BIC Publication

Shandong มณฑลซานตง

ข้อมูลพื้นฐาน

1. ข้อมูลทั่วไป

1.1 ที่ตั้งและพื้นที่ 

มณฑลซานตงเป็นมณฑลชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศจีน ภูมิประเทศที่เป็นคาบสมุทรได้แยกอ่าวป่อไห่และทะเลเหลืองออกจากกัน โดยมีที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 34°22.9′ ถึง 38°24.0’1′ องศาเหนือ และลองติจูดที่ 114°47.5′ ถึง 122°42.3′ องศาตะวันออก 

ทิศเหนือติดกับเมืองเทียนจินและมณฑลเหอเป่ย ทิศตะวันตกติดกับมณฑลเหอเป่ยและมณฑลเหอหนาน ทิศใต้ติดกับมณฑลอานฮุยและมณฑลเจียงซู ความกว้างจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกมีระยะทาง 700 กิโลเมตร และความยาวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้มีระยะทาง 420 กิโลเมตร ความยาวชายฝั่ง 3,000 กิโลเมตร มณฑลซานตงมีความยาวชายฝั่งคิดเป็นหนึ่งในหกของความยาวชายฝั่งทั้งหมดของประเทศจีน

มณฑลซานตง มีพื้นที่ทั้งหมด 157,126 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 1.64 ของพื้นที่ทั้งประเทศ พื้นที่ตอนกลางของมณฑลเป็นเทือกเขาสูง โดยมีภูเขาไท่ (Taishan) ที่ตั้งอยู่ที่เมืองไท่อัน เป็นจุดที่สูงที่สุดของมณฑลซานตง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,532.7 เมตร แม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน เช่น แม่น้ำเหลือง แม่น้ำเหวย แม่น้ำถูไห้ แม่น้ำซู่ ฯลฯ

1.2 ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม

มณฑลซานตงปรากฏ เป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ครั้งแรกเมื่อปี 475-221 ก่อนคริสตกาล ซึ่งคำว่า “ซานตง” มีความหมายว่า เป็นพื้นที่ทางตะวันออกของภูเขาไท่เหิง (Taihengshan) ในมณฑลส่านซี

มณฑลซานตงปรากฏชื่อครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว ในสมัยราชวงศ์หยวน โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเขตการปกครองเขตหนึ่งในสมัยราชวงศ์ชิง และในปี 1376 หน่วยงานบริหาราชการสูงสุดของมณฑลซานตงได้ย้ายจากเมืองชิงโจวมาอยู่ที่เมืองจี่หนาน ทำให้เมืองจี่หนานกลายเป็นเมืองหลวงของมณฑลซานตง

หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 มณฑลซานตงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารอีกหลายครั้ง จวบจนปัจจุบัน มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 17 เมือง มณฑลซานตงได้รับการขนานนามว่า “เมืองแห่งน้ำผุด” เนื่องมาจากมีแหล่งน้ำผุดธรรมชาติอยู่จำนวนมาก มีนครจี่หนาน เป็นเมืองเอก และเมืองชิงต่าวเป็นเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สำคัญ และขึ้นชื่อว่ามีชายฝั่งทะเลที่สวยงาม นอกจากนี้ มณฑลซานตงยังเป็นบ้านเกิดของขงจื๊อ ซึ่งเป็นนักคิดและนักปราชญ์ที่มีอิทธิพลต่อชาวจีนและประเทศอื่น ๆ ด้วย

1.3 ข้อมูลประชากร

ปี 2560 มณฑลซานตง มีจำนวนประชากรทั้งหมด 100,058,300 ล้านคน โดยแบ่งเป็นประชาชนเขตเมือง 60.58% และเขตชนบท 39.42% มีอัตราการเกิดร้อยละ 17.54 อัตราการตายร้อยละ 7.4 เป็นมณฑลที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง

ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น 99.32% และเป็นชนกลุ่มน้อย 0.68% ชนกลุ่มน้อยที่มีมากที่สุดคือ ชาวฮุยและชาวแมนจูตามลำดับ

1.4 ภาษา

ภาษาจีนกลาง (ผู่ทงฮว้า普通话) เป็นภาษาราชการ และยังมีภาษาท้องถิ่นที่ใช้แตกต่างกันไปตามเมืองต่าง ๆ

1.5 สภาพภูมิอากาศ

มณฑลซานตงได้รับอิทธิพลของลมมรสุมเขตอบอุ่นในฤดูหนาว อากาศหนาวและชื้นมากกว่าทางตอนเหนือของประเทศจีน ภูมิอากาศบริเวณชายฝั่งแตกต่างจากบริเวณพื้นที่ตอนใน โดยมณฑลซานตงมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 11 – 14 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 500 – 900 มิลลิเมตรต่อปี

1.6 ทรัพยากรธรรมชาติ

มณฑลซานตงเป็นมณฑลที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์พืชกว่า 3,100 ชนิด มีผลไม้กว่า 90 ชนิด แต่ละเมืองในมณฑลเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่ขึ้นชื่อ เช่น เมืองเยียนไถเป็นแหล่งผลิตแอปเปิ้ล เมืองไหลหยาง (เมืองรองของเมืองเยียนไถ) เป็นแหล่งผลิตสาลี่ เป็นต้น มณฑลซานตงยังเป็นแหล่งผลิตฝ้าย น้ำมัน พืชจำพวกข้าว ถั่ว สมุนไพรจีน และยาสูบ นับเป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศจีน

– ทรัพยากรน้ำ

มณฑลซานตงมีปริมาณทรัพยากรน้ำเฉลี่ยต่อปี 30,582 ล้านลูกบาศก์เมตร

  • เป็นน้ำจากแม่น้ำที่ไหลผ่านมณฑล 22,290 ล้านลูกบาศก์เมตร
  • เป็นน้ำใต้ดิน 15,257 ล้านลูกบาศก์เมตร
  • แม่น้ำเหลือง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของมณฑลมีปริมาณน้ำไหลผ่านในแต่ละปี ประมาณ 37,610 ล้านลูกบาศก์เมตร

– ทรัพยากรทางทะเล

มณฑลซานตง มีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ติดทะเลคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของพื้นที่ติดทะเลทั้งประเทศ ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำกว่า 40 ชนิด ที่สำคัญ เช่น กุ้ง ปู ปลา หอยเป๋าฮื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ มณฑลซานตงยังเป็นแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญของจีน

– ทรัพยากรพลังงาน

มณฑลซานตงมีแหล่งน้ำมันเซิ่งลี่ อยู่ในเมืองตงหยิง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ แหล่งน้ำมันเซิ่งลี่ได้เป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศตั้งแต่ปี 2521 – 2553 โดยมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบสูงสุดอยู่ที่ 30 ล้านตันต่อปี 

ในปี 2561 แหล่งน้ำมันเซิ่งลี่ติดอันดับที่ 5 ของประเทศ โดยสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 23.77 ล้านตันต่อปี

– ทรัพยากรแร่

มณฑลซานตงมีทรัพยากรแร่กว่า 120 ชนิด และเป็นมณฑลที่มีแหล่งแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีจำนวนเพชร แร่ยิปซั่ม หินทรายเนื้อควอตซ์ มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน และมีจำนวนแร่โดโลไมต์มากที่สุดในประเทศจีน ซึ่งอยู่ในเมืองหลินอี๋

 

1.7 ศักยภาพทางเศรษฐกิจ (การค้า การลงทุน)

ปัจจุบัน มณฑลซานตงนำเข้ายางพารามากที่สุดในประเทศจีน มีตลาดนำเข้าผลไม้สดจากไทยที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของจีน มีบริษัทจากหลายเมืองในมณฑลซานตงที่ไปลงทุนที่ไทยในเรื่องการผลิตยางรถยนต์ การประกอบธุรกิจ เรื่อง การขนส่งทางทะเล การขุดเจาะและเดินท่อส่งน้ำมัน และธุรกิจด้านรถไฟความเร็วสูง โดยที่มณฑลซานตงมีประชากรกว่า 100 ล้านคน มี GDP สูงเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ (ในปี 2560 อยู่ที่ 7.2 ล้านล้านหยวน) จึงเป็นมณฑลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง เหมาะในการส่งเสริมการค้า การลงทุน

  • อุตสาหกรรม

         อุตสาหกรรมหลักของมณฑลซานตง คือ อุตสาหกรรมถ่านหิน เหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์โลหะ ซีเมนต์ การต่อเรือ รถยนต์ ปิโตเลียม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาหารแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล เป็นต้น ธุรกิจบริการที่สำคัญของมณฑลซานตง ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจท่องเที่ยว

     มณฑลซานตงมีบริษัทชั้นนำที่เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ บริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี INSPUR และบริษัทผู้ผลิตรถบรรทุก China National Heavy Duty Truck ในนครจี่หนาน บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า Haier และ Hisense บริษัทผลิตเบียร์ชื่อดัง Tsingtao ในเมืองชิงต่าว บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เชฟโรเลต Dongyue Automobile และบริษัทผลิตไวน์เยียนไถ Changyu ในเมืองเยียนไถ

  • นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

              ประเทศไทยและมณฑลซานตงมีศักยภาพในการทำความร่วมมือวิจัยทางด้านพืช อาทิ กล้วยไม้หวายขนาดเล็ก ดอกโบตั๋น ซังข้าวโพด เพื่อนำมาใช้เป็นยาและเครื่องสำอาง การเพาะปลูกข้าวในดินเค็ม เทคโนโลยีในการปลูกพืชดอก เพื่อให้ผลผลิตตลอดปี เป็นต้น นอกจากนี้ ในเมืองชิงต่าว ยังมีการสร้างศูนย์นวัตกรรมที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์

  • การศึกษา

              มณฑลซานตงสนใจมีความร่วมมือกับไทยในด้านการศึกษา ล่าสุด มีการลงนามความตกลงร่วมมือระหว่างโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่และโรงเรียน Qingdao No.16 High School และมหาวิทยาลัยชิงต่าว มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยหลู่ตง มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม

  • วัฒนธรรม

มณฑลซานตง มีความภาคภูมิใจในความเป็นบ้านเกิดของนักปรัชญาขงจื๊อและเม่งจื๊อ และนักรบ (ขงเบ้ง) และมีแผนงานด้านวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การจัดเทศกาลอาหารหลู่ในเมืองชวีฟู่ที่เป็นบ้านเกิดของขงจื๊อทุกปี เป็นต้น

 

 

2. ข้อมูลด้านการปกครอง

  1. ข้อมูลด้านการปกครอง

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

มณฑลซานตงประกอบด้วยเมืองทั้งหมด 17 เมือง และมีความโดดเด่นดังนี้

  1. นครจี่หนาน (ประชากร 7,321,200 คน GDP 720,196 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นเมืองเอก และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนระดับมณฑล
  • ได้รับสมญานามว่า”เมืองแห่งน้ำผุด” เพราะมีบ่อน้ำผุดธรรมชาติมากกว่า 700 แห่ง
  • เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและการติดต่อสื่อสารของคาบสมุทรซานตงตลอดจนเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ของจีน
  • อุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมโลหะ การผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ การผลิตรถบรรทุก การผลิตเคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ ขณะเดียวกันก็มีความโดดเด่นด้านเกษตรกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าเข้ามาประยุกต์ใช้ 
  • มีบริษัทจากนครจี่หนานลงทุนในประเทศไทย อาทิ บริษัท MEIDE GROUP CO., LTD. จำหน่ายอุปกรณ์ฟิตติ้ง ท่อเหล็กอ่อน ท่อทองแดง เหล็กและเหล็กเคลือบสังกะสี มีมูลค่าการลงทุน 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัท Inspur ที่เข้าไปลงทุนเกี่ยวกับ hard disk
  • ของดีนครจี่หนาน ได้แก่ ข้าวหอมหมิงสุ่ย ข้าวฟ่างหลงซาน และต้นหอมเขตจางชิว
  1. เมืองชิงต่าว (ประชากร 9,204,000 คน GDP 1.103 ล้านล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว
  • เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันเรือใบโอลิมปิกครั้งที่ 29 ปี 2551 และในปี 2557 เป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนนานาชาติ (International Horticulture Exhibition) รวมถึงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ในชิงต่าว ปี 2561
  • เป็นเมืองผลิตเบียร์ที่มีชื่อเสียง โดยเบียร์ชิงต่าว (TSINGTAO) มียอดขายเป็นอันดับ 2 ในประเทศจีน รองจากเบียร์เสว่ฮวา (China Resources Snow Breweries) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง
  • เป็นเมืองท่าที่สำคัญของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภาคตะวันออกของจีน โดยมีการนำเข้ายางพาราปริมาณสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกันท่าเรืออื่นในจีน
  • เป็นเมืองแห่งการผลิตสินค้าแบรนด์ชั้นนำของจีน อาทิ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า Haier และ Hisense
  • เป็นฐานที่ตั้งของบริษัทอุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูง (CRRC) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน
  • มีการจัดตั้งมหานครภาพยนตร์ตะวันออก (Oriental Movie Metropolis) ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อดัง ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง Great wall และ Pacific Rim 2 ในปี พ.ศ. 2560
  • มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่ทันสมัย ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวน้ำทะเล และศูนย์วิจัยวัสดุเฉพาะทางแห่งชาติ (วัสดุฟอกอากาศและน้ำ และอุปกรณ์ทำความสะอาดจากสิ่งแวดล้อม)
  • มีนโยบายพัฒนาให้เป็นเมืองนานาชาติ เมืองการประชุมระหว่างประเทศ และเมืองท่าของเรือสำราญ
  • มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแต่งงานของเมืองชิงต่าวให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ
  • ของดีเมืองชิงต่าว ได้แก่ เบียร์ชิงต่าว องุ่นตำบลต้าเจ๋อซาน เปลือกหอยแกะสลัก อาหารทะเลและถั่วลิสง
  1. เมืองจือปั๋ว (ประชากร 4,708,000 คน GDP 478,130 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นเมืองผลิตเครื่องเคลือบเซรามิคที่มีชื่อเสียง
  • เป็นแหล่งรวมอุตสาหกรรมและแหล่งดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติ เช่น บริษัท SIEMENS จากเยอรมนี
  • เมืองจือปั๋วได้ลงนามความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องกับเมืองต่าง ๆ ทั้งหมด 43 เมือง นอกจากนั้น ยังได้สร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีและสร้างความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับประเทศและเขตต่าง ๆ กว่า 180 แห่ง
  • มีการนำเข้าของบริโภค อาหารแห้ง จากไทยและประเทศต่าง ๆ ในปริมาณที่สังเกตเห็นได้ชัด
  • ของดีเมืองจือปั๋ว ได้แก่ แป้งทอดเขตโจวชุน เนื้อตุ๋นซูกัว และเครื่องปั้นดินเผาเมืองจือปั๋ว
  1. เมืองจ่าวจวง (ประชากร 4,180,500 คน GDP 231,591 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นบ้านเกิดของนักปรัชญาชาวจีนม่อจื้อ (墨子) และมีหออนุสรณ์สถานม่อจื้อ
  • มีแหล่งเพาะปลูกทับทิมขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน
  • เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ Tai’er Zhuang สถานที่ท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น
  • มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ การท่องเที่ยวขนาดใหญ่ และการทำแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลสาบเวยซาน (Weishan) ซึ่งเป็นแหล่งชมดอกบัวแดงที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก โดยมีดอกบัวแดงตามธรรมชาติกว่า 80 ไร่
  • มีอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมถ่านหิน เคมีภัณฑ์จากถ่านหิน เครื่องจักรกลและวัสดุก่อสร้าง
  • ของดีเมืองจ่าวจวง ได้แก่ เกาลัดตำบลสวีจวง พุทราลูกยาวตำบลเตี้ยนจื่อ และชาใบทับทิม
  1. เมืองตงหยิง (ประชากร 2,154,600 คน GDP 380,178 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นฐานการผลิตอุปกรณ์สำหรับกิจการปิโตรเลียมที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศจีน
  • เป็นฐานการผลิตหลักทางภาคตะวันออกของบริษัทซิโนเปค เซิ่งลี่ ออยล์ฟิลด์ (SINOPEC SHENGLI OILFIELD) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตน้ำมันอันดับต้น ๆ ของประเทศจีน
  • มีการทำเหมืองและอุตสาหกรรมทองคำ
  • ได้รับคัดเลือกเป็น International Wetland City ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 13 (Ramsar COP 13) ซึ่งจัดขึ้นที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา
  • ของดีเมืองตงหยิง ได้แก่ ปลาเตาหยูแห่งแม่น้ำฮวงโห เนื้อลาต้มเมืองกว่างเหรา และแตงโมยี่ห้อหมาวาน
  1. เมืองเยียนไถ (ประชากร 7,089,400 คน GDP 733,895 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าทางทะเล โดยมีท่าเรือขนาดกลางและใหญ่ทั้งหมด 10 ท่า และ ท่าเทียบจอดเรือสำหรับเรือบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนัก 10,000 ตัน จำนวน 66 แห่ง
  • มีแหล่งผลิตทองคำที่สำคัญในเมืองจาวหย่วนและเมืองหลายโจว ซึ่งเป็นเมืองรองของเมืองเยียนไถ
  • เป็นแหล่งผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ไวน์จางหยู้ (Zhangyu)
  • เป็นแหล่งเพาะปลูกแอปเปิ้ลที่สำคัญ รวมทั้งสินค้าเกษตรอื่น ๆ
  • ของดีเมืองเยียนไถ ได้แก่ แอปเปิลและเชอร์รีเมืองเยียนไถ ปูทะเลและหยกแกะสลักเมืองหลายโจว สาลี่เมืองหลายหยาง และปลิงทะเลเมืองเผิงไหล
  1. เมืองเหวยฟาง (ประชากร 9,363,000 คน GDP 585,860 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมว่าวนานาชาติ และเป็นเมืองผลิตว่าวที่สำคัญของประเทศจีน
  • เมืองโซ่วกวง (เมืองรองของเมืองเหวยฟาง) ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองแห่งพืชผัก” โดยมีพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรและตลาดฐานการผลิตพืชผลทางการเกษตรชั้นแนวหน้าของประเทศจีน จึงได้รับเครื่องหมาย “สินค้าเกษตรคุณภาพดีของจีน” ทั้งยังมีการจัดงานเทศกาลผักนานาชาติประจำทุกปี (China International Vegetable Sci-Tech Fair) ตั้งแต่ปี 2543 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน (ครั้งที่ 19) และได้รับยกย่องเป็นงานแสดงสินค้าทางการเกษตรระดับ 5A ที่มีชื่อเสียงในด้านนวัตกรรมการผลิตสินค้าทางการเกษตร
  • บริษัท Banpu Investment (China) Co., Ltd. มีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จินซาน ฮุ่ยเหนิง และฮุ่ยเอินในเมืองอันชิว ซึ่งเป็นเมืองรองของเมืองเหวยฟาง
  • ของดีเมืองเหวยฟาง ได้แก่ หัวไชเท้าเขียวเมืองเหวยฟาง ว่าวเมืองเหวยฟาง และพืชผักเมืองโซ่วกวง
  1. เมืองจี่หนิง (ประชากร 8,375,900 คน GDP 465,057 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการกระจายสินค้าในเขตภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลซานตง
  • เป็นเมืองที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติถ่านหิน และเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ กระเทียม องุ่นและข้าวฟ่าง
  • เมืองชวีฟู่ (เมืองรองของเมืองจี่หนิง) เป็นแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญ และเป็นบ้านเกิดของขงจื๊อ โดยมีสถานที่สำคัญ คือ วัดขงจื๊อ สุสานขงจื๊อ และบ้านตระกูลขงที่ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
  • ของดีเมืองจี่หนิง ได้แก่ ข้าวอำเภอหยูไถ เหล้าขาวจวนตระกูลข่ง และผักดองเค็มยู่ถาง
  1. เมืองไท่อัน (ประชากร 5,645,100 คน GDP 358,530 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญทางด้านตะวันออกของประเทศจีน ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกในปี 2525 มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศจีนคือ ภูเขาไท่ (Taishan)
  • มีความโดดเด่นด้านเกษตรกรรมที่ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาประยุกต์ในการผลิตพืชผักอินทรีย์ ดอกไม้และชา
  • มีอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลไฟฟ้า สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ถ่านหิน และไฟฟ้า
  • มีการส่งเสริมการลงทุน โดยรัฐบาลจัดสรรพื้นที่ และให้สิทธิพิเศษหลายประการ
  • บริษัท Banpu Investment (China) Co., Ltd. มีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เฮ่าหยวน และซิงหยู่ ในเมืองไท่อัน
  • ของดีเมืองไท่อัน ได้แก่ เห็ดหลินจือเขาไท่ซาน ลูกท้อเมืองเฝยเฉิง และเกาลัดไท่อัน
  1. เมืองเวยไห่ (ประชากร 2,825,600 คน GDP 348,010 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นเมืองท่าเรือพาณิชย์ เป็นศูนย์การค้าประมงที่สำคัญ และมีอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
  • มีการจัดตั้งโรงพยาบาลธนบุรี เมืองเวยไห่ โดยการร่วมลงทุนระหว่างไทยและจีน โดยบริษัท Weigao Group จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และบริษัท ธนบุรี เมดิเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)
  • เมืองเวยไห่มีวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งมากถึง 359 วันใน 1 ปี และยังได้ถูกจัดลำดับให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดเป็นลำดับที่ 5 ของ สปจ. ในปี 2560 โดยการจัดลำดับของ The Chinese Academy of Social Sciences (CASS)
  • เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านการบริหารจัดการบ้านพักคนชรา
  • ของดีเมืองเวยไห่ ได้แก่ สาหร่ายทะเล ปลิงทะเล และถั่วลิสง
  1. เมืองรื่อจ้าว (ประชากร 3,036,800 คน GDP 2 แสนล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นเมืองที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง แร่ใยหิน และหินแกรนิต
  • มีท่าเรือรื่อจ้าว (Rizhao Port) ซึ่งมีปริมาณการขนส่งสินค้าประมาณ 300 ล้านตัน/ปี และท่าเรือหลานซาน (Lanshan Port) ที่ขนส่งปิโตรเคมีเหลวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศจีน
  • มีโรงงานทำเหล้าขาวที่สำคัญ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบ อาทิ ข้าวในการผลิตเป็นจำนวนมาก
  • ของดีเมืองรื่อจ้าว ได้แก่ ชาเขียวรื่อจ้าว กุ้งฝอยรื่อจ้าว และเครื่องปั้นดินเผาสีดำเมืองรื่อจ้าว
  1. เมืองหลายอู๋ (ประชากร 1,376,000 คน GDP 89,602 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นฐานการผลิตถ่านหินและแร่เหล็กที่สำคัญของมณฑลซานตง มีปริมาณถ่านหินสำรอง 400 ล้านตัน และมีปริมาณแร่เหล็กสำรอง 480 ล้านตัน
  • เป็นเมืองที่มีอากาศแบ่งเป็นสี่ฤดูอย่างชัดเจน ทำให้มีทรัพยากรและดินที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก พืชเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วลิสง ผัก และผลไม้
  • ของดีเมืองหลายอู๋ ได้แก่ ตานเซินขาว ไส้กรอกเมืองหลายอู๋ และสมุนไพรเผ็ดร้อน (ขิง ต้นหอม และกระเทียมเปลือกขาว)
  1. เมืองหลินอี๋ (ประชากร 11,408,000 คน GDP 434,539 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นเมืองที่มีจำนวนแร่โดโลไมต์มากที่สุดในประเทศจีน ใช้เป็นหินก่อสร้างและใช้ในอุตสาหกรรมแก้วบางชนิด และมีจำนวนเพชร แร่ยิปซั่ม หินทรายเนื้อควอตซ์ เป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน
  • ได้รับการขนานนามว่า เป็นเมืองแห่งโลจิสติกส์ของประเทศจีน และเป็นแหล่งกระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของจีน และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากตลาดค้าส่งเมืองอีอู มณฑลเจ้อเจียง ทางตอนใต้ของจีน
  • เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในมณฑล
  • มีบริษัทซานตงฮุ้ยหัวนำเข้าและส่งออกจำกัด ร่วมมือกับบริษัท ปตท. (ประเทศไทย) เพื่อบรรจุและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสำหรับกลุ่มยานยนต์และกลุ่มอุตสาหกรรม กระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของจีน
  • อำเภอหลันหลิง เมืองหลินอี๋ เป็นฐานอุตสาหกรรมพืชผักขนาดใหญ่และอยู่ในลำดับต้น ๆ ของมณฑลซานตง มีพืชผักที่ได้ GI 3 ชนิด ได้แก่ กระเทียม โกโบ (Burdock) และพริก มีบริษัทแปรรูปและบริษัทจัดเก็บผลผลิตทางการเกษตรกว่า 430 บริษัท
  • ของดีเมืองหลินอี๋ ได้แก่ แมงป๋อง แป้งแผ่นเจียนปิ่ง และโจ๊กเนื้อ
  1. เมืองเต๋อโจว (ประชากร 5,795,800 คน GDP 314,018 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ของประเทศ และเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบกที่สำคัญ โดยมีการส่งเสริมและร่วมมือทางการค้ากับ 10 ประเทศอาเซียน เพื่อเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนทางตอนเหนือของประเทศจีน
  • เป็นเมืองอุตสาหกรรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน และเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์
  • บริษัทเพาะพันธุ์กล้วยไม้ Shandong Watson Agricultural Science & Technology Co., Ltd. อำเภอชิงหวิน เมืองเต๋อโจว สนใจทำความร่วมมือกับไทยในเรื่อง การวิจัยพันธุ์กล้วยไม้
  • ของดีเมืองเต๋อโจว ได้แก่ ไก่และลาดำ รวมทั้งพุทราเมืองเล่อหลิง (เมืองรองในเต๋อโจว)
  1. เมืองเหลียวเฉิง (ประชากร 5,789,900 คน GDP 306,406 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและจุดเชื่อมต่อรถไฟสายเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตกเข้าด้วยกัน
  • เป็นเมืองที่มีแม่น้ำหลายสายตัดผ่าน ได้รับสมญาว่า “เวนิสมณฑลซานตง”
  • อุตสาหกรรมหลักของเมืองเหลียวเฉิง ได้แก่ แร่ทองแดง เหล็ก อะลูมิเนียม และสินค้าเกษตร โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ โลหะ แผ่นเหล็ก สิ่งทอ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า สินค้าทางการเกษตร เคมีภัณฑ์
  • บริษัท Charoen Pokphand Group มีการลงทุนฟาร์มเลี้ยงสุกรในเมืองตงชาง (เมืองรองของเมืองเหลียวเฉิง)
  • ของดีเมืองเหลียวเฉิง ได้แก่ สาลี่อำเภอก้วน หนังลาเคี่ยว และพุทราหยวนหลิง
  1. เมืองปินโจว (ประชากร 3,942,500 คน GDP 261,292 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • เป็นประตูใหญ่ทางภาคเหนือของมณฑลซานตง โดยที่ตั้งของเมืองเป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างเขตเศรษฐกิจเชิงนิเวศที่มีประสิทธิภาพของสามเหลี่ยมแม่น้ำเหลือง (Huanghe) กับวงเศรษฐกิจป๋อไห่ (Bohai Economic Circle) และวงเศรษฐกิจกลุ่มเมืองจี่หนาน (Jinan Group City Economic Circle)
  • เป็นแหล่งผลิตฝ้าย และแหล่งผลิตเกลือสำคัญของจีน
  • บริษัท Banpu Investment (China) Co., Ltd. มีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมโจวผิง
  • ของดีเมืองปินโจว ได้แก่ วัวดำอำเภออู๋ตี้ สาลี่อำเภอหยางซิ่น และปอเปี๊ยะเมืองปินโจว
  1. เมืองเหอเจ๋อ (ประชากร 10,186,000 คน GDP 282,018 ล้านหยวน (ปี 2560))
  • แหล่งปลูกดอกโบตั๋นที่สำคัญของจีน และเป็นฐานการผลิตและวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการค้าดอกโบตั๋น จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองแห่งดอกโบตั๋น”
  • เป็นเมืองแห่งเกษตรกรรม ได้รับการขนานนามว่า “เมืองแห่งพืชจำพวกแตง” “เมืองแห่งกระเทียม” “เมืองแห่งมะเขือเทศ” และ “เมืองแห่งหน่อไม้ฝรั่ง”
  • สนใจร่วมมือกับไทยในด้านการวิจัยพืช
  • ของดีเมืองเหอเจ๋อ ได้แก่ ดอกโบตั๋น โกโบ (Burdock) และซาลาเปาทอด

ผู้บริหารฝ่ายการเมือง

                             

 เลขาธิการพรรคฯ               ผู้ว่าการมณฑล            ประธานสภาที่ปรึกษาการเมือง

 นายหลิว เจียอี้                      นายกง เจิ้ง                           นายฟู่ จื้อฟาง 

   (Liu Jiayi)                      (Gong Zheng)                      (Fu Zhifang)

รูปแบบการปกครองของมณฑลซานตง

ติดตามข้อมูลข่าวสารมณฑลซานตง เพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiembassy.org/qingdao/

                                                   

                                                                                                                                                       จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรษฐกิจ

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

เมืองสำคัญ

1. นครจี่หนาน

เมืองหลวงของมณฑลซานตง ได้รับขนานนามว่า “เมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิ ” โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 14 องศาเซลเซียส มีพื้นที่ทั้งหมด 8,177.21 ตารางกิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 7.32 ล้านคน (ในปี 2560)

นครจี่หนาน มีชื่อเสียงในฐานะเป็น “ตะกร้าอาหารของจีน”  เนื่องจากมีทรัพยากรทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ จี่หนานยังเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ที่สำคัญของจีน โดยมีการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นนำ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเครื่องจักร รถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมเคมี โดยมีตราสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นที่รู้จักในวงกว้างและส่งออกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีสินค้าประเภทอื่น ๆ เช่น บุหรี่ Jiangjun (将军烟) เบียร์ Baotuquan (趵突泉) กระเป๋า Shuanglida (双利达) เป็นต้น   

นครจี่หนาน เป็นแหล่งทรัพยากรแรงงานคุณภาพสูง เนื่องจากในนครจี่หนาน มีวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยถึง 18 แห่ง โดยมีนักเรียนและนักศึกษากว่า 200,000 คน อีกทั้งมีสถาบันวิจัยกว่า 200 แห่ง และ  ห้องปฏิบัติการแห่งชาติ 10 แห่ง ในส่วนของนักศึกษาไทยในปี 2561 มีจำนวนประมาณ 44 คน

นครจี่หนานยังเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าของมณฑลซานตง โดยมีตลาดขนาดใหญ่ 5 แห่งที่สำคัญ ได้แก่ Beiyuanlu Market, Jiluolu Market, Huayuanlu Market, Zhangzhaunglu Market และ Jingshixilu Market รวมถึงตลาดขนาดเล็กอีกจำนวน 765 แห่ง โดยนครจี่หนานพยายามพัฒนาให้เป็นเมืองที่สามารถสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกระดับ และยกระดับการบริโภคให้แก่ผู้บริโภคในท้องถิ่นมากขึ้น

2.เมืองชิงต่าว

เมืองชิงต่าว เป็นที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว มีพื้นที่ทั้งหมด 10,645 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 9.2 ล้านคน (ปี 2560) เป็นเมืองท่าที่มีการขนถ่ายสินค้ามากที่สุดอันดับ 5 ของประเทศจีน (ปี 2560) โดยมีการนำเข้ายางพาราปริมาณสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกันท่าเรืออื่นในจีน ในปี 2555 มีการสร้าง “Rubber Valley” บนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ อีกทั้งยังมีตลาดซื้อขายยางพาราระหว่างประเทศ “QinRex” (Qingdao International Rubber Exchange Market) โดยเป็นความร่วมมือกับเขตการค้าเสรีชิงต่าว (Qinqdao Free Trade Zone : QFTZ) และสมาคมอุตสาหกรรมยางพาราจีน (China Rubber Industry Association : CRIA) ซึ่งมีส่วนสำคัญมากอย่างมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของจีน

ทั้งนี้ เมืองชิงต่าว เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าประเภทคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ รองจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือเซินเจิ้น และท่าเรือโจวซาน เมืองหนิงโป โดยมีผลิตภัณฑ์ส่งออกหลัก ได้แก่ ถ่านหิน และน้ำมันดิบ สามารถรองรับสินค้าได้ 5 ร้อยล้านตัน และมีความสามารถในการจัดการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 17.43 ล้านตู้ต่อปี (ตู้ขนาดมาตรฐานยี่สิบฟุต) ขนส่งสินค้าไปยังท่าเรืออื่นอีก 450 ท่าใน 130 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก ปัจจุบัน มีพนักงานกว่า 24,000 คน

เมื่อปี 2546 Qingdao Port Group , Cosco , AP Moeller (ประเทศเดนมาร์ก) และ P&O (ประเทศ อังกฤษ) ได้ลงทุนขยายท่าเรือเฉียนวาน (Qianwan Container Port) โดยสร้างแล้วเสร็จในปี 2548 ด้วยเงินลงทุน 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่าเรือนี้สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ 1,000 ตู้ และมีความสามารถในการจัดการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้มากกว่า 6.50 ล้านตู้ต่อปี (ตู้ขนาดมาตรฐานยี่สิบฟุต) เมืองชิงต่าวมีการลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้กว่า 1,000 บริษัท สำหรับธุรกิจไทยมีการลงทุนจากบริษัทสัญชาติไทย ได้แก่ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด  และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)     

สำหรับเส้นทางอากาศ นอกจากท่าอากาศยานนานาชาติหลิวถิง เมืองชิงต่าว ซึ่งเป็นท่าอากาศยานผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลซานตง และมีผู้โดยสารคับคั่งมากที่สุดติดอันดับที่ 17 ของประเทศ (ในปี 2560) ชิงต่าวอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเจียวตง เมืองชิงต่าว หรือสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของเมืองชิงต่าว หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ (สิ้นปี 2563) คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารจำนวน 35 ล้านคน สามารถขนส่งสินค้าทางอากาศปริมาณ 500,000 ตันต่อปี และจะกลายเป็นชุมทางขนส่งทางอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ชิงต่าวเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวทางทะเล โดยมีจุดชมวิวที่สวยงามจึงได้รับการยอมรับว่า เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในบรรดาเมืองทางตอนเหนือของประเทศจีน ทั้งยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในประเทศจีน ในปี 2560 จากผลการสำรวจ 40 เมืองที่น่าอยู่อาศัยของจีน โดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน

มีอุตสาหกรรมเบียร์ที่เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ เริ่มก่อตั้งโดยชาวเยอรมันและชาวอังกฤษ โดยมียอดขายเป็นอันดับ 2 ในประเทศจีน รองจากเบียร์เสว่ฮวา (China Resources Snow Breweries) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง นอกจากนี้ ยังมีตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก ได้แก่ Haier และ Hisense ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน  

เมื่อปี 2557 รัฐบาลกลางของจีนได้อนุมัติให้จัดตั้ง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ชายฝั่งตะวันตกของชิงต่าว” หรือ Qingdao West Coast New Area ขึ้น ครอบคลุมพื้นที่บนพื้นดิน 2,096 ตารางกิโลเมตร หรือพื้นที่ทั้งหมดของเขตหวงต่าว และพื้นที่ในทะเลอีก 5,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นมุ่งเป้าให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าว เป็นฐานสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางทะเล การสำรวจทะเลลึก การประมงนอกชายฝั่ง อุตสาหกรรมการต่อเรือ การขนส่งทางทะเล รวมทั้งเป็นผู้นำความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านเศรษฐกิจทางทะเล โดยอุตสาหกรรมที่โดดเด่นในเขตดังกล่าว ได้แก่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ โดยมีเป้าหมายสร้างฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติ และเขตสาธิตอุตสาหกรรมวัฒนธรรมระดับชาติ ด้วยการลงทุนกว่า 50,000ล้านหยวน

ในการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันทางด้านการเงินจากศูนย์การเงินมากกว่า 29,000 แห่ง (Global Financial Centres Index) ปี 2561 ชิงต่าวถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 31 ของเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก และในการทำแบบสอบถามการคาดการณ์เมืองที่มีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญมากขึ้นต่อโลกในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เมืองชิงต่าวถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 2 ของโลก รองจากมหานครเซี่ยงไฮ้

เขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑลซานตง

1.เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเมืองชิงต่าว (Qingdao Economic and Technological Development Zone)

เป็นเขตเศรษฐกิจระดับชาติ มีพื้นที่ทั้งหมด 274 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือ ภายในแบ่งออกเป็นเขตอุตสาหกรรมเคมีหนัก เขตการค้า เขตพืชผัก (Vegetable basket) และเขตท่องเที่ยว เขตดังกล่าว ได้ดึงดูดบริษัทต่างชาติกว่า 57 ประเทศทั่วโลกเข้ามาลงทุน ทั้งยังเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของบริษัทยักษ์ใหญ่ 48 บริษัท ที่ถูกจัดอยู่ใน the Global Fortune 500 และบริษัทขนาดใหญ่ของจีน อาทิ บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า Haier และ Hisense SINOPEC Aucma เป็นต้น มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมรวม 350,000 ล้านหยวน เขตนี้ได้รับการคัดเลือกเป็นเขตเศรษฐกิจระดับชาติที่มีสิ่งแวดล้อมการลงทุนที่ดีที่สุดอันดับที่ 5 ของจีนติดต่อกัน 8 ปี ปัจจุบัน เขตนี้กำลังดำเนินแผนงานหลัก 3 แผนอยู่ ได้แก่ “แผนงานการก่อสร้างนิคมนิเวศ” “แผนงานการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล” และ “แผนงานการพัฒนาเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม”

2.เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเมืองเยียนไถ (Yantai Economic and Technological Development Area)

มีพื้นที่ทั้งหมด 48 ตารางกิโลเมตร เป็น 1 ใน 14 เขตพัฒนาระดับชาติแห่งแรกของจีน เป็นเขตนำร่องของกลยุทธ์เขตเศรษฐกิจสีฟ้าคาบสมุทรซานตง และได้รับการคัดเลือกเป็นเขตสาธิตแห่งชาติ ISO14000 สวนอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งสหประชาชาติ และเขตเศรษฐกิจระดับชาติที่มีสิ่งแวดล้อมการลงทุนที่ดีที่สุดอันดับที่ 6 ของจีนติดต่อกัน 8 ปี เขตดังกล่าวได้ดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมากจาก 43 ประเทศทั่วโลก ภายในมีการจัดตั้งอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งเป็นฐานผลิตสำคัญของชิ้นส่วนของรถยนต์ อุปกรณ์วิศวกรรม อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ วงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนของเรือ เป็นต้น

3.เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเมืองตงหยิง (Dongying Economic and Technological Development Zone)

เป็นเขตเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับชาติ มีพื้นที่รวม 417 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเขตนำร่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เขตนำร่องเศรษฐกิจรีไซเคิลและเขตนำร่องเศรษฐกิจไฮเทคพลังงานใหม่ มีที่ตั้งอยู่ในเขตยุทธศาสตร์ที่เชื่อมกับเขตเศรษฐกิจป๋อไห่ และเขตเศรษฐกิจปักกิ่ง – เทียนจิน – เหอเป่ย ภายในมีการจัดตั้งอุตสาหกรรมโลหะ อุปกรณ์การผลิตน้ำมันปิโตรเลียม การผลิตวัสดุใหม่ อุตสาหกรรมรถยนต์ พลังงานใหม่ อุตสาหกรรมชีวภาพและยาเป็นอุตสาหกรรมหลัก โดยมีการลงทุนจากวิสาหกิจขนาดใหญ่กว่า 78 แห่ง บริษัทในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง 36 แห่ง และ 2 บริษัทชั้นนำที่มีศักยภาพและ 4 บริษัทชั้นนำในด้านการผลิต 500 ลำดับแรกของประเทศจีน  

4.เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเมืองเวยไห่ (Weihai Economic and Technological Development Zone)

เป็นเขตเศรษฐกิจระดับชาติ มีพื้นที่ทั้งหมด 277 ตารางเมตร เป็นเขตเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศเกาหลีใต้มากที่สุดของจีน และเป็นประตูการค้าระหว่างภาคเหนือของจีนกับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ ภายในมีการจัดตั้งอุตสาหกรรมอาหารและการแพทย์ โดยได้รวบรวมบริษัทกว่า 40 แห่ง ได้แก่ บริษัท Disha Pharmaceutical ซึ่งเป็นบริษัท 1 ใน 100 อันดับแรกของประเทศในการพัฒนาโครงการชีววิทยาทางทะเล มีการจัดตั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยได้รวบรวมบริษัทกว่า 191 แห่งที่มีความเชี่ยวชาญในการจำหน่ายรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ รวมถึงการให้บริการซ่อมแซม มีการจัดตั้งอุตสาหกรรมบริการกว่า 26 โครงการจาก บริษัท AEON (ญี่ปุ่น) และ Lotte Group (เกาหลีใต้) เพื่อพัฒนาและขยายการให้บริการไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ เขตดังกล่าว ยังเป็นฐานผลิตเรือสำคัญของจีน โดยมีบริษัทการผลิตเรือยักษ์ใหญ่หลายแห่งเปิดสาขาที่เขตนี้ อาทิ บริษัท AVIC บริษัท SSISHIP บริษัท DONGHAISHIPYARD เป็นต้น

5.เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงนครจี่หนาน (Jinan High-tech Industrial Development Zone)

ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 มีพื้นที่ทั้งหมด 83 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจของภูมิภาคชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การเงิน วัฒนธรรม และการศึกษา มีทรัพยากรทางน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งสามารถรองรับน้ำดื่มให้แก่ประชาชน 500,000 คน ทั้งยังมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงาม เขตดังกล่าว เป็นเขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้ง ได้ดึงดูดวิสาหกิจขนาดใหญ่กว่า 161 แห่ง อาทิ LG Panasonic Volvo และ Sanyo เข้ามาลงทุนในพื้นที่ โดยมีผลิตภัณฑ์ไฮเทคกว่า 336 รายการ และในปี 2543 ได้ร่วมกับองค์กรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโลก จัดตั้งเขตอุทยานความร่วมมือเทคโนโลยีระดับสูง จีน-ยูเครน โดยมีอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมวัสดุใหม่

6.เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงเหวยฟาง (Weifang Hi-Tech Industrial Development Zone)

ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 มีพื้นที่ทั้งหมด 110 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของเมืองเหวยฟาง รวมถึงมีการสร้างสวนตัวอย่างวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สำหรับเทคโนโลยีนวัตกรรมทรัพย์สินทางปัญญาและการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการสาธิตเทคโนโลยีระดับสูงระดับชาติ สำหรับการพัฒนาขับเคลื่อนนวัตกรรมและการบ่มเพาะผู้ประกอบการนวัตกรรม และการสร้างพื้นที่สาธิตนวัตกรรมแห่งชาติในคาบสมุทรซานตง

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 มีการทำข้อตกลงกับสำนักข่าว Xinhua  เพื่อสร้างแพลตฟอร์มสื่อระหว่างสื่อดั้งเดิม และสื่อออนไลน์ เพื่อการรายงานข่าวท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยพื้นที่ศูนย์สื่อสารมวลชน จะส่งเสริมการเสนอข่าวให้ดียิ่งขึ้น ขยายและปรับปรุงความสามารถในการถ่ายทอดสดบนคลาวด์ และเพิ่มการครอบคลุมสื่อรูปแบบใหม่ด้วยการสนับสนุนจาก Xinhua

                                                                                                                                                      จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว

 

การคมนาคมและโลจิสติกส์

การคมนาคมและโลจิสติกส์

เส้นทางทางบก

ในมณฑลซานตงประกอบด้วยเส้นทางทางหลวงหลัก 5 สาย เส้นทางจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ 3 สาย ได้แก่ทางหลวงปักกิ่ง-ฝูโจว ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ และถงเจียง-ซานย่า เส้นทางจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก 2 สาย ได้แก่ รื่อจ้าว-ตงหมิง และชิงต่าว-หยินชวน ในปี 2012 มณฑลซานตงมีทางหลวงความยาวทั้งหมด 2.5 แสนกิโลเมตร โดยมีทางด่วนความยาว 4,975 กิโลเมตร โดยการขนส่งทางบกของซานตง มีนครจี้หนานเป็นศูนย์กลางในการขนส่ง

ทางรถไฟของมณฑลซานตงมีการพัฒนาและควบคุมอย่างเป็นระบบ มีเส้นทางหลักจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ 2 สาย ได้แก่ เส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง-เกาลูน ซึ่งเชื่อมต่อโดยตรงกับฮ่องกง มีเส้นทางหลักจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก 2 สายได้แก่เส้นทางเจียวโจว-จี้หนาน หลันชุน-เยียนไถ ทั้ง 2 เส้นทางนี้เป็นเส้นทางขนส่งที่เชื่อมต่อระหว่างท่าเรือเยียนไถกับท่าเรือชิงต่าว นอกจากนี้ รถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง –เซี่ยงไฮ้มีระยะเส้นทางที่ผ่านมณฑลซานตงความยาว 358 กิโลเมตรโดยเริ่มเดินรถในเดือนมิถุนายน ปี 2011 ระหว่างทางนี้ ได้จัดตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ สถานีตะวันออกเต๋อโจว สถานีตะวันตกจี้หนาน สถานีไท่อาน สถานีตะวันออกหยิงโจว สถานีจ่าวจวง

เส้นทางทางน้ำ

เส้นทางทางน้ำ

มณฑลซานตง มีท่าเรือทั้งหมด 7 แห่ง โดยแบ่งเป็นท่าเรือหลัก ได้แก่ ท่าเรือชิงต่าว ท่าเรือเยียนไถ และท่าเรือรื่อจ้าว ซึ่งเป็นท่าเรือที่ติดอันดับ 1 ใน 10 แห่งของท่าเรือชายฝั่งที่มีการขนถ่ายสินค้ามากที่สุดในประเทศ (อันดับที่ 5 อันดับที่ 9 และอันดับที่ 10 ตามลำดับ (ปี 2560)) และมีท่าเรือเวยไห่ ท่าเรือตงหยิง ท่าเรือเหวยฟาง และท่าเรือปินโจว เป็นท่าเรือที่สำคัญในเขตภูมิภาค ท่าเรือในมณฑลซานตง มีเส้นทางการเดินเรือมากกว่า 130 เส้นทางทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก

ในปี 2560 ท่าเรือในมณฑลซานตงมีปริมาณขนถ่ายสินค้ารวม 1.5 พันล้านตัน สูงเป็นอันดับ 2 ของท่าเรือทั่วประเทศ

  1. ท่าเรือชิงต่าว

ท่าเรือชิงต่าว ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2435 เป็นท่าเรือรัฐวิสาหกิจในการขนส่งระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 และเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าประเภทคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ รองจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือเซินเจิ้น และท่าเรือโจวซาน เมืองหนิงโป โดยขนส่งสินค้าไปยังท่าเรืออื่นอีก 450 ท่าใน 130 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก ปัจจุบัน มีพนักงานกว่า 24,000 คน

ท่าเรือชิงต่าวมีท่าเทียบเรือกว่า 72 ท่า แบ่งออกเป็น 4 เขต คือ เขตท่าเรือเก่า เขตท่าขนส่งน้ำมันหวงต่าว เขตท่าเรือใหม่เฉียนวาน และเขตต่งเจียโค่ว โดยแต่ละท่าเรือมีการเชื่อมต่อกันด้วยรถไฟและทางหลวงพิเศษ ท่าเรือชิงต่าวเป็นท่าเรือที่มีการนำเข้ายางพาราปริมาณสูงที่สุด และมีผลิตภัณฑ์ส่งออกหลัก ได้แก่ ถ่านหิน และน้ำมันดิบ สามารถรองรับสินค้าได้ 5 ร้อยล้านตัน และมีความสามารถในการจัดการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 17.43 ล้านตู้ต่อปี (ตู้ขนาดมาตรฐานยี่สิบฟุต)

  1. ท่าเรือรื่อจ้าว

ท่าเรือรื่อจ้าว สร้างขึ้นเมื่อปี 2525 เป็น 1 ใน 20 ท่าเรือตามแนวชายฝั่งที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในการเชื่อมโยงทางการค้าใหม่ของจีน (One Belt and One Road)  ในเดือน พ.ค. 2546 สำนักงานท่าเรือรื่อจ้าวและสำนักงานท่าเรือหลานซาน ร่วมกันจัดตั้งบริษัทท่าเรือรื่อจ้าวกรุ๊ปขึ้น ปัจจุบัน บริษัทมีบริษัทลูกและสาขาย่อยกว่า 49 แห่ง พนักงานกว่า 9,000 คน ครอบคลุมบริการด้านการท่าเรือ โลจิสติกส์ การก่อสร้าง การเงินและการค้า

รื่อจ้าวแบ่งออกเป็น 2 เขต ได้แก่ เขตสือจิ้วและเขตหลานซาน มีท่าเทียบเรือกว่า 59 ท่า มีเส้นทางเดินเรือไปยังประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ กว่า 100 เส้นทาง ในเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ท่าเรือเมืองรื่อจ้าวได้เปิดเส้นทางเดินเรือมายังท่าเรือแหลมฉบังและกรุงเทพฯ ของไทย และท่าเรือในโฮจิมินห์ของเวียดนาม มีสินค้านำเข้าและส่งออกสำคัญ ได้แก่ ถ่านหิน แร่ น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ เคมีภัณฑ์ มันสำปะหลัง ถั่วเหลืองและไม้สับ ในปี 2560 ท่าเรือแห่งนี้ มีปริมาณการขนถ่ายสินค้ากว่า 360 ล้านตัน เติบโตขึ้นร้อยละ 2.8 (อยู่ในลำดับที่ 9 ของจีน) ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐานกว่า 3 ล้านตู้   

ทั้งนี้ ท่าเรือเมืองรื่อจ้าวประสงค์จะสถาปนาความสัมพันธ์กับท่าเรือแหลมฉบังของไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้มีมากยิ่งขึ้น  

  1. ท่าเรือเยียนไถ

ท่าเรือเยียนไถ เป็น 1 ใน 25 ท่าเรือที่สำคัญตามแนวชายฝั่งของจีน ก่อสร้างขึ้นในปี 2404 เป็นท่าเรือการค้าที่สำคัญทางตอนเหนือของประเทศจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าว ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของเส้นทางสายไหมมายาวนานกว่า 160 ปี

ท่าเรือเยียนไถได้พัฒนารูปแบบการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์แบบบูรณาการที่ทันสมัยครอบคลุมการขนส่งในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทางน้ำ ทางบก ทางรถไฟ และทางท่อลำเลียง โดยเป็น 1 ในท่าเทียบเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่มีการขนถ่ายถ่านหิน แร่ ปุ๋ยเคมี และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สามารถรองรับสินค้าได้ 288 ล้านตัน และมีความสามารถในการจัดการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 2.7 ล้านตู้ต่อปี

เส้นทางอากาศ

เส้นทางอากาศ

มณฑลซานตง มีสนามบินทั้งสิ้น 10 แห่งสำหรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ได้แก่ สนามบินนานาชาติที่นครจี่หนาน เมืองเยียนไถ เมืองหลินอี๋ เมืองเวยไห่ เมืองรื่อจ้าว เมืองตงหยิง เมืองเหวยฟาง เมืองจี่หนิง และ 2 แห่งที่เมืองชิงต่าว มีเส้นทางการบินทั้งหมด 296 เส้นทาง เป็นเส้นทางการบินระหว่างประเทศ 18 เส้นทาง บินไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ และประเทศในยุโรปบางประเทศ

  1. ท่าอากาศยานนานาชาติเหยาเฉียง นครจี่หนาน (Jinan Yaoqiang International Airport)

ท่าอากาศยานนานาชาติเหยาเฉียง นครจี่หนาน เปิดให้บริการเมื่อปี 2535 ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 30 กิโลเมตร มีพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 7,200 ตารางเมตร เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ Shandong Airlines ปัจจุบัน ท่าอากาศยานฯ รองรับสายการบินทั้งในและต่างประเทศ มีเส้นทางเปิดให้บริการกว่า 150 เส้นทาง โดยมีเที่ยวบินระหว่างประเทศไปยังประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ไทเป โตเกียว โอซาก้า นาโกย่า กรุงโซล ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย กรุงเทพฯ กระบี่ เชียงใหม่ ลอสแองเจลิส มอสโก และมิลาน เป็นต้น

ในปี 2560 ได้ให้บริการผู้โดยสารถึง 14.32 ล้านคน ติดอันดับที่ 27 ของท่าอากาศยานทั่วประเทศ ในอนาคต วางแผนสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่ม 3 แห่ง พร้อมทางวิ่ง 4 เส้น (runway) เพื่อรองรับผู้โดยสารสูงสุด 80 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของมณฑล

  1. ท่าอากาศยานนานาชาติหลิวถิง เมืองชิงต่าว (Qingdao Liuting International Airport)

ท่าอากาศยานนานาชาติหลิวถิง เมืองชิงต่าว ก่อสร้างขึ้นในปี 2501 ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองชิงต่าว 23 กิโลเมตร มีพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 120,000 ตารางเมตร โดยมีจำนวนประตูขึ้นเครื่องบิน 14 ช่องทาง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลซานตง และมีผู้โดยสารคับคั่งมากที่สุดติดอันดับที่ 17 ของประเทศ (ในปี 2560) ปัจจุบัน ท่าอากาศยานฯ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 23 ล้านคนต่อปี และรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ถึง 32,210 ตันต่อปี

  1. ท่าอากาศยานเผิงไหล เมืองเยียนไถ (Yantai Penglai International Airport)

ท่าอากาศยานเผิงไหล เมืองเยียนไถ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเมือง โดยเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาภูมิภาคอ่าวป๋อไห่ และเปิดประตูสู่โลก โดยได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2558 มีพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 90,000 ตารางเมตร ปัจจุบัน มีเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศกว่า 77 แห่ง ได้แก่ กรุงโซล โอซาก้า และนาโกย่า ในปี 2560 ท่าอากาศยานฯ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 6.5 ล้านคน และรองรับการขนถ่ายสินค้าถึง 51,000 ตันต่อปี

  1. ท่าอากาศยานนานาชาติสุ่ยปู้หลิง เมืองหลินอี๋ (Linyi Shubuling International Airport)

ท่าอากาศยานนานาชาติสุ่ยปู้หลิง เมืองหลินอี๋ ก่อตั้งขึ้นในปี 2477 เป็นท่าอากาศยานพลเรือนที่เก่าแก่ที่สุดในมณฑลซานตง และเป็นหนึ่งในท่าอากาศยานที่ปลอดภัยที่สุดและมีอัตราการเติบโตเร็วเป็นอันดับ 1 ในภาคตะวันออกของจีน โดยในปี 2561 (ม.ค. – พ.ย) รองรับผู้โดยสารได้ถึง 1.72 ล้านคน และเปิดให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศ 3 เส้นทาง ได้แก่ พัทยา (ประเทศไทย) ญาจาง (เวียดนาม) และเสียมราฐ (กัมพูชา)

  1. ท่าอากาศยานนานาชาติต้าสุ่ยปอ เมืองเวยไห่ (Weihai Dashuibo International Airport)

ท่าอากาศยานนานาชาติต้าสุ่ยปอ เมืองเวยไห่ เดิมเคยเป็นที่รู้จักในนามท่าอากาศยานกองทัพอากาศ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2539 ทำการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีการขัดข้องของอุปกรณ์มานานกว่า 21 ปี ในปี 2560 ประสบความสำเร็จในการรองรับผู้โดยสารได้สูงถึง 2 ล้านคน นอกจากนี้ เมืองเวยไห่ เป็นเมืองที่มีที่ตั้งอยู่ใกล้ประเทศเกาหลีใต้มากที่สุด ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโซลเพียง 45 นาที โดยเครื่องบิน ทำให้การไปมาหาสู่ระหว่างจีนและเกาหลีใต้มีความสะดวกสบายและรวดเร็ว

  1. ท่าอากาศยานนานาชาติเจียวตง เมืองชิงต่าว (Qingdao-Jiaodong International Airport) หรือสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของเมืองชิงต่าว

สนามบินนานาชาติเจียวตง จะเป็นสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของเมืองชิงต่าว ที่ตั้งอยู่ในเมืองเจียวโจว (เมืองระดับรองของเมืองชิงต่าว) มีระยะทางห่างจากใจกลางเมืองชิงต่าว 39 กิโลเมตร และห่างจากใจกลางเมืองเจียวโจว 11 กิโลเมตร หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ (สิ้นปี 2563) คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารจำนวน 35 ล้านคน และการขนส่งสินค้าทางอากาศปริมาณ 500,000 ตันต่อปี และจะกลายเป็นชุมทางขนส่งทางอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

 

                                                                                                                                                     จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว

เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลซานตง

1) แผนงาน/เป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 12 (ค.ศ. 2011 – 2015)

  • GDP เติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 9
  • เร่งดำเนินแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสีฟ้าคาบสมุทรซานตง พัฒนาให้เป็นเขตนำร่องการปฏิรูปเศรษฐกิจด้านทะเลและเป็นจุดเติบโตด้านเศรษฐกิจอันสำคัญในภาคตะวันออกจีน
  • พัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลกัน โดยภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจบริการครองสัดส่วนร้อยละ 7 ร้อยละ 48 ร้อยละ 45 ตามลำดับ
  • พัฒนาให้ความเป็นเมืองครองสัดส่วนร้อยละ 55 ขึ้นไป
  • พัฒนาให้เศรษฐกิจด้านทะเลครองสัดส่วนของ GDP ร้อยละ 23 ขึ้นไป
  • รายได้ทางการคลังของรัฐบาลเพิ่มร้อยละ 14
  • ยอดการขายปลีกของสินค้าผู้บริโภคเติบโตร้อยละ 15
  • การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เติบโตร้อยละ 15
  • อัตราการว่างงาน(ที่ลงทะเบียนแล้ว)ไม่เกินร้อยละ 4
  • รายได้ของประชาชนในเขตเมืองและเขตชนบทเติบโตร้อยละ 10

2) แผนงาน/เป้าหมายประจำปี ค.ศ. 2015

  • GDP เติบโตกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 8.5
  • การลงทุนในอสังหาริมทรพย์เติบโตร้อยละ 15
  • มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องร้อยละ 6
  • ยอดการขายปลีกของสินค้าผู้บริโภคเติบโตร้อยละ 12.5
  • รายได้ของงบประมาณการคลังสาธารณะเติบโตร้อยละ 9.5
  • สัดส่วนใน GDP ของมูลค่าด้านธุรกิจบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1
  • รักษาสัดส่วนงบประมาณด้าน R&D ให้มากกว่าร้อยละ 2.4 ของ GDP ซานตง
  • รายได้ของประชาชนในเขตเมืองและเขตชนบทเติบโตร้อยละ 9 และ 10 ตามลำดับ
  • รักษาดัชนีราคาผู้บริโภคให้อยู่ระดับร้อยละ 3
  • เพิ่มการจ้างงานใหม่ในเขตเมืองจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000,000 อัตรา ย้ายแรงงานในเขตชนบท 1,200,000 คนพร้อมกับรักษาให้อัตรการว่างงานในเขตชนบทไม่เกินร้อยละ 4
  • บรรลุเป้าหมายการประหยัดพลังงานและการลดการปล่อยมลพิษที่ประเทศกำหนด

ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

  • เป็นมณฑลที่มีปริมาณสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกมากถึง 1 ใน 4 ของจีน
  • มีมูลค่า GDP สูงเป็นอันดับ 3 ของจีน (รองจากมณฑลกวางตุ้งและเจียงซู)
  • เป็นแหล่งน้ำมันดิบสำคัญมากถึง 1 ใน 3 ของจีนและเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันชายฝั่งทะเลที่ใหญ่ที่สุดของจีน
  • มีท่าเรือชิงต่าวที่มีการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของจีนและเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
  • กลุ่มอาเซียนเป็นแหล่งนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของซานตง
  • เป็นจุดเชื่อมสำคัญในเขตการค้าเสรีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น

นโยบายส่งเสริมการลงทุน

  • รัฐบาลซานตงสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติลงทุนด้วยวิธีร่วมหุ้นกับบริษัทจีน โดยมีอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุนให้บริษัทต่างขาติลงทุนได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตระดับสูง อุตสาหกรรมไฮเทค ธุรกิจบริการสมัยใหม่ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจบริการ outsource ธุรกิจการท่องเที่ยว
  • รัฐบาลซานตงสนับสนุนบริษัทต่างชาติร่วมมือกับองค์กร R&D
  • รัฐบาลซานตงสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติก่อตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค ศูนย์ R&D ศูนย์บริหารการเงินและองค์กรอื่น ๆ ที่ซานตง
  • สนับสนุนบริษัทต่างชาติเข้าร่วม M&A ของบริษัทจีน และเข้าร่วมตลาดหุ้นภายในประเทศจีน

ตัวเลขทางเศรษฐกิจปี 2014

1) ตัวเลขสถิติภาพรวม

  • ผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP) 5,942,660 ล้านหยวน (+8.7%)
  • สัดส่วนภาคเกษตร : ภาคอุตสาหกรรม: ภาคธุรกิจบริการ เป็น 8.1 : 48.4 : 43.5

สถิติทางคุณภาพชีวิตประชาชน

2) ตัวเลขสถิติการค้า

การค้าระหว่างประเทศ

  • ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
  • สินค้านำเข้าสำคัญจากทั่วโลก ได้แก่ หินแร่ พลาสติก เครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ไม้ เหล็กกล้า ยางพารา
  • สินค้าสำคัญส่งออกไปทั่วโลก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญและอิเล็กทรอนิกส์ เชื้อเพลิง ปูนซีเมนต์ เหล็กกล้า ปุ๋ย สิ่งทอ ทองคำ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

3.) ตัวเลขสถิติการลงทุน

การลงทุนภายในประเทศ

การลงทุนระหว่างประเทศ

4) ตัวเลขสถิติภาคบริการ / การท่องเที่ยว

มีสถานที่ท่องเที่ยวระดับA 783 แห่ง โดยแบ่งเป็น สถานที่ชมวิวระดับ 5A 9 แห่ง ระดับ 4A 186 แห่ง

                                                                                                                                                     

                                                                                                                                                          จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว

Print