จี๋หลินผลิตไฟฟ้าจากลมเกินความต้องการ เสนอพัฒนาโครงการ “ส่งไฟฟ้าจากเหนือสู่ใต้”

7 Mar 2013

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 56 นายเหยียน เซ่าจวิ้น ผู้จัดการใหญ่ของบริษัทพลังงานไฟฟ้ามณฑลจี๋หลินกล่าวว่า การเติบโตอันรวดเร็วของอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ทำให้เครือข่ายพลังงานไฟฟ้าของมณฑลจี๋หลินประสบปัญหาอุปทานการผลิตล้นเกินความต้องการ และก่อให้เกิดปัญหาการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จึงควรก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่มีระยะทางยาว เพื่อเป็นช่องทางสำคัญในการส่งจ่ายไฟฟ้า แก้ปัญหาของมณฑลจี๋หลินและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน

หลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมณฑลจี๋หลินมีความได้เปรียบจากการเป็นแหล่งที่มีลมพัดแรง ทั้งนี้ มณฑลจี๋หลินเป็นหนึ่งใน 7 ฐานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่มีกำลังการผลิตระดับ 10 ล้านกิโลวัตต์รุ่นแรกของจีน ในปี 2555 อัตราส่วนของไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมและอัตราส่วนปริมาณการส่งจ่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมของมณฑลจี๋หลินติดอันดับ 2 ของจีน โดย ณ ปลายปี 2555 กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมของมณฑลจี๋หลินสูงถึง 3.3 ล้านกิโลวัตต์ แซงหน้าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ แผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 12 ว่าด้วยประเด็นพลังงานทดแทนแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ในปี 2563 กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมของมณฑลจี๋หลินจะอยู่ที่ 15 ล้านกิโลวัตต์

นายเหยียน เซ่าจวิ้นกล่าวว่า การที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูง แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าอยู่ในระดับต่ำและการส่งออกไฟฟ้าไปต่างมณฑลยังคงมีอุปสรรค ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมของมณฑลจี๋หลินไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ โดยจากปัญหาอุปทานมากกว่าอุปสงค์นี้ จี๋หลินจำเป็นต้องหาช่องทางจ่ายไฟฟ้าที่เหลือไปยังพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้ามาก นอกจากนี้ มณฑลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนอื่น ๆ อย่างมองโกเลียใน มณฑลเหลียวหนิงและมณฑลเฮยหลงเจียงต่างก็ประสบปัญหาอุปทานมากกว่าอุปสงค์เช่นกัน โดยระบบสายส่งไฟฟ้าข้ามพื้นที่ของมณฑลเหล่านี้ต่างอยู่ในสภาวะอิ่มตัว

ทั้งนี้ สายส่งไฟฟ้าแรงสูงมีจุดเด่นในการกระจายไฟฟ้าหลายข้อ เช่น สามารถส่งไฟฟ้าได้มาก ส่งได้ไกล มีความสูญเสียน้อยระหว่างการจ่ายไฟ มีต้นทุนการดำเนินการไม่สูงเกินไป เป็นต้น จึงเหมาะเป็นสายส่งไฟฟ้าระยะทางยาวที่ช่วยแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้าที่เหลือใช้ของมณฑลจี๋หลิน ทั้งนี้ นายเหยียน เซ่าจวิ้น ได้ให้ข้อเสนอว่า รัฐบาลควรเพิ่มการสนับสนุนการพัฒนาโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง รวมทั้งออกนโยบายให้สิทธิพิเศษการใช้ที่ดินที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานลมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนพัฒนาได้อย่างราบรื่น

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน