนบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตตร์ Healthy China 2030
การพลิกโฉมอุตสาหกรรมการแพทย์อัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีบิ๊ก ดาต้า ระบบประมวลผลคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ การบริหารจัดการองค์ความรู้ และบล็อกเชน เป็นตัวขับเคลื่อน กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของทุกคน การแพทย์รูปแบบใหม่ในอนาคตจะเป็นบริการทางการแพทย์และสุขภาพอัจฉริยะที่ตัวเราเป็นศูนย์กลางและตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มีคลังข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน
นายหวัง หัง (Wang Hang/王航) ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มการแพทย์ออนไลน์ (haodf.com) กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีแค่สมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียวก็สามารถรับบริการตรวจวินิจฉัยทางไกลจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่อยู่ในเมืองได้แล้ว
เมื่อพิจารณาในแง่นโยบายและบุคลากรที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาการแพทย์อัจฉริยะแล้ว พบว่า การพัฒนาการแพทย์อัจฉริยะของจีนยังอยู่ในช่วงทดลองระยะแรกเท่านั้น แม้ว่าองค์กรทางการแพทย์บางส่วนจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบการแพทย์อัจฉริยะแล้ว แต่การแพทย์อัจฉริยะของจีนยังไม่ได้ขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งหมด
ปัจจุบัน จีนทุ่มกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการบ่มเพาะบุคลากรอย่างมาก เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์อัจฉริยะ แต่รูปแบบการดำเนินธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานยังคงค่อนข้างล้าหลัง การแบ่งงานในกลุ่มธุรกิจยังคงคลุมเครือ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาการแพทย์อัจฉริยะในจีน ถ้าปัญหาข้างต้นได้รับการแก้ไข คงไม่นานที่การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์อัจฉริยะจีนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในอนาคต
จัดทำโดย นางสาววรินทร ผะอบเพ็ชร์ นิสิตฝึกงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://www.gx.chinanews.com/ ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2562
รูปประกอบ https://www.federaltimes.com