สรุปภาวะเศรษฐกิจจีนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568
19 Mar 2025ภาพรวม
เมื่อ 17 มีนาคม 2568 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) แถลงภาวะเศรษฐกิจจีนในช่วงมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีสาระสำคัญ
(1) ในภาพรวม ปี 2568 เศรษฐกิจจีนเริ่มต้นอย่างมีเสถียรภาพจากแนวโน้มการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4/67
(2) ตัวชี้วัดที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ การบริโภค การลงทุน และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนขยายตัวเร็วขึ้นที่ร้อยละ 4 และร้อยละ 4.1 และร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ ขณะที่ภาคการส่งออกขยายตัวน้อยลงที่ร้อยละ 2.3 เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ พฤษภาคม 2567 นอกจากนี้ ในกุมภาพันธ์ 2568 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนลดลงร้อยละ 0.7 นับเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 13 เดือน
(3) NBS สรุปว่า การเริ่มต้นเศรษฐกิจจีนอย่างมีเสถียรภาพในปี 2568 เป็นผลงานที่ได้มาไม่ง่ายจากผลกระทบภายนอกที่เพิ่มขึ้นและฐานตัวเลขที่สูงในช่วงเดียวกันของปี 2567 ทั้งนี้ ในปี 2568 จีนจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่กำหนดในการประชุม CEWC และการประชุมสองสภาฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจของปี 2568 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 (2564 – 2568) และวางพื้นฐานที่ดีในการเริ่มต้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 15 (2569 – 2573)
การบริโภคขยายตัวเร็วขึ้น
ในช่วงมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568 ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สูงกว่าระดับร้อยละ 3.7 ใน ธันวาคม 2567 โดย
(1) ยอดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและโทรศัพท์มือถือขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 10 จากนโยบาย “เก่าแลกใหม่”
(2) จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศในช่วงวันหยุดตรุษจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9
(3) ยอดค้าปลีกค้าออนไลน์เติบโตสูงขึ้นที่ร้อยละ 7.3
(4) ยอดจำหน่ายรถยนต์ติดลบที่ร้อยละ 4.4
(5) ล่าสุดเมื่อ 16 มีนาคม 2568 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศแผนงานและ 30 มาตรการกระตุ้นการบริโภค รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ การจัดทำนโยบายเงินอุดหนุนเลี้ยงดูบุตร และการใช้พันธบัตรระยะยาวพิเศษเพื่อสนับสนุนนโยบาย “เก่าแลกใหม่” ต่อไป เป็นต้น
การลงทุน
ในช่วงมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีนมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบจากอัตราการเติบโตภาคการลงทุนในตลอดปี 2567 (ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1) และเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.2 หากไม่รวมการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์การเติบโตจะสูงถึงร้อยละ 8.4 โดยปัจจัยหลักมาจาก
(1) การลงทุนในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 แม้ชะลอตัวลงเล็กน้อยแต่ยังคงเติบโตในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายสนับสนุนการอัพเกรดเครื่องจักรและอุปกรณ์
(2) การลงทุนในสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 สูงกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของทั้งปี 2567 ที่ร้อยละ 4.4 โดยเฉพาะการลงทุนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ สิ่งแวดล้อม และสาธารณูปโภค อย่างไรก็ตาม
(3) การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 9.8 โดยยอดขายบ้านใหม่ (แบบนับเป็นพื้นที่รวม) ลดลงร้อยละ 5.1 ทั้งนี้ ช่องว่างการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภาคเอกชนลงทุนลดลงประมาณร้อยละ 0.1 ซึ่งยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2567 ขณะที่การลงทุนจากภาครัฐเติบโตร้อยละ 7 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 5.7
การส่งออกขยายตัวน้อยลง
ในช่วงมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568 หากคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่พฤษภาคม 2567 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าติดลบที่ร้อยละ 8.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สิงหาคม 2566 ทั้งนี้ สถิติการส่งออกและการนำเข้าของจีนต่ำกว่าคาดการณ์ทั้งคู่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับเพิ่มภาษีของสหรัฐฯ โดยในมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568 จีนส่งออกอุปกรณ์เครื่องจักรไฟฟ้าเติบโตน้อยลงที่ร้อยละ 4.2 และการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าลดลงร้อยละ 2 และร้อยละ 6.9 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าถ่านหินและแร่เหล็กหดตัวร้อยละ 18.5 และร้อยละ 30 ตามลำดับ
กำลังการผลิตคุณภาพใหม่ (new quality productive forces)
ในช่วงมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568 เศรษฐกิจ จีนแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาในหลายด้านที่สนับสนุนการเติบโตของกำลังการผลิตคุณภาพใหม่ ดังนี้
(1) อุตสาหกรรมเกิดใหม่ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 โดยเฉพาะแผ่นเวเฟอร์ที่มีวงจรรวม (+ร้อยละ 19.6) หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (+ร้อยละ 27) ขบวนรถไฟ (+ร้อยละ 64) และโดรนพลเรือน (+ร้อยละ 91.5)
(2) เศรษฐกิจดิจิทัลมีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง การผลิตในอุตสาหกรรมดิจิทัลเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 โดยเฉพาะผลผลิตอุปกรณ์เครื่องพิมพ์ 3D (+ร้อยละ 30.2) และผลผลิตอุปกรณ์เสมือนจริง (+ร้อยละ 37.7)
(3) เศรษฐกิจสีเขียวเติบโตอย่างมั่นคง โดยเฉพาะการผลิตพลังงานลม (+ร้อยละ 10.4) พลังงานแสงอาทิตย์ (+ร้อยละ 27.4) ยานยนต์ไฟฟ้า (+ร้อยละ 47.7) แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ (+ร้อยละ 35.4) และพลาสติกผสมเส้นใยคาร์บอนเสริมแรงหรือ CFRP (+ร้อยละ 51.5)
(4) การเปลี่ยนผ่านและการอัปเกรดอุตสาหกรรมดำเนินไปอย่างมั่นคง โดยการลงทุนในการยกระดับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ซึ่งปัจจุบันจีนมีโรงงานอัจฉริยะระดับพื้นฐานมากกว่า 30,000 แห่ง โรงงานอัจฉริยะระดับขั้นสูงกว่า 1,200 แห่ง และโรงงานอัจฉริยะระดับยอดเยี่ยมกว่า 230 แห่ง
ที่มาของข้อมูล
http://www.scio.gov.cn/live/2025/35525/tw/
https://economy.caixin.com/2025-03-17/102299050.html
https://www.gov.cn/zhengce/202503/content_7013808.htm
https://economy.caixin.com/2025-03-17/102299024.html