สรุปภาวะเศรษฐกิจจีนเดือน สิงหาคม 2567
18 Sep 2024ภาพรวมเศรษฐกิจจีน
เมื่อ 14 ก.ย. 2567 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) แถลงว่า ใน ส.ค. 2567 เศรษฐกิจจีนเผชิญกับสภาพแวดล้อมในประเทศและต่างประเทศที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น รวมทั้งได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนจัดและภัยธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำท่วม อย่างไรก็ดี NBS ระบุว่า หากมองจากตัวชี้วัดสำคัญ อาทิ ราคาสินค้า การจ้างงาน และดุลบัญชีระหว่างประเทศ เศรษฐกิจจีนได้รักษาเสถียรภาพในภาพรวม แต่ก็เผชิญกับปัญหาอุปสงค์ในประเทศไม่เพียงพอ และธุรกิจบางสาขามีความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งเห็นว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3/2567 อัตราการเติบโตของ GDP จีนอาจต่ำกว่าระดับไตรมาสที่ 2/2567 (ร้อยละ 4.7) และอาจส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมาย เศรษฐกิจจีนในปีนี้ (ประมาณร้อยละ 5)
การบริโภคชะลอตัว
ใน ส.ค. 2567 ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ และต่ำกว่าระดับร้อยละ 2.7 ใน ก.ค. 2567 โดยได้รับผลกระทบจากประชาชนยังคงขาดความเชื่อมั่นต่อการบริโภค โดยแม้ว่าจะเป็นช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน แต่การบริโภคที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง อาทิ (1) การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) อัตราการเติบโตของการบริโภคเสื้อผ้าและรองเท้าลดลงเหลือร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ (3) การบริโภครถยนต์ลดลงร้อยละ 7.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ มี.ค. 2566 อย่างไรก็ดี การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 3.3 และการบริโภคสินค้าจำเป็นโดยเฉพาะน้ำมันพืชและอาหารเพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
การส่งออกขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 17 เดือน
เมื่อ 10 ก.ย. 2567 สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) แถลงว่า ใน ส.ค. 2567 มูลค่าการส่งออกจีนเติบโตร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.2) ขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 17 เดือน เนื่องจากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความต้องการสินค้าด้านเทคโนโลยีและอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีระดับสูงที่ส่งออกเติบโตร้อยละ 12.4 และ 9.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าของจีนเติบโตเพียงร้อยละ 0.5 (คาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9) เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ส่งผลให้จีนได้ดุลการค้าสูงถึง 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อนึ่ง ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 อาเซียนยังคงเป็น คู่ค้ารายใหญ่สุดของจีน โดยมูลค่าการค้าจีน – อาเซียนอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 15 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีนในช่วงดังกล่าว
การลงทุนในประเทศ
ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 การลงทุนสินทรัพย์ถาวรของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากระดับร้อยละ 3.6 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 ประกอบด้วย (1) การลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตเติบโตร้อยละ 9.1 ลดลงจากระดับร้อยละ 9.3 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 (2) การลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานลดลงมากขึ้นที่ร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นและอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในช่วงฤดูร้อน และ (3) การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 10.2 โดยพื้นที่และยอดจำหน่ายบ้านลดลงร้อยละ 12.6 และ 17.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของจีนในภาพรวม
การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI)
เมื่อ 14 ก.ย. 2567 กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 FDI ของจีนมีมูลค่า 5.8 แสนล้านหยวน ลดลงร้อยละ 31.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ในช่วง 7 เดือนแรกลดลงร้อยละ 29.6) มีการจัดตั้งบริษัททุนต่างชาติใหม่รวม 31,654 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย (1) FDI ในอุตสาหกรรมการผลิตคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.9 และ (2) เยอรมนีและสิงคโปร์ลงทุนในจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4 และร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ในช่วงที่ผ่านมา มีคณะผู้บริหารบริษัทข้ามชาติมาเยือนจีนบ่อยครั้งและเข้าร่วมงาน “Invest in China” โดยงาน China International Fair for Investment & Trade (CIFIT) ครั้งที่ 24 ที่จัดขึ้นที่เมืองเซี่ยเหมิน มีคณะผู้แทนจากประเทศ / เขต 120 แห่ง องค์กรระหว่างประเทศ 18 แห่ง และผู้บริหารบริษัทข้ามชาติ 70 คนเข้าร่วมงานดังกล่าว
แหล่งที่มา :
https://economy.caixin.com/2024-09-14/102237001.html
https://economy.caixin.com/2024-09-14/102237001.html
https://economy.caixin.com/2024-09-14/102236750.html
https://economy.caixin.com/2024-09-10/102235213.html
http://www.xinhuanet.com/20240910/ae7b1cb21ab44570935b10755ef994f5/c.html
https://economy.caixin.com/2024-09-14/102236743.html
https://www.mofcom.gov.cn/xwfb/rcxwfb/art/2024/art_a576f6d8956b41119a290bb43902f5fe.html
https://www.mofcom.gov.cn/xwfb/sjfzrfb/art/2024/art_e9e64b1b2b744bdcaa55f3e55da0f24f.html