ชิงต่าวเปิดตัวแบบจำลองข้อมูลขนาดใหญ่ทางทะเลความละเอียดสูงระดับโลก “หลางหยา”

8 Jan 2025

ภาพ: โมเดลข้อมูลขนาดใหญ่ด้านปัญญาประดิษฐ์ทางทะเลหลางหยา โดย สถาบันวิจัยทางทะเล

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2567 สถาบันวิจัยทางทะเลภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน ได้เปิดตัว แบบจำลองข้อมูลขนาดใหญ่ทางทะเลความละเอียดสูงระดับโลก “หลางหยา(琅琊)” 1.0 อย่างเป็นทางการที่เมืองชิงต่าว แบบจำลองนี้สามารถพยากรณ์สถานะของมหาสมุทรทั่วโลก เช่น อุณหภูมิ ความเค็ม กระแสน้ำ ล่วงหน้า 1 ถึง 7 วัน โดยมีความละเอียดเชิงพื้นที่อยู่ที่ 1/12° และความละเอียดเชิงเวลาอยู่ที่ 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วยยกระดับความแม่นยำและความน่าเชื่อถือในการพยากรณ์มหาสมุทรทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ

งานฟอรัมโมเดลข้อมูลขนาดใหญ่ด้านปัญญาประดิษฐ์ทางทะเล “หลางหยา” 2567 ได้จัดขึ้นที่ สวนอุตสาหกรรมกู่เจิ้นโข่ว (古镇口园区)ในเมืองชิงต่าว รัฐบาลเมืองชิงต่าวและผู้บริหารของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีนได้เข้าร่วมการประชุมและกล่าวสุนทรพจน์ และมีศาสตราจารย์จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน กัว ฮวาตง(郭华东)จาง เหรินเหอ(张人禾)เฉิน ต้าเข่อ(陈大可)ศาสตราจารย์จากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศจีน ซ่ง จวินเฉียง(宋君强)สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศออสเตรเลีย ไช่ เหวินจวี้(蔡文炬)รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยกว่า 100 คนจาก 30 สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย และบริษัทในประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “โมเดลข้อมูลขนาดใหญ่ด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางทะเล”

หวาง ฝาน(王凡)ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน อธิบายโมเดลหลางหยาว่า เป็นโมเดลข้อมูลขนาดใหญ่ด้านปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ที่พัฒนาขึ้นเพื่อการพยากรณ์สถานะตัวแปรทางทะเล ซึ่งหมายถึงตัวแปรที่ใช้ในการบ่งชี้และวัดสภาพต่าง ๆ ของทะเล เช่น อุณหภูมิ ความดัน ความหนาแน่น ความเค็ม ฯลฯ และหลางหยา 1.0 นี้ ได้บรรลุการพยากรณ์ระยะกลางและระยะสั้นของตัวแปรสถานะทางทะเลทั่วโลกอย่างมีความแม่นยำสูง โดยสามารถพยากรณ์สถานะทางทะเลของโลกล่วงหน้า 1 ถึง 7 วันในครั้งเดียว โดยมีความละเอียดเชิงพื้นที่ที่ 1/12° ซึ่งคือการแบ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ออกเป็นตารางที่มีความละเอียดสูงถึงระดับ 1/12 องศา ซึ่งเท่ากับประมาณ 5-10 กิโลเมตร และความละเอียดเชิงเวลา 24 ชั่วโมง โมเดลนี้ได้เพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์สถานะทางทะเลทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนชื่อ “หลางหยา” นั้น มาจากคำในพจนานุกรมสือไห่ (辞海) ซึ่งหมายถึงของมีค่าที่มีเนื้อสัมผัสละเอียดและใสเหมือนหยก และในประวัติศาสตร์แท่นหลางหยา (琅琊台) สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองชิงต่าวซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสถานที่จัดฟอรัมเคยเป็นแหล่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ คำนวณเวลาและการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ ด้วยหลักวิชาจีนโบราณ “ยี่สิบสี่ฤดูกาล (二十四节气)” การตั้งชื่อโมเดลทางทะเลนี้ว่า “หลางหยา” จึงหมายถึงความล้ำค่าของโมเดลนี้ และยังสอดคล้องกับภารกิจหลักในการพัฒนาและศึกษาทางทะเลในสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลสมัยใหม่

ทีมพัฒนาโมเดลหลางหยากล่าวว่า โมเดลนี้จะมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์การใช้งานจริง โดยในรุ่น 2.0 จะมีการเพิ่มฟังก์ชันการพยากรณ์ปรากฏการณ์ทางทะเลเพิ่มเติม เช่น พายุไต้ฝุ่น ฝน คลื่นทะเล น้ำแข็งทะเล ฯลฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการพยากรณ์ปรากฏการณ์ทะเลที่ซับซ้อน เช่น ภัยพิบัติทางทะเล การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การพัฒนาแหล่งทรัพยากรในทะเล รวมถึงการป้องกันและลดภัยพิบัติทางทะเล โดยจะช่วยสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว

ที่มา 科学网 https://news.sciencenet.cn/htmlnews/2024/12/536732.shtm?utm

ชิงต่าวAIทะเลฟอรัมโมเดล

BICQingdao_editor

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน