NDRC: 6 มณฑลภาคกลางพัฒนาแซงภาคตะวันออกติดกันเป็นปีที่ 5
3 Jul 2013หลังจากคณะรัฐมนตรีจีนสร้างกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนา 4 ภาคของจีนขึ้นมา ได้แก่ “การพัฒนานำร่องของภาคตะวันออก” “การเร่งพัฒนาภาคตะวันตก” “การฟื้นฟูฐานอุตสาหกรรมเก่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” และ “การผงาดขึ้นของภาคกลาง” ในเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา ทางการจีนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคกลางจีนมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.56 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) เผยว่า การพัฒนาของ 6 มณฑลภาคกลางเร็วกว่าภาคตะวันออกจีนติดกันเป็นปีที่ 5 แล้ว
ทั้งนี้ 6 มณฑลในภาคกลางจีนได้แก่ มณฑลซานซี มณฑลอันฮุย มณฑลเจียงซี มณฑลเหอหนาน มณฑลหูเป่ย และมณฑลหูหนาน ซึ่ง 6 มณฑลดังกล่าวมีจำนวนประชากร 361 ล้านคน ครองสัดส่วนร้อยละ 28.1 ของประชากรจีนทั้งหมด ภาคกลางจีนอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรถ่านหิน และยังผลิตอาหารสัดส่วนร้อยละ 40 ของการผลิตอาหารทั้งหมดของจีน ทำให้ภาคกลางมีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงทางพลังงานและอาหารของจีน
ในเมื่อปี 2554 ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ 6 มณฑลภาคกลางทะลุ 1 ล้านล้านหยวนทุกมณฑล และเมื่อปี 2555 อัตราเติบโตเฉลี่ยของ GDP ใน 6 มณฑลภาคกลางอยู่ที่ร้อยละ 10.9 สูงกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของทั่วประเทศจีนร้อยละ 3 นอกจากนี้ สัดส่วนของมูลค่าทางเศรษฐกิจ 6 มณฑลภาคกลางในมูลค่าทางเศรษฐกิจของทั่วประเทศจีนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.8 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 20.2 ในปัจจุบัน ซึ่งแสดงว่า ภาคกลางมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการผลักดันพัฒนาเศรษฐกิจของจีน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจจีนโดยรวมในครึ่งปีแรกปีนี้ชะลอตัว อัตราเติบโตของเศรษฐกิจภาคกลางจีนก็ลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของภาคกลางจีนต่อไป เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา NDRC ได้ประกาศ งานสำคัญในการส่งเสริมการผงาดขึ้นของภาคกลางประจำปี 2556 ซึ่งถือว่าเป็นการลงรายละเอียดในการพัฒนาภาคกลางจีน นายเย่ ชิง รองอธิบดี กรมสถิติมณฑลหูเป่ย เห็นว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาคชายฝั่งทะเลของจีนกำลังย้ายฐานไปยังภาคกลาง ความได้เปรียบทางด้านแรงงานและที่ดินก็สร้างโอกาสที่ดีให้ภาคกลางในการรองรับอุตสาหกรรมที่ย้ายมาจากภาคตะวันออก
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายของจีนที่จะสร้างภาคกลางเป็น “3 ฐานผลิต 1 ศูนย์กลาง” ได้แก่ ฐานผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ทางเกษตร ฐานพลังงานและวัตถุดิบ ฐานการผลิตอุปกรณ์ที่ทันสมัยและอุตสาหกรรมไฮเทค และศูนย์กลางคมนาคมและการขนส่งระดับชาติ ภาคกลางจีนจะเร่งปรับปรุงและอัพเกรดอุตสาหกรรมแบบตั้งเดิม อาทิ เหล็กกล้า ปิโตเคมี โลหะมีสี การต่อเรือ รถยนต์ เครื่องจักรขนาดใหญ่ อุปกรณ์รถไฟ อุปกรณ์การแปลงและจ่ายไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับผู้ประกอบธุรกิจไทย ธุรกิจส่วนใหญ่จะกระจายในภาคตะวันออกของจีนที่มีความหนาแน่นพอสมควรอยู่แล้ว ซึ่งการผงาดขึ้นภาคกลางจีน น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบธุรกิจไทยที่เกี่ยวข้อง ต้องติดตามกันต่อไป