ข้อมูลประชากร
ประชากรในกรุงปักกิ่งประกอบด้วยชนชาติทั้งหมด 56 ชนชาติ โดยมีชนชาติฮั่นเป็นประชากรส่วนใหญ่ นอกจากนั้นมีชนชาติหุย แมนจู มองโกเลีย และชนชาติอื่นๆ ในปี 2559 ประชากรของกรุงปักกิ่งมีจำนวน 21.73 ล้านคน มีอัตราการเกิด 9.32‰ และอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 5.2‰ ความหนาแน่นของประชากร 1,324 คนต่อตารางกิโลเมตร
สภาพภูมิอากาศ
กรุงปักกิ่งอยู่ในเขตภูมิอากาศอบอุ่น ฤดูกาลแบ่งเป็น 4 ฤดู ฤดูใบไม้ผลิ และใบไม้ร่วงมีระยะเวลาสั้นมาก ฤดูร้อนอากาศร้อนจัด และมีฝนมาก ขณะที่ฤดูหนาวอากาศแห้งและหนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 10 – 12 องศาเซลเซียส เดือนมกราคมอุณหภูมิเฉลี่ย -7 ถึง -4 องศาเซลเซียส
เดือนกรกฎาคมอุณหภูมิเฉลี่ย 25 – 26 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 600 มิลลิเมตร โดยปริมาณน้ำฝนในฤดูร้อนคิดเป็นร้อยละ 75 ของปริมาณน้ำฝนทั้งปี และในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก
ทรัพยากรสำคัญ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของปักกิ่งเป็นภูเขา ความไม่เหมาะสมของคุณภาพดินและคุณภาพน้ำ ทำให้การใช้ประโยชน์ของพื้นที่มีจำกัด โดยปักกิ่งมีทรัพยากรแร่ธาตุกว่า 67 ชนิดประกอบด้วยแร่เหล็ก หินปูน และแร่อื่นๆ โดยแร่หินปูน ใช้สำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ทราย ใช้สำหรับการทำอิฐและกระเบื้อง เหมืองแร่ซิลิคอนใช้สำหรับการทำปูนซีเมนต์ หิน Diorite ใช้สำหรับการทำเฟอร์นิเจอร์
– แหล่งพลังงาน
กรุงปักกิ่งได้สร้างสถานีพลังงานทดแทนสามแห่งในปี 2553 ในเขตเหมินโถวโกว ซุ่นอี้ และทงโจว โดยมีความสามารถในการผลิตพลังงานถึง 7.2 ล้านกิโลวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 40 ของความต้องการพลังงานของปักกิ่ง นอกจากนี้ ปักกิ่งยังได้ดำเนินโครงการพลังงานก๊าซธรรมชาติเฉาหุยเตี้ยน และจัดหาพลังงานก๊าซธรรมชาติ 8 ล้านคิวบิกเมตรต่อปี ในปี 2560 กรุงปักกิ่งวางแผนจะลดการใช้ถ่านหินลดลงร้อยละ 30 โดยมีปริมาณการการใช้ถ่านหินไม่เกิน 7 ล้านตัน
ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม
กรุงปักกิ่ง มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี เป็นเมืองหลวงโบราณของจีน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์เหลียว จิน หยวน หมิง และชิง รวม 5 ราชวงศ์ และเมื่อสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 (ค.ศ. 1949) รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสม์จีนก็ได้เลือกปักกิ่งให้เป็นเมืองหลวงของประเทศ
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พื้นที่กรุงปักกิ่งในปัจจุบัน เมื่อ 110 ปีก่อนคริสตกาลเป็นที่ตั้งของอาณาจักรจี้กั๋ว ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซีโจว ต่อมาเมื่อถึงสมัยกลางของยุคชุนชิว (770 – 476 ปีก่อนคริสตกาล) อาณาจักรเอียนกั๋วได้รวมอาณาจักรจี้กั๋วเข้าไว้ด้วยกัน
หลังจากนั้นอาณาจักรฉินกั๋ว (จิ๋นซีฮ่องเต้) ก็ได้ตีเอาจี้กั๋วมาเป็นของตนเมื่อ 226 ปีก่อนคริสตกาล ถึงปี 2024 (ค.ศ. 1481) อาณาจักรจี้กั๋วกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวงของแคว้นเหลียวซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยชนชาติชี่ตัน และตั้งชื่อใหม่ว่า เอียนจิง
ในเวลาต่อมาได้มีการสถาปนาราชวงศ์จิน และได้ย้ายเมืองหลวง มาอยู่ที่เอียนจิงในปี 2239 (ค.ศ.1696) โดยเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น จงตู ต่อมาราชวงศ์จินถูกรุกรานโดยชาวมองโกล จึงได้ย้ายเมืองหลวงไปที่เปี้ยนจิง (เมืองไคฟง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน)
หลังจากนั้น ราชวงศ์หยวนก็ได้สถาปนาขึ้นภายใต้การปกครองของชาวมองโกล และตั้งให้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงในปี 2353 (ค.ศ.1810) จากนั้นปักกิ่งก็ถูกตั้งให้เป็นเมืองหลวงเรื่อยมาในสมัยราชวงศ์หมิง และชิง จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2492 เมื่อจีนเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ ก็ได้กำหนดให้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจนถึงปัจจุบัน
โบราณสถานในปักกิ่งที่ตกทอดสืบต่อมาและมีปรากฏให้เห็นจนถึงทุกวันนี้มีมากมาย เช่น พระราชวังต้องห้าม กำแพงเมืองจีน หอบูชาฟ้า พระราชวังฤดูร้อน สุสานสิบสามกษัตริย์ เป็นต้น สถานที่เหล่านี้ล้วนเป็นมรดกทางประศาสตร์อันสำคัญทั้งของจีน และของโลก