Cross-border E-Commerce เติบโต โอกาสผู้ประกอบการไทย

23 Feb 2018
Cross-border E-Commerce เติบโต โอกาสผู้ประกอบการไทย

     เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 นายยู กว่างโจว (Yu Guangzhou) อธิบดีกรมศุลกากรจีน เผยว่า ธุรกิจอีคอมเมิรซ์แบบข้ามพรมแดน หรือ Cross-border E-Commerce (CBEC) ของจีนอยู่ในช่วงขาขึ้น ในปี 2560 CBEC ที่ผ่านพิธีการศุลกากรมีมูลค่าสูงถึง 9 หมื่นล้านหยวน เติบโตร้อยละ 80.6 เมื่อเทียบกับปี 2559 (มูลค่านำเข้า 5.66 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 116.4 ในขณะที่มูลค่าส่งออก 3.37 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.3) มีจำนวนสินค้าผ่านพิธีการ 660 ล้านรายการมากกว่าสินค้านำเข้าส่งออกแบบดั้งเดิมถึง 8.4 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลวันคนโสด (11 พ.ย.) มีสินค้าผ่านพิธีการมากถึง 16.2 ล้านรายการ หรือเฉลี่ย 187 รายการต่อวินาที

     ปี 2560 มูลค่า CBEC ของจีนรวมทั้งหมด 7.6 ล้านล้านหยวน ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 20.6 และ iiMedia Research คาดการณ์ว่าปี 2561 ธุรกิจ CBEC ของจีนอาจจะขยายตัวไปถึง 9 ล้านล้านหยวน


ข้อมูลจาก iiMedia Research

    จากการสำรวจความต้องการผู้บริโภค CBEC ของ iiMedia Research พบว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มชอบสินค้าที่ ตอบโจทย์เฉพาะตน (personalization) มีคุณภาพสูง (high quality) และมีความหลากหลาย (diversified) รวมไปถึงคุณภาพของการบริการ โดยแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรก คือ T-mall Global, Kaola และ JD Worldwide ตามลำดับ

     รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน CBEC อย่างต่อเนื่องเพื่อหวังใช้เป็นแรงขับเคลื่อนตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปี 2560 มูลค่า CBEC คิดเป็นร้อยละ 27.35 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีน (27.79 ล้านล้านหยวน) ปัจจุบันจีนมีเขตทดลองการค้าสำหรับ CBEC ทั้งหมด 13 เขต ได้แก่ เมืองหางโจว นครเซี่ยงไฮ้ นครเทียนจิน นครฉงชิ่ง นครเหอเฝย นครเจิ้งโจว นครกว่างโจว นครเฉิงตู เมืองต้าเหลียน เมืองหนิงโป เมืองชิงต่าว เมืองเซินเจิ้น และเมืองซูโจว โดยจีนมีการพัฒนาระบบต่าง ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้การดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงด้านพิธีการศุลกากร และโลจิสติกส์


ศุลกากร Huangpu ตรวจสอบสินค้าเข้า CBEC แบบ ‘cross-department one-stop inspection’
ที่สามารถลดระยะเวลาด้านการตรวจสอบ และส่งสินค้าไปยังลูกค้าได้เร็วขึ้น (ภาพจาก GACC)

    ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบสินค้าเข้า CBEC แบบ ‘cross-department one-stop inspection’ ที่ด่านศุลกากร Huangpu ที่ปรับขั้นตอนพิธีการให้ 2 หน่วยงานสามารถเข้าตรวจสอบสินค้าตามความรับผิดชอบของตนได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้ระยะเวลาด้านการตรวจสอบลดลงและสามารถส่งสินค้าไปยังลูกค้าได้เร็วขึ้น

     จีนได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CBEC โลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเกือบ 2,000 คน จากหลายประเทศและภูมิภาคทั่วโลก เช่น จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น ตุรกี สวีเดน สโลวาเกีย ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป เป็นต้น ที่ประชุมสนับสนุนให้ทุกฝ่ายผสานพลังขับเคลื่อนธุรกิจ รวมไปถึง การแบ่งปันแพลตฟอร์ม การแบ่งปันข้อมูล เพื่อขยายขอบเขต single window ให้ครอบคลุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และค้นหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้ข้อมูลมีความโปร่งใสและปลอดภัยมากขึ้น

     โดยที่ประชุมได้ยกตัวอย่างโครงการ single window นำร่อง เช่น แพลตฟอร์มเพื่อการค้าทั่วโลกผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic World Trade Platform – eWTP) ที่นายแจ๊ค หม่า ริเริ่มเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) สามารถขายสินค้าระหว่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วยระบบด้านการเงิน พิธีการศุลกากร การขนส่ง รวมถึงการระดมทุน ที่สอดคล้องกับกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศของภาครัฐ ซึ่งด้วยแพลตฟอร์มแบบ single window นี้ SMEs ไม่ต้องติดต่อหลายหน่วยงานแต่สามารถจบกระบวนการส่งออกและนำเข้าได้ในแพลตฟอร์มเดียว

     ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนมองว่าตลาด CBEC จีนในปัจจุบันอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโตและยังมีโอกาสอีกมากที่ให้ผู้ขายรายใหม่เข้ามาเล่นในตลาด ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจในตลาด CBEC จีน ที่จะเริ่มศึกษาถึงช่องทางการขายและความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดจีนต่อไป

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน