ธุรกิจ “E-Commerce” ในจีน โอกาสและแนวโน้มการทำธุรกิจผ่านโลกออนไลน์

27 Aug 2013

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อีคอมเมิร์ซ(E-Commerce) หรือการดำเนินธุรกิจทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารโทรคมนาคมหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้กลายเป็นกระแสนิยมของทั่วโลก และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเข้าถึงเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตที่ง่ายดายมากขึ้นผ่านอุปกรณ์สื่อสาร ทั้งโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ปกติแล้ว ธุรกิจอีคอมเมิร์ซสามารถใช้ติดต่อกับลูกค้าได้หลายระดับ ธุรกิจกับลูกค้า ธุรกิจกับธุรกิจ ธุรกิจกับภาครัฐ กระบวนการพื้นฐานเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจรูปแบบดังกล่าวประกอบด้วย

  • การขาย ผู้ขายโฆษณา แสดงสินค้า เสนอราคาและรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า
  • การชำระเงิน การตกลงวิธีชำระเงิน สั่งโอนเงิน ให้ข้อมูลบัญชีธนาคารที่ใช้ตัดบัญชี
  • การขนส่ง แจ้งวิธีการส่งมอบของ ค่าขนส่ง และสถานที่ติดต่อและระบบติดตามสินค้าที่ส่ง
  • การบริการหลังการขาย การติดต่อภายในบริษัท เช่น ระบบบัญชี คลังสินค้า ระบบสั่งซื้อสินค้าและวัตถุดิบ สั่งผลิต ตลอดจนบริการลูกค้าหลังการขาย

ทำไมต้อง E-Commerce ในจีน

จุดเด่นของธุรกิจอีคอมเมิรซ์ คือ สามารถเพิ่มและขยายช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการ เป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการให้แพร่หลายมากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยลดความสำคัญขององค์ประกอบของธุรกิจที่มองเห็นจับต้องได้ เช่น อาคารสำนักงาน ห้องจัดแสดงสินค้า คลังสินค้า พนักงานขายและพนักงานให้บริการต้อนรับลูกค้า ซึ่งล้วนเป็นการบริหารที่ต้องใช้ต้นทุน นอกจากนี้ยังช่วยอำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาสำหรับผู้บริโภค ดังนั้น จึงช่วยขจัดอุปสรรคต่อการทำธุรกิจเรื่องระยะทางและเวลาที่ต่างกันได้

สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีน แม้จะเพิ่งกำเนิดขึ้นในช่วงไม่นาน หากเทียบกับประเทศอื่นแต่กลับพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ด้วยระบบการให้บริการที่ครบวงจร ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ “เถาเป่า” (taobao) ซึ่งเป็นเว็บไซต์สั่งซื้อของออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจีน มีระบบสั่งซื้อสินค้า การชำระเงิน การขนส่ง รวมทั้งการบริการหลังการขาย จากข้อมูลรายงานข่าวล่าสุดพบว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีนได้ขยายอย่างต่อเนื่องและสร้างมูลค่ามหาศาลให้แก่เศรษฐกิจจีน โดยจากสถิติเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า ธุรกิจดังกล่าวได้สร้างรายรับแล้วเป็นมูลค่ามากกว่า 2.1 แสนล้านหยวน โดยมีจำนวนลูกค้าซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า 500 ล้านราย!!!

รายงานข่าวล่าสุดพบว่า ตัวเลขข้างต้นได้ดึงดูดธุรกิจยักษ์ใหญ่จากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Louis Vuitton, Adidas, AG, Samsung, Walt Disney รวมทั้งบริษัทอังกฤษอย่าง Marks & Spencer และ Mothercare ที่ต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ช่องทางซื้อขายสินค้าออนไลน์ในจีนเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าประเภทต่าง ๆ ทั้งโทรศัพท์มือถือ ผักสด เสื้อผ้า อาหาร เครื่องจักรและของใช้ส่วนตัว

เมื่อเปรียบเทียบตลาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีตลาดใหญ่ที่สุด พบว่า เมื่อปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 2.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 5 ของยอดค้าปลีกของทั้งประเทศ ในขณะที่จีน ยอดการขายสินค้าออนไลน์เมื่อปีที่แล้วมีมูลค่าประมาณ 2.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 6 ของมูลค่าค้าปลีกของทั้งประเทศ โดยนักวิเคราะห์เห็นว่า จากตัวเลขผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นี่คือ “โอกาส” สำหรับบริษัทต่างชาติที่พร้อมจะเข้ามาเจาะตลาดจีน

ยอดผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวจีนพุ่ง ดันธุรกิจ E-Commerce!!!

สำหรับในประเทศจีน จากรายงานสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตจีนฉบับล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเตอร์เน็ตแห่งชาติจีน (China Internet Network Information Center – CNNIC) ได้แสดงข้อมูลตัวเลขผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจีนจนถึง ณ เดือน มิ.ย. 2556 พบว่าจีนมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนถึง 591 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 44.1 ของประชากรจีน โดยระบุว่า “โทรศัพท์มือถือ”เป็นช่องทางหลักของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวจีน โดยพบว่า กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีนจำนวน 464 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้ใช้ทั้งหมด เข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยผ่าน “โทรศัพท์มือถือ” และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ทั้งนี้จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตดังกล่าวได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 43.79 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน

แม้จีนจะมีผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมากที่สุดของโลก แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคน พบว่ายังมีชาวจีนอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการ อีกทั้ง ความเร็วในการเข้าอินเตอร์เน็ตระบบบรอดแบรนด์โดยเฉลี่ย ยังอยู่ที่ 3.14 Mbps เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ อื่นในเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ ที่มีความเร็วโดยเฉลี่ยถึง 14.7 Mbps

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนก็เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและสนับสนุนให้ประเทศมีความรุดหน้าในเรื่องนี้ โดยเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจีน ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ “Broadband China” มีการระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2563 ทางการจะสนับสนุนให้ประชาชนทั่วประเทศทั้งเขตเมืองและชนบทมีอินเตอร์เน็ตใช้ โดยในขั้นแรก จะเน้นขยายสัญญาณไวไฟ (Wi-Fi) ให้ครอบคลุมบริเวณพื้นที่สาธารณะตามเขตเมืองสำคัญให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ และเป้าหมายต่อไป คือ ขยายจำนวนให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตระบบบรอดแบรนด์ให้เพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านครัวเรือนให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2558 นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2563 จะเพิ่มความเร็วของอินเตอร์เน็ต โดยในเขตเมืองให้ได้ 50 Mbps และเขตชนบทให้ได้ 12 Mbps

นักวิเคราะห์มองว่า แผนยุทธศาสตร์ข้างต้นจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก เพราะจะช่วยเพิ่มอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมธุรกิจออนไลน์ให้ขยายตัวมากขึ้นอย่างแน่นอน เรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับการยืนยันของนายฉี เสี้ยวไหล ผอ. ศูนย์วิจัยการค้าและเศรษฐกิจประจำนครเซี่ยงไฮ้ โดยระบุว่า รัฐบาลจีนต้องกำหนดแผนสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องมือในการช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศแล้ว ในอนาคตยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วย

ดังนั้น การเติบโตอย่างรวดเร็วสามารถสะท้อนให้เห็นถึง “โอกาส”ของการขยายทางธุรกิจให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น จึงนับเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง

ผู้บริโภคในหัวเมืองชั้นรอง “ลูกค้าคนสำคัญ”

จากการศึกษาของเว็บไซต์เถาเป่า (taobao.com) เว็บไซต์ซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ระบุว่าการซื้อสินค้าออนไลน์มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นความต้องการสินค้าของผู้บริโภค โดยเฉพาะกับผู้ที่อยู่ห่างไกลในหัวเมืองชั้นรอง โดยจากการเก็บข้อมูลจากในหัวเมืองชั้นรองในจีนรวม 2,006 แห่ง ยังพบว่า มีจำนวนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์เถาเป่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 30 ล้านคน มีมูลค่ารวม 1.79 แสนล้านหยวน หรือราว 2.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 87 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้วผู้ซื้อสินค้าในหัวเมืองชั้นรองใช้เงินประมาณ 6,000 หยวนต่อคน และซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ย 54 ครั้งต่อปี ขณะที่ในหัวเมืองใหญ่ ผู้บริโภคใช้เงินซื้อสินค้าออนไลน์โดยเฉลี่ย 4,700 หยวน และซื้อสินค้าออนไลน์ 39 ครั้งต่อปี

สำหรับเมืองที่มียอดการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากที่สุด คือ เมืองอี้อู (义乌) ในมณฑลเจ้อเจียง โดยมียอดมูลค่าการทำธุรกรรมการเงินรวม 3.4 พันล้านหยวน ในขณะที่อำเภอชิงหลิว (清流县) มณฑลฝูเจี้ยน เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ใช้เงินซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุด โดยใช้เงินประมาณร้อยละ 72.6 ของรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง (disposable income) ซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์

ในขณะที่มหานครใหญ่ อาทิ กรุงปักกิ่งและ นครเซี่ยงไฮ้ ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 27 เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้บริโภคชาวจีนในหัวเมืองชั้นรองนิยมซื้อเครื่องสำอางค์และสินค้าแบรนด์เนมผ่านเว็บไซต์ ตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่ผ่านมาผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวใช้เงินโดยเฉลี่ย 765 หยวน ซื้อเครื่องสำอางค์ยี่ห้อ “Estee Lauder” ในขณะที่ในหัวเมืองใหญ่ซื้อสินค้าประเภทเดียวกันนี้โดยเฉลี่ยเพียง 652 หยวน ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนสอดคล้องกับการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ Mckinsy & Co ที่ระบุว่าการซื้อสินค้าออนไลน์มีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นการบริโภคในจีน โดยเฉพาะในหัวเมืองชั้นรองและพื้นที่ห่างไกล

นายหม่า หยุน (马云) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ taobao และเว็บไซต์ Alibaba ที่เป็นเว็บไซต์กลาง ในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ยังย้ำชัดว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีนยังเติบโตได้อีกมาก โดยในปัจจุบัน บริษัทของเขาสามารถกินส่วนแบ่งมากกว่าร้อยละ 5 ของยอดค้าปลีกทั้งหมดในจีน และคาดการณ์ว่าภายในระเวลา 5 ปี มากกว่าร้อยละ 30 ของยอดมูลค่าการค้าปลีกในจีนจะทำผ่านช่องทางออนไลน์

“โอกาส” ที่ต้องรีบคว้า

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีนยังมีแนวโน้มเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ในหัวเมืองชั้นรองและพื้นที่ห่างไกล ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่าวจำนวนไม่น้อยล้วนมีกำลังซื้อและพร้อมที่จะควักเงินซื้อสินค้าจากทั่วโลกที่มีวางขายเช่นเดียวกับร้านค้าในเมืองใหญ่ แต่ต้องติดอุปสรรคด้านการเดินทางและคมนาคมที่ไม่สะดวก การซื้อสินค้าออนไลน์และการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงเป็นกระแสที่กำลังเติบโต และมีศักยภาพอยู่มาก สอดคล้องกับจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่จะกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของจีน โดยเฉพาะการใช้บริการด้านข้อมูลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ราคาโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตถูกลง บวกกับเครือข่าย 3G อย่างเต็มรูปแบบ ธนาคารต่าง ๆ ในจีนล้วนให้บริการการโอนเงินผ่านทางอินเตอร์เน็ต สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคต่อความปลอดภัยและความสะดวกรวดเร็วในการชำระเงิน โดยผู้บริโภคจะช็อป จ่าย ที่ไหนเมื่อไรก็ได้แค่คลิ๊ก! จากระบบอินเตอร์เน็ตและความเร็วที่จะได้รับการพัฒนาในอนาคตอันใกล้ ผนวกกับช่องทางการตลาดทั้งหลายที่ระดมเข้ามานั้นจะเป็นแรงผลักดันที่น่าสนใจซึ่งทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นไปอีก ซึ่งอีกไม่นาน ยอดผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนจะเพิ่มทะยานมากกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว สิ่งนี้ถือเป็น “โอกาสทอง” ของธุรกิจการขายสินค้าออนไลน์ จึงไม่แปลกที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกต่างจ้องเข้ามากินส่วนแบ่งของ “เค้ก” ชิ้นโตนี้ ซึ่งกำลังเตรียมจับจองพื้นที่ในตลาดอีคอมเมิร์ซในจีน ทั้งผ่านเว็บไซต์ซื้อของออนไลน์ รวมทั้งผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมในจีน ไม่ว่าจะเป็นเวยป๋อ คิวคิว วีแชท สิ่งเหล่านี้ย่อมดึงดูดให้ผู้บริโภคจีนสนใจและกระตุ้นการซื้อสินค้าได้เป็นอย่างดี การปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกออนไลน์ที่กำลังรุ่งพุ่งแรงอยู่ ณ ขณะนี้ เชื่อว่าจะเป็นข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจในจีนอย่างแน่นอน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน