จีนอนุมัติโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์ระยะที่ 2 เมืองจางโจว มณฑลฝูเจี้ยน
2 Nov 2022รัฐบาลจีนอนุมัติโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่ง ได้แก่ โครงการพลังงานนิวเคลียร์ระยะที่ 2 ของ เมืองจางโจว มณฑลฝูเจี้ยน และโครงการพลังงานนิวเคลียร์ระยะที่ 1 เมืองเหลียนเจียง มณฑลกวางตุ้งเพื่อยกระดับความมั่นคงด้านพลังงานของจีน
โครงการพลังงานนิวเคลียร์ระยะที่ 2 ของเมืองจางโจว ดำเนินการโดยบริษัท China National Nuclear Corporation (CNNC) รัฐวิสาหกิจพลังงานนิวเคลียร์รายใหญ่ของจีน และมีแผนการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 2 แห่งที่ตำบลยูนเซียว เมืองจางโจว ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 4 หมื่นล้านหยวน โดยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งใหม่นี้ จะมีการนำเทคโนโลยี “หัวหลง-1” (Hualong-1) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์รุ่นที่ 3 ที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างบริษัท CNNC กับบริษัท China General Nuclear Power Corporation (CGN) และคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2567 ทั้งนี้ บริษัท CNNC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2498 ที่กรุงปักกิ่ง มีพนักงานกว่า 100,000 คน ประกอบธุรกิจด้านอุตสาหกรรมนิวเคลียร์แบบครบวงจร ตั้งแต่การทำเหมืองยูเรเนียมจนถึงการผลิตแท่งเชื้อเพลิง รวมทั้งมีการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไปยังต่างประเทศทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป
ปัจจุบัน จีนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์มากเป็นอันดับ 2 ของโลก และมุ่งพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2565 จีนได้อนุมัติโครงการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รวม 10 แห่ง นับเป็นการอนุมัติการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวนมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ มณฑล/เมืองชายฝั่งหลายแห่งของจีนได้เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ เช่น มณฑลกวางตุ้ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลไห่หนาน มณฑลเจียงซู มณฑลซานตง และเมืองเหลียวหนิง ได้บรรจุอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ของท้องถิ่น ทั้งนี้ จีนมีการตั้งเป้าหมายการเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นร้อยละ 10 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศภายในปี 2578 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของจีนสร้างรายได้ 3.46 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้น 14.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ขณะที่มณฑลฝูเจี้ยนให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยที่ผ่านมาฝูเจี้ยนเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ โดยมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในมณฑลจำนวน 10 แห่ง (เมืองหนิงเต๋อ 4 แห่ง เมืองฝูชิง 6 แห่ง) ทำให้มณฑลฝูเจี้ยนกลายเป็นมณฑลที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำนวนมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และต่อไป มณฑลฝูเจี้ยนมีแผนจะขยายการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ที่นครฝูโจว เมืองหนิงเต๋อ และเมืองจางโจว ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 4 แสนล้านหยวน ทั้งนี้ ความก้าวหน้าด้านการพัฒนาพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์ของจีน นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญที่ไทยสามารถเรียนรู้เพื่อประเมินข้อดีและข้อเสียสำหรับประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของไทยในอนาคต
แหล่งอ้างอิง https://mp.weixin.qq.com/s/nH0kuWspYS9F80ySz5LJ1A