2.4 รถไฟแม็กเลฟ (Changsha Maglev Express)
2.4.1 Changsha Maglev Express เป็นรถไฟที่เคลื่อนด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้าลอยตัวเหนือราง (magnetically levitating : maglev) สายแรกที่ออกแบบ ผลิต และบริหารงานโดยจีนทั้งหมด ให้บริการภายในนครฉางซา ซึ่งกลายเป็นเมืองที่ 2 ของจีนที่เปิดเส้นทางเดินรถไฟฟ้าแม็กเลฟ ต่อจากมหานครเซี่ยงไฮ้ (เป็นแม็กเลฟที่จีนพัฒนาร่วมกับประเทศเยอรมนี ระยะทางรวม 30 กม. ความเร็วสูงสุด 430 กม./ชม. เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2545)
Changsha Maglev Express เริ่มก่อสร้างเมื่อ 16 พ.ค. 2557 เปิดทดลองวิ่งเมื่อ 26 ธ.ค. 2558 และเปิดให้ บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2559 ออกแบบและผลิตโดยบริษัท CRRC Zhuzhou Locomotive ร่วมกับมหาวิทยาลัยของจีน อาทิ National University of Defense Technology มีอัตราความเร็วระดับกลาง-ต่ำ (Medium-Low Speed Maglev Train) สามารถเร่งความเร็วสูงสุด 100 กม./ชม. เป็นรถไฟขนาด 3 ตู้ ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 363 คน เงินลงทุน 4,095 ล้านหยวน ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 4 ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี Medium-Low Speed Maglev Train ต่อจากเยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
Changsha Maglev Express มี 3 สถานี คือ สถานีสนามบินนานาชาติหวงฮัวฉางซา-สถานีหล่างหลี- สถานีรถไฟฉางซาสายใต้ (หรือสถานีรถไฟความเร็วสูง) ระยะทางรวม 18.55 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที ค่าบัตรโดยสารจากสถานีต้นทาง-สถานีปลายทางราคา 20 หยวน โดยมีผู้โดยสารใช้บริการวันละประมาณ 10,000 คน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 รถไฟแม็กเลฟเชิงพาณิชย์สัญชาติจีนตัวต้นแบบรุ่นที่ 2 ซึ่งสามารถทำความเร็วได้ 160 กม./ชม. ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพแล้ว และปัจจุบันบริษัท CRRC Zhuzhou Locomotive อยู่ระหว่างการพัฒนารถไฟแม็กเลฟเชิงพาณิชย์รุ่นที่ 3 ซึ่งกำหนดความเร็วที่ 200 กม./ชม. โดยรถไฟแม็กเลฟทั้ง 3 รุ่นล้วนใช้ชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ที่ผลิตในมณฑลหูหนานกว่าร้อยละ 90
2.4.2 โครงการก่อสร้างรถไฟแม็กเลฟเพื่อการท่องเที่ยวเมืองโบราณเฟิ่งหวง ในเขตฯ เซียงซี ได้เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2562 โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง Hunan Maglev Group กับรัฐบาลอำเภอเฟิ่งหวง ถือเป็นรถไฟแม็กเลฟเชิงพาณิชย์เส้นทางที่ 2 ที่สร้างและลงทุนโดยมณฑลหูหนาน ต่อจากรถไฟแม็กเลฟนครฉางซา คาดว่าโครงการดังกล่าวจะก่อสร้างเสร็จในปี 2564
2.5 รถไฟสินค้าหูหนาน-ยุโรป (Hunan-Europe Railway Express)
เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2557 โดยนครฉางซาถือเป็นเมืองที่เปิดให้บริการเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปที่มีศักยภาพ 10 อันดับแรกของจีน และยังเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนพัฒนาเส้นทางรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express)” ปัจจุบัน นครฉางซามีขบวนเดินรถกว่า 10 เส้นทางเชื่อมต่อไปหลายประเทศ เช่น ฮัมบูร์ก (เยอรมนี) ทาชเคนต์ (อุซเบกิสถาน) มินสก์ (เบลารุส) Malaszewicze และวอร์ซอ (โปแลนด์) บูดาเปสต์ (ฮังการี) เตหะราน (อิหร่าน) Tiburg (เนเธอร์แลนด์) มอสโก (รัสเซีย) เคียฟ (ยูเครน)
นอกจากจะมีนครฉางซาเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าไปยุโรป เอเชียกลาง และตะวันออกกลางแล้ว ยังขยายเส้นทางไปยังเมืองอื่นของมณฑลหูหนานอีก 4 เมือง ได้แก่ (1) เมืองจูโจว เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าไปมินสก์ (เบลารุส) และเมืองดุยส์บูร์ก (เยอรมนี) (2) เมืองหวยฮั่ว เปิดเส้นทางขนส่งสินค้า 4 เส้นทางไปยังมินสก์ (เบลารุส) มอสโก (รัสเซีย) เตหะราน (อิหร่าน) และทาชเคนต์ (อุซเบกิสถาน) (3) เมืองเหิงหยาง เปิดเส้นทางไปเมือง Biklyan (รัสเซีย) และ (4) เมืองเชินโจว เปิดเส้นทางไปเมือง Malaszewicze (โปแลนด์)
2.7 รถไฟไร้ราง
รถไฟไร้รางหรือการขับเคลื่อนอัตโนมัติระบบ Autonomous Rail Rapid Transit System (ART) ที่แรกของโลก วิจัยและผลิตโดยบริษัท CRRC Zhuzhou Institute จำกัด เปิดทดลองให้บริการเดินรถเมื่อเดือน พ.ค. 2561 ในตัวเมืองจูโจว (ห่างจากนครฉางซาประมาณ 75 กม.) รวม 4 สถานี ระยะทาง 3.1 กม. วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 70 กม./ชม. สามารถวิ่งบนถนนช่องเดินรถเดียวกับรถประจำทางได้ รถไฟไร้รางใช้เทคโนโลยีรางเสมือนในการควบคุม โดยใช้ระบบเซ็นเซอร์นำทางเดินรถ (ประกอบด้วยกล้องที่มีความคมชัดสูง ระบบ GPS และเรดาร์) และข้อมูลการเดินรถจะถูกส่งเข้าไปที่ “สมอง” หรือ หน่วยควบคุมส่วนกลางระบบ ART ซึ่งการขับเคลื่อนจะวิ่งบนเลนถนนตามแนวเส้นประสีขาว 2 เส้นแทนที่รางจริง จึงทำให้ประหยัดต้นทุนการสร้างรางได้อย่างมาก
ในด้านต้นทุนการผลิต รถไฟไร้รางจะใช้เงินลงทุน 1 ใน 5 ของรถรางทันสมัย (Modern Tram) โดยมีค่าใช้จ่ายในการผลิตและติดตั้งน้อยกว่า 1,000 ล้านหยวน เมื่อเทียบที่ระยะทาง 10 กิโลเมตร และหากเปรียบเทียบระหว่างรถไฟไร้รางกับรถเมล์แล้ว รถไฟไร้รางมีข้อดีคือ (1) รักษาสิ่งแวดล้อม (2) มีอายุการใช้งานถึง 30 ปี และ (3) สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก
ปัจจุบัน รถไฟไร้รางได้ทดลองเดินรถในหลายเมืองของจีน เช่น อำเภอหย่งซิ่ว (มณฑลเจียงซี) เมืองอี๋ปิน (มณฑลเสฉวน) เมืองเซี่ยเหมิน (มณฑลฝูเจี้ยน) และนครฮาร์บิน (มณฑลเฮยหลงเจียง)