GDP กว่างซีโตกระฉูด 10.2% สวนกระแสเศรษฐกิจจีนที่ยังคงอ่อนแรง
26 Oct 2013กรมสถิติเขตฯ กว่างซีจ้วง : ช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 56 ภาพรวมเศรษฐกิจของกว่างซียังคงรักษาระดับการเติบโตได้ดี แต่ยังห่างจากเป้าหมายที่วางไว้เล็กน้อย
เศรษฐกิจระดับมหภาค พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกว่างซีมีมูลค่า 900,722 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 10.2 (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 2.5 จุด)
อย่างไรก็ดี ปี 56 ทางการกว่างซีได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 11 (นักวิเคราะห์ประเมินว่า ทุกฝ่ายต้องเร่งทำงานหนักในช่วงไตรมาส 4)
ภาคอุตสาหกรรม แม้ว่ามูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะมีการขยายตัวร้อยละ 12.7 ทว่า อัตราขยายตัวกลับชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งปีแรกร้อยละ 0.2 จุด สาเหตุหลักมาจากนโยบายควบคุมเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลกลาง
ตัวอย่างเช่น นโยบายกำจัดอุตสาหกรรมล้าสมัยและควบคุมอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน (Over Supply) เพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้อุตสาหกรรมหลักในกว่างซีได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโลหะมีสี อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นต้น
ภาคการลงทุน พบว่า การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (ที่มีมูลค่าโครงการการลงทุนมากกว่า 5 ล้านหยวน) มีมูลค่า 775,124 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 22.4
ในจำนวนข้างต้นเป็นการลงทุนของภาคเอกชน มูลค่า 501,916 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 28.0 (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.8 ของการลงทุนรวมสินทรัพย์ถาวรทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8 จุด
การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่า 107,000 ล้านหยวน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.2 (ชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งปีแรกร้อยละ 5.4 จุด) พื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ลดลงร้อยละ 3.3 ทว่า พื้นที่จำหน่ายและมูลค่าจำหน่ายบ้านพักอาศัยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 และร้อยละ 26.5 ตามลำดับ
ภาครายได้ รายได้เฉลี่ยของประชาชนอยู่ที่ 18,626 หยวน แบ่งเป็น รายได้ที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ของประชาชนในเขตเมือง 17,326 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 (หักปัจจัยเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจริงร้อยละ 7.6) และรายได้ในรูปเงินสดของประชาชนในเขตชนบท 6,154 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 (หักปัจจัยเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจริงร้อยละ 11.3)
อย่างไรก็ดี อัตราขยายตัวภาครายได้ของประชาชนในเขตเมืองและเขตชนบทยังคงห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งค่อนข้างมาก โดยรายได้ของประชาชนเขตเมืองตั้งเป้าขยายตัวร้อยละ 13 และเขตชนบทร้อยละ 14)
ดัชนี (ปี 56) |
รายได้ของประชาชนในเขตเมือง |
รายได้ของประชาชนในเขตชนบท |
||||
มูลค่า(หยวน) |
ขยายตัว |
หักเงินเฟ้อ |
มูลค่า(หยวน) |
ขยายตัว |
หักเงินเฟ้อ |
|
ไตรมาสแรก |
6,646 |
11.6 |
9.7 |
6,154 |
13.5 |
11.3 |
ไตรมาสสอง |
11,845 |
9.5 |
7.9 |
4,264 |
13.0 |
11.3 |
ไตรมาสสาม |
17,326 |
9.6 |
7.6 |
2,301 |
13.8 |
11.9 |
ภาคการใช้จ่าย พบว่า การค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 366,712 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 13.4 (เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกร้อยละ 0.1 จุด) สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคชนบทมีอัตราขยายตัวรวดเร็วกว่าในเขตเมือง
กอปรกับ ช่วงไตรมาสที่ 3 ตรงกับช่วงเทศกาลต่าง ๆ ของจีน ช่วยกระตุ้นความต้องการบริโภคได้เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ
ข้อสังเกต มูลค่าค้าปลีกสินค้ากลุ่มอัญมณีเครื่องประดับ เงิน และทอง มีอัตราขยายตัวสูง เป็นผลมาจากราคาทองคำตกเป็นสำคัญ
อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภคมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 (เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.3 จุด) แบ่งเป็น เขตเมือง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 และเขตชนบท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการ 8 กลุ่มใหญ่ พบว่า “6 เพิ่ม 1 เท่าเดิม 1 ลด” โดยราคาสินค้ากลุ่มอาหาร (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3) เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ราคาพืชผักสดนำเป็นอันดับหนึ่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7)
ภาคการค้าต่างประเทศ มีมูลค่า 22,936 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.8 (เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกร้อยละ 14.1 จุด) เป็นผลพวงมาจากการขยายตัวของการค้าชายแดนเป็นหลัก
นักวิเคราะห์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่การค้าต่างประเทศของกว่างซีมีการขยายตัวสวนกระแสเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นผลมาจาก 1. มูลค่าการค้ายังมีไม่สูง ดังนั้น เมื่อมูลค่ากาค้ามีการเพิ่มหรือลดลงเพียงเล็กน้อยก็สามารถเห็นถึงระดับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน และ 2. การสนับสนุนเชิงนโยบายทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น
ภาคการจ้างงาน พบว่า มีอัตราการจ้างงานเพิ่มใหม่ในเขตเมือง 435,600 คน มีอัตราการจ้างงานใหม่สำหรับผู้ว่างงานในเขตเมือง 84,200 คน มีอัตราการจ้างงานสำหรับผู้พิการหรือทุพลภาพ 26,600 คน และมีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.3