กานซูเปิดตัวเครื่องรักษามะเร็งด้วยเทคโนโลยี Heavy Ion Therapy Made in China แห่งแรกในจีน
24 Oct 2019ศูนย์การรักษามะเร็งครบวงจรมณฑลกานซู เปิดตัวเครื่องรักษามะเร็งด้วยเทคโนโลยี Heavy Ion Therapy ที่ผลิตในประเทศ สำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยการฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี Heavy Ion Therapy โดยใช้อนุภาคคาร์บอนเป็นที่แรกในจีน โดยได้รับการรับรองจาก สนง. ควบคุมมาตรฐานอุปกรณ์ทางการแพทย์แห่งชาติ (National Medical Products Administration) พร้อมได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทที่สาม1 สำหรับจำหน่ายทั่วประเทศ
ปัจจุบัน เครื่อง Carbon-ion Therapy เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งหรือเนื้องอก โดยใช้รังสีในการรักษาซึ่งมีการใช้อนุภาคหนักที่มีประจุต่างกันไปในการรักษาและลักษณะของเนื้องอก โดยมากมักนำมาใช้ในผู้ป่วยที่ดื้อรังสีอื่นๆ การรักษาโดยใช้รังสีแบบอนุภาคหนักมีข้อดีคือ ผู้ป่วยจะไม่เจ็บ ฟื้นตัวได้เร็ว การรักษามุ่งเป้าได้ค่อนข้างแม่นยำสามารถเข้าถึงแกนมะเร็งได้ และปริมาณรังสีที่อวัยวะปกติข้างเคียงได้รับน้อย มีระยะการรักษาโดยเฉลี่ย 4-20 ครั้ง ขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็งและการวินิจฉัยของแพทย์
ในพิธีเปิดตัว มีนาย Zhang Yaping รองผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences : CAS) กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ โดยสามารถตอบสนองปริมาณความต้องการภายในประเทศได้เป็นอย่างดี ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการพัฒนาและประดิษฐ์เครื่องฉายรังสีด้วยเทคโนโลยีอนุภาคคาร์บอนที่ CAS จะเร่งต่อยอดและพัฒนาให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
การพัฒนาระบบการฉายด้วยรังสีจากอนุภาคคาร์บอนในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง CAS และศูนย์การรักษามะเร็งครบวงจรมณฑลกานซู ณ เมืองอู่เวย โดย CAS เริ่มศึกษาวิจัยการฉายด้วยรังสีจากอนุภาคเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2536 ปัจจุบัน CAS ยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรอุปกรณ์รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องบางส่วน อาทิ การตรวจจับไออน และระบบเร่งความเร็ว รวม 60 สิทธิบัตร ทั้งนี้ เทคโนโลยีการรักษาด้วยอนุภาคหนักเริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงคริสตศักราช 1970 โดยประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน ทั่วโลกมีเครื่องฉายรังสีด้วยอนุภาคหนักทั้งสิ้น 11 เครื่อง ทำการรักษาผู้ป่วยไปแล้วรวม กว่า 30,000 คน
เมื่อปี 2561 รัฐบาลมณฑลกานซู ตั้งเป้าจะเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์การรักษาโรคขนาดใหญ่ (最大型医疗器械国产化) โดยเฉพาะการผลิตอุปกรณ์เครื่องฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี “Heavy Ion Therapy” ณ เมืองอู่เวย (武威“重离子”治疗装置) สร้างรายได้แก่มณฑลไปแล้วกว่า 60,122 ล้านหยวน โดยศูนย์การรักษามะเร็งครบวงจรมณฑลกานซูนี้ยังมีโครงการพัฒนาควบคู่ไปกับการเปิดให้ผู้ป่วยสมัครใจเข้ารับการทดลองเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค. 2561 อีกด้วย มีผู้ป่วยมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก เนื้องอกกระดูกและมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนเข้ารับการทดลองกว่า 47 ราย ซึ่งสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาและส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์มะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Center) ที่ระบุว่า ประเทศจีนมีสัดส่วนผู้ป่วยมะเร็งมากถึงร้อยละ 25 ของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก ในทุกๆ วันจะมีชาวจีนที่ถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งราว 10,000 คน และจะมีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตราว 2 ล้านคน / ปี โดยมะเร็งปอด เต้านม และกระเพาะ เป็นมะเร็ง 3 ชนิดที่คร่าชีวิตชาวจีนมากที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติม
- จีนกำหนดประเภทการขึ้นทะเบียนอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ (Registration Certificate for Medical Device) เพื่อจำหน่ายในท้องตลาด ดังนี้
– อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้ง 3 กลุ่ม ต้องยื่นจดทะเบียน ณ กรมตรวจสอบมาตรฐานอาหารและยาแห่งชาติ (China Food and Drug Administration : CFDA) เท่านั้น
– อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศ กลุ่มที่ 1 และ 2 สามารถยื่นจดทะเบียนได้ที่สำนักงานตรวจสอบมาตรฐานอาหารและยาระดับมณฑลหรือนครได้ โดยกลุ่มที่ 3 ต้องยื่นจดทะเบียน ณ กรมตรวจสอบมาตรฐานอาหารและยาแห่งชาติ (China Food and Drug Administration : CFDA) เท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง
- http://gansu.gscn.com.cn/system/2019/10/11/012239119.shtml
- http://gansu.gansudaily.com.cn/system/2019/09/30/017271435.shtml
- http://wemedia.ifeng.com/83979702/wemedia.shtml