ท่อก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมาร์ เปิดใช้งาน เข้าจีนสถานีแรก 31 ก.ค.นี้

5 Aug 2013

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2556 ได้มีพิธีเปิดการส่งก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์สู่จีนที่มัณฑะเลย์ โดยมีนาย U Nyan Tun รองประธานาธิบดีเมียนมาร์ และนายหยาง โฮ่วหลาน (Yang Holan) ออท.จีนประจำเมียนมาร์ พร้อมตัวแทนบริษัทผู้ลงทุนก่อสร้างจาก 4 ประเทศ (จีน เมียนมาร์ เกาหลีใต้ และอินเดีย) 6 บริษัท (บริษัท China National Petroleum Corp บริษัท Myanmar Oil and Gas Enterprise บริษัท Daewoo International Corp บริษัท Korea Gas Corp บริษัท Oil India Ltd บริษัท Gail India) เข้าร่วมพิธี ถือเป็นความสำเร็จสำคัญสำหรับโครงการข้ามชาติท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมาร์ที่ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี

และในวันที่ 31 ก.ค. 2556 ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ได้เดินทางถึงสถานีรุ่ยลี่และสถานีหมางซื่อในเขตฯเต๋อหง มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนนำร่องในการเปิดประเทศ (Pilot Border Sites of Opening-up) ที่สำคัญของจีน และเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญตามนโยบาย “เมืองหัวสะพานหรือเฉียวโถวเป่า” ที่สำคัญของยูนนาน

ทั้งนี้ ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ เดินทางถึงสถานีรุ่ยลี่ ซึ่งเป็นสถานีแรกในจีน เมื่อเวลา 10.30 น. และถึงสถานีหมางซื่อ ซึ่งเป็นสถานีที่สอง ในเวลา 19.10 น. คาดว่าจะถึงคุนหมิงในตอนเย็นของวันที่ 1 ส.ค. 2556

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมาร์ เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมิ.ย. 2553 และสร้างเสร็จตามเป้าหมายในวันที่ 30 พ.ค. 2556 โดยเป็นท่อคู่ขนานกับท่อส่งน้ำมันดิบจีน-เมียนมาร์ จุดเริ่มต้นที่ท่าเรือเจียวเพียว ผ่านรัฐยะไข่ มาเกว มัณฑะเลย์ และNamKham ในเมียนมาร์ และผ่านเข้าจีนที่รุ่ยลี่ เขตเต๋อหง มณฑลยูนนาน ระยะทางในเมียนมาร์ 793 กม. กำลังขนส่งปีละ 12,000 ล้านลบ.ม.

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมาร์ เป็น 1 ใน 4 ท่อนำเข้าพลังงานที่สำคัญของจีน (อีก 3 เส้นทางได้แก่ ท่อส่งน้ำมันดิบจีน-คาซัคสถาน ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-เอเชียกลาง และท่อส่งน้ำมันดิบจีน-รัสเซีย) เป็นการบุกเบิกการนำเข้าพลังงานผ่านภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน สิ่งสำคัญคือ ช่วยให้จีนลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานผ่านช่องแคบมะละกา และเพิ่มช่องทางการนำเข้าพลังงานของจีน

นายวาง ตงจิ้น (Wang Dongjin) รองประธานบริหารบริษัท China National Petroleum Corp เปิดเผยว่า “หากท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเปิดดำเนินการ จีนนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางโดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา แต่ผ่านทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย เข้าเมียนมาร์ และส่งผ่านท่อในเขตภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ถือเป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงานและเพิ่มช่องทางขนส่งด้านพลังงานของจีน กำลังขนส่งของก๊าซธรรมชาติ 12,000 ล้านลบ.ม./ปี ส่วนน้ำมันดิบอยู่ที่ 22 ล้านตัน/ปี ปัจจุบัน ก่อสร้างไปแล้วร้อยละ 94 คาดเปิดใช้งานประมาณสิ้นปี 2556”

ปัจจุบัน น้ำมันดิบที่จีนนำเข้าผ่านช่องแคบมะละกามีประมาณ 200 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 80 ของปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดของจีน นายหลิน ป๋อเฉียง (Lin Boqiang) ผอ.ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน กล่าวว่า “นัยยะสำคัญของท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมาร์ คือ การกระจายความเสี่ยงจากการนำเข้าพลังงานผ่านช่องแคบมะละกาของจีน และที่สำคัญ เป็นการเพิ่มความร่วมมือระหว่างจีนและประเทศในภูมิภาค ถือเป็นแนวทางการพัฒนาร่วมกัน”

ไม่เพียงแต่จีนที่รอคอยการเปิดดำเนินการของท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเส้นนี้ ชาวเมียนมาร์ก็รอคอยเช่นกัน โดยเขตมาเกวเตรียมก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาด 3.5 ล้านตัน/ปี เพื่อใช้ภายในประเทศ นาย Kai Kai Nei (凯凯内) เลขาสมาพันธ์อุตสาหกรรมและพาณิชย์เมียนมาร์เปิดเผยว่า ในอนาคต 20 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจของเมียนมาร์จะเติบโตร้อยละ 7-8 ต่อปี น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะเป็นตัวหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยท่อส่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมาร์มีความหมายสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาร์

ท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมาร์ลงทุนโดย 4 ประเทศ คือ จีน เมียนมาร์ อินเดีย และเกาหลีใต้ โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนเป็นร้อยละ 50.9 , 7.4 , 12.5 และ 29.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ เมียนมาร์ยังได้รับผลประโยชน์จากภาษี ค่าเช่าที่ดิน ค่าผ่านแดน และกองทุนอบรมเทคโนโลยี จำนวนมากอีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมาร์



1. ท่อส่งน้ำมันดิบจีน-เมียนมาร์
มีจุดเริ่มต้นที่เมียนมาร์ เกาะ Maday (ในเขตท่าเรือเจียวเพียว)–มัณฑะเลย์–ด่านมูเซ (เมียนมาร์) เข้าสู่จีนที่เมืองรุ่ยลี่ของเขตปกครองตนเองเต๋อหง-เป่าซาน-ต้าหลี่-ฉู่สง-นครคุนหมิงในมณฑลยูนนาน ผ่านเมืองอานซุ่น-เมืองจุนอี้ในมณฑลกุ้ยโจว และสิ้นสุดที่มหานครฉงชิ่ง มีความยาวรวมทั้งหมด 2,402 ก.ม. อยู่ในพื้นที่ของเมียนมาร์ 771 ก.ม. และพื้นที่ของจีน 1,631 ก.ม. กำลังขนส่งปีละ 22 ล้านตัน

2. ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมาร์ เริ่มต้นที่เมียนมาร์จากเกาะ Ramree (ในเขตท่าเรือเจียวเพียว) และสร้างคู่ขนานกับท่อน้ำมันดิบจีน-เมียนมาร์ และไปแยกกันที่เมืองอานซุ่นในมณฑลกุ้ยโจว ผ่านนครกุ้ยหยาง และสิ้นสุดที่เมืองกุ้ยก่าง ในเขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วง มีความยาวรวม 2,520 ก.ม. อยู่ในพื้นที่ของเมียนมาร์ 793 ก.ม. และในจีน 1,727 ก.ม. กำลังขนส่งปีละ 12,000 ล้านลบ.ม.

แหล่งข่าว www.yn.xinhuanet.com วันที่ 29 ก.ค. 2556

แหล่งข่าว http://news.cnwest.com วันที่ 29 ก.ค. 2556

แหล่งข่าว www.yn.xinhuanet.com วันที่ 1 ส.ค. 2556

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน