ต้นแบบเทคโนโลยีนิวเคลียร์ต้องที่เมืองฝางเฉิงก่าง
5 Jan 2019ไฮไลท์
- ปัจจุบัน มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 60 แห่งทั่วโลก และกว่า 1/3 อยู่ในประเทศจีน โดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA คาดการณ์ว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์รายใหญ่ของโลกภายในปี ค.ศ. 2030
- จีนเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ด้วยเทคโนโลยีของตนเอง และ “ส่งออก” เทคโนโลยีดังกล่าวไปต่างประเทศ เทียบชั้นประเทศผู้นำการสร้างเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง(เฟสสอง)เป็นต้นแบบการส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของจีนไปยังสหราชอาณาจักร และปากีสถาน และเป็นโรงไฟฟ้าที่บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งของไทยถือหุ้นอยู่ 10% ซึ่งล่าสุด ทีมวิศวกรเพิ่งสร้างถังปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตัวแรกได้สำเร็จ
การใช้พลังงานมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่แหล่งพลังงานมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคต
ประเทศจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เริ่มสร้างจุดแข็งเรื่องเทคโนโลยีพลังงานสะอาดให้โลกเห็น แต่ที่เห็นจะไม่ธรรมดา คือ จีน “คิดใหญ่” ในการสร้างแหล่งพลังงานใหม่ที่ให้พลังงานสะอาดได้มากมายมหาศาล เพื่อรองรับความกระหายพลังงานจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรกว่า 1/6 ของโลก นั่นก็คือ “พลังงานนิวเคลียร์”
ปัจจุบัน จีนเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ด้วยเทคโนโลยีของตนเอง ซึ่งจีนเคลมว่า เป็นวิทยาการจีนที่มีความทันสมัยและมีความปลอดภัยมากที่สุดในโลก ทั้งยังพร้อม “ส่งออกเทคโนโลยี” ดังกล่าวไปต่างประเทศ เทียบชั้นประเทศผู้นำด้านการสร้างเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
โดย “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง” (เฟสสอง) เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Bradwell B ในสหราชอาณาจักรและปากีสถาน โรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ ‘HPR1000’ หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “หัวหลง อีฮ่าว” (华龙一号) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการกำเนิดไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์รุ่นที่ 3 ที่จีนคิดค้นขึ้น
ล่าสุด ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (เฟสสอง) ทีมวิศวกรได้สร้างหม้อปฏิกรณ์ที่ใช้บรรจุแท่นปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้เสร็จเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 และคาดว่า โรงไฟฟ้าเฟสสองจะเริ่มผลิตกระแสเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2564
โรงไฟฟ้าเฟสสอง มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 และ 4 ซึ่งเป็นสัญญาร่วมทุนระหว่างบริษัท CGN บริษัท Guangxi Investment และบริษัท RATCH China Power (บริษัทย่อยของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง) โดยถือหุ้นร้อยละ 51, 39 และ 10 ตามลำดับ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง(ในอ่าวตังเกี๋ย)เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เดินเครื่องอยู่และอยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด แต่ผู้อ่านไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกที่โครงสร้างทางธรณีวิทยาไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขั้นรุนแรง อีกทั้ง โรงไฟฟ้าได้ถูกออกแบบให้ทนต่อแรงแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิขั้นรุนแรง และค่ารังสีตลอดทั้งปีรอบบริเวณโรงไฟฟ้ามีปริมาณต่ำกว่าการเอ็กซเรย์และการโดยสารเครื่องบินระยะไกล 1 ครั้งเสียด้วยซ้ำ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ยังทำงานได้เป็นปกติในสถานการณ์แผ่นดินไหวระดับ 7 ริกเตอร์ และสามารถหยุดการทำงานของแท่งปฏิกรณ์ได้อย่างปลอดภัยในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวระดับ 8 ริกเตอร์ รวมทั้งป้องกันการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีออกสู่ภายนอกได้ แม้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงระดับ 9 ริกเตอร์
การที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมืองฝางเฉิงก่างตั้งอยู่ในอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) ซึ่งเป็นทะเลชายขอบทวีป ที่มีความลึกไม่เกิน 200 เมตร ทำให้การก่อตัวของคลื่นสึนามิที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือนมากกว่า 6.5 ริกเตอร์ในบริเวณน่านน้ำทะเลที่มีความลึกมากกว่า 1,000 เมตร เกิดขึ้นได้ยากในอ่าวเป่ยปู้
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังมีแผนปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด มีการจัดตั้งศูนย์ตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อม (ทั้งดิน น้ำ อากาศ พืชผัก และสัตว์น้ำ) และมีระบบตรวจวัดสภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
แหล่งที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561
รูปประกอบ https://cn.wsj.com/