GDP นครฉงชิ่งเกิน ๒.๓ล้านล้านหยวนใน ๓ไตรมาสแรก โตขึ้นร้อยละ ๖
1 Nov 2024
เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๗ สำนักงานสถิติแห่งนครฉงชิ่งได้เปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของนครฉงชิ่งในช่วง ๓ ไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๗ มีมูลค่ารวม ๒.๓๒ พันล้านหยวน (๓๖๒.๕ ดอลลาร์สหรัฐ) โดยคิดตามราคาคงที่แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แสดงถึงการเติบโตที่มั่นคงและมีแนวโน้มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ในช่วงเวลาดังกล่าว อุตสาหกรรมการผลิตขั้นปฐมภูมิมีมูลค่าเพิ่ม ๑๔๘.๖๘ ล้านหยวน (๒๓.๑๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๙ อุตสาหกรรมการผลิตขั้นทุติยภูมิมีมูลค่าเพิ่ม ๘๙๙.๑๓ พันล้านหยวน (๑๔๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๗ และอุตสาหกรรมการผลิตขั้นตติยภูมิมีมูลค่าเพิ่ม ๑.๒๗ พันล้านหยวน (๑๙๘.๔๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๘
สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในนครฉงชิ่งมีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๑ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์และเคมีเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโต โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๕.๙ และ ร้อยละ ๑๖.๘ ตามลำดับ ในขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคก็มีการเติบโตที่มั่นคง รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร
นอกจากนี้ ในช่วง ๓ ไตรมาสแรก นครฉงชิ่งผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ได้ถึง ๕๙๔,๓๐๐ คัน เพิ่มขึ้น ๑.๓ เท่า และจอแสดงผลแบบคริสตัลเหลว ๒๘๘ ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๕.๖
ในด้านการบริการ บริษัทในภาคบริการของนครฉงชิ่งที่มีขนาดใหญ่ มีรายได้รวม ๔๒๐.๕๔ พันล้านหยวน (๖๕.๓๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง ๘ เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๙ และการค้าปลีกมีมูลค่ารวม ๑.๑๗ ล้านล้านหยวน (๑๖๒.๒๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๘ โดยรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๒.๖ และรายได้จากการบริการอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐.๔
โดยภาพรวมเศรษฐกิจของนครฉงชิ่งยังคงเติบโตในทิศทางที่ดี และการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ขยายตัว อย่างต่อเนื่อง และมีการเร่งสร้างระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่เพื่อการพัฒนาที่มีคุณภาพ
การเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของนครฉงชิ่งสามารถเป็นประโยชน์กับไทยในหลายด้าน การเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่และการเติบโตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทย ในการส่งออกวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจในด้านยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ การพัฒนาด้านพลังงานใหม่ของนครฉงชิ่งยังเปิดโอกาสให้ไทยเรียนรู้และนำเทคโนโลยี มาปรับใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในประเทศได้อีกด้วย อีกทั้งการที่เศรษฐกิจของนครฉงชิ่ง
มีแนวโน้มที่มั่นคง การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคการค้าปลีกและบริการจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างไทยและจีนให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ที่มา: เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๗
๑. https://www.chinanews.com.cn/cj/2024/10-22/10305765.shtml
ที่มา: เข้าถึงรูปภาพวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๗
๑. https://co.699pic.com/detail/picture/500881020?click_type=6