Standard & Poor’s เตือน ความเสี่ยงการล่มสลายทางเศรษฐกิจของจีนติดอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากการลงทุนมีสัดส่วนมากเกินไป
5 Feb 2013เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 56 นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard and Poor’s หรือ “S&P” เห็นว่า S&P ได้พบวิธีง่ายๆ สำหรับการประเมินว่า ระบบเศรษฐกิจหนึ่งมีการใช้จ่ายมากเกินไปหรือไม่ โดยใช้วิธีจัดอันดับความเสี่ยงการล่มสลายทางเศรษฐกิจเนื่องจากการลงทุนที่มากเกินไป ซึ่งการประเมินของ S&P ปรากฏว่า จีนติดอันดับแรกของโลกที่มีความเสี่ยงการล่มสลายทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน ในประเทศจีน ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โรงงานและบ้านพักมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจมวลรวม และหลังจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของจีนทยอยประกาศเป้าหมายทางเศรษฐกิจในปี 2556 เห็นได้ชัดว่า บทบาทของการลงทุนในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่มากยิ่งขึ้น
S&P เห็นว่า สามารถจัดอันดับความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจต่างๆ โดยใช้วิธีเปรียบเทียบอัตราส่วนของการลงทุนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กับ GDP ที่แท้จริง ซึ่งในบรรดา 32 ประเทศที่ S&P ทำการประเมิน จีนเป็นประเทศเดียวเท่านั้นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศระดับความเสี่ยงสูง ขณะที่ประเทศที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางได้แก่ บราซิล ออสเตรเลีย อินโดนีเซียและแอฟริกาใต้ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 4 ประเทศดังกล่าวได้เพิ่มการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการทางทรัพยากรธรรมชาติของจีน ขณะที่สหรัฐอเมริกา ไต้หวันและเยอรมันอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงระดับต่ำสุด ซึ่งเป็นประเทศหรือเขตเศรษฐกิจที่สภาพการลงทุนอยู่ในระดับต่ำและคงที่
สำหรับรูปแบบการจัดอันดับระดับความเสี่ยงของ S&P นักเศรษฐศาสตร์จีนบางท่านแสดงความคิดเห็นที่ต่างออกไป โดยนายจาง จูน รองอธิบดีคณะเศรษฐศาสตร์ Fudan University เห็นว่า ในภาคกลางและภาคตะวันตกที่เศรษฐกิจพัฒนาไม่เท่าเทียมกับภาคตะวันออกและชายฝั่งทะเลของจีน การลงทุนขนาดใหญ่ในสินทรัพย์ถาวรยังเป็นสิ่งที่จำเป็น การที่ S&P จัดอันดับระดับความเสี่ยงเช่นนี้ ไม่ได้คำนึงถึงประเทศต่างๆ ที่อยู่ในช่วงพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน ตลอดจนระดับรายได้ที่ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ แทนที่จะมองแค่ว่าการลงทุนของจีนมีสัดส่วนเท่าไรของ GDP ควรมองด้วยว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนประเภทใด หากการลงทุนนั้นใช้ไปเพื่อปรับปรุงอุปกรณ์และเทคโนโลยีของภาคการผลิต และช่วยเพิ่มอัตราผลผลิตต่อหัวและอัตรา GDP ต่อหัว ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มการลงทุนที่จำเป็น ซึ่งไม่น่าจะเกิดปัญหามาก
อย่างไรก็ตาม การลงทุนของจีนโดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร รัฐบาลท้องถิ่นเป็นฝ่ายจัดหาเงินที่ใหญ่ที่สุด และตามกระแสความรวดเร็วของการลงทุนของจีนที่เพิ่มขึ้น สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างประเทศเริ่มกลับมาให้ความสนใจความเสี่ยงในการจัดหาเงินทุนของรัฐบาลท้องถิ่นจีนมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา Fitch Ratings ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กรธุรกิจได้เตือนว่า เนื่องจากความเสี่ยงทางหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นจีนมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Fitch Ratings อาจพิจารณาลดอันดับความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจจีน