ซีอานครองอันดับ 1 ภูมิภาคจีนตะวันตกจากการจัดอันดับ Top 500 AI Innovative Cities in the World
1 Dec 2020เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 วิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยชิงหวา ร่วมกับสถาบันความรู้และปัญญาประดิษฐ์ของสถาบันวิศวกรรมจีน (Tsinghua University – Knowledge Intelligence Research Center, Chinese Academy of Engineering) จัดอันดับ 500 เมืองแห่งนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำทั่วโลกประจำปี 2563 (2020 Top 500 AI Innovative Cities in the World) โดยคัดเลือกจาก 2,000 เมือง ครอบคลุม 55 ประเทศทั่วโลก โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
เกณฑ์การจัดอันดับใช้ข้อมูลจาก (1) จำนวนนักวิชาการระดับสูงด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของแต่ละเมือง (2) อิทธิพลของวิทยานิพนธ์/ผลงานวิจัยด้าน AI ในแต่ละพื้นที่ (3) ประเภทของอุตสาหกรรม AI และ (4) นวัตกรรม AI พื้นฐานและการนำมาประยุกต์ใช้
สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มีจำนวนเมืองนวัตกรรม AI มากที่สุด 128 เมือง รองลงมาได้แก่ เยอรมนี 48 เมือง สหราชอาณาจักร 37 เมือง โดยจีนอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก มีจำนวนเมืองนวัตกรรม AI มากถึง 32 เมือง ตามมาด้วยฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น ในส่วนของการจัดอันดับเมือง AI ของจีน นครซีอาน มณฑลส่านซี อยู่ในอันดับที่ 7 ของจีน และอันดับที่ 1 ของภูมิภาคจีนตะวันตก
ข้อมูลอ้างอิงจาก http://news.xiancity.cn/
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มณฑลส่านซีได้รับการสนับสนุนให้สามารถพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2563 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ประกาศอนุมัติให้นครซีอานเป็นพื้นที่ทดสอบการพัฒนานวัตกรรม AI แห่งชาติรุ่นใหม่ (National New Generation Artificial Intelligence Innovation and Development Experimental Area) ยกระดับความสำคัญของนครซีอานในการเป็นศูนย์กลางการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งชาติ
ในปี 2562 นครซีอานมีวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 บริษัท มูลค่าตามสัญญาโครงการลงทุนสูงถึง 136,400 ล้านหยวน โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 มูลค่าของอุตสาหกรรมไฮเทค เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 23.9 ปัจจุบัน นครซีอานมีวิสาหกิจที่ลงทุนในอุตสาหกรรม AI มากกว่า 100 แห่ง แบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการผลิตแผงวงจรไฟฟ้า (2) Big Data (3) อุตสาหกรรมเครื่องจักรและการผลิตชิ้นส่วนหลักของหุ่นยนต์ และ (4) อุตสาหกรรมระบบ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) โดยมี 4 พื้นที่หลักเป็นฐานรองรับการผลิตและการวิจัยเทคโนโลยี ได้แก่ (1) เขตเมืองใหม่ซีเสียน (2) เขตพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงนครซีอาน (3) ฐานอุตสาหกรรมการบิน และ (4) ฐานอุตสาหกรรมการอวกาศ นอกจากนี้ การนำซอฟแวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในอุตสาหกรรมภาคบริการของนครซีอานยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยร้อยละ 40 ต่อปี
รัฐบาลนครซีอานได้จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม AI แห่งชาติรุ่นใหม่และการพัฒนาพื้นที่ทดสอบฯ ระหว่าง ปี 2563-2565 (Action Plan for Xi’an to Build a New Generation of National Artificial Intelligence Innovation and Development Experimental Zone) ตั้งเป้านครซีอานเป็นเมืองชั้นนำด้านการพัฒนา AI แบบองค์รวม โดยต้องมีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า 10 โครงการ การจดสิทธิบัตร AI มากกว่า 200 รายการ จำนวนวิสาหกิจด้าน AI ที่ลงทุนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 300 ราย และสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านหยวน ภายในปี 2565
นอกจากเป้าหมายการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรม AI ในพื้นที่แล้ว นครซีอานยังให้ความสำคัญกับการดึงดูดบุคลากรและแรงงานทักษะสูงมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่นครซีอาน ล่าสุด เว็บไซต์จัดหางานชื่อดังของจีน Zhaopin.com ร่วมกับ Tsinghua Hengda Research Institute จัดทำรายงานผลสำรวจเมืองที่น่าสนใจสำหรับแรงงานทักษะสูง ประจำปี 2562 (The Most Attractive City for Talents in 2019) นครซีอานอยู่ในลำดับที่ 14 จาก 100 เมืองทั่วประเทศ หรืออันดับที่ 3 ของภูมิภาคจีนตะวันตก รองจากนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งเท่านั้น
มณฑลส่านซีพยายามยกระดับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่จีนต้องการเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลกภายในปี 2563 โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มักพบเห็นการพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการ รวมถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนสิทธิบัตรของมณฑลส่านซีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนมากยังคงเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐและรัฐบาลท้องถิ่น (ทั้งในเชิงนโยบาย การก่อสร้างนิคมฯ หรือการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจ) บทบาทของภาคเอกชนในพื้นที่ยังมีไม่มากนัก (ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากวิสาหกิจขนาดใหญ่ของต่างชาติที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านที่ดินและภาษีจากรัฐบาลท้องถิ่น) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัจจัยความเชื่อมั่นด้านการลงทุน รวมถึงนโยบายดึงดูดการลงทุนจากภาครัฐที่อาจยังไม่ครอบคลุมเท่ากับเมืองอื่น ๆ ของจีน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการสร้างสรรค์นวัตกรรมของมณฑลส่านซี จึงจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณบริการพื้นฐานให้มีความสมบูรณ์อย่างรอบด้านต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
- http://www.cnr.cn/sxpd/sx/20200504/t20200504_525077598.shtml
- http://www.sanqin.com/2020-11/29/content_8788673.html
- http://news.cnwest.com/sxxw/a/2020/11/30/19327103.html
- https://new.qq.com/rain/a/20201130A00MW600