สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) สรุปผลงานเศรษฐกิจและสังคมจีน 75 ปี
23 Sep 2024พัฒนาการของปริมาณ GDP ระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ
ในเดือน ก.ย. 2567 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ได้ทยอยประกาศรายงานผลงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนเนื่องในโอกาสการครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2567 ทั้งนี้ (1) ในปี ค.ศ. 1952 สัดส่วน GDP ของ 4 ภูมิภาคอยู่ที่ภาคตะวันออกร้อยละ 41.9 ภาคกลางร้อยละ 23.8 ภาคตะวันตกร้อยละ 20.7 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 13.7 (2) ในปี 2566 สัดส่วนของภาคตะวันออกจีนเพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 52.1 และเป็นระดับสูงกว่าร้อยละ 50 ต่อเนื่อง 31 ปี สัดส่วนของภาคกลางลดลงเล็กน้อย (ร้อยละ 21.6) ภาคะวันตกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ร้อยละ 21.5) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงเหลือร้อยละ 5 และ (3) ปริมาณ GDP ของแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี (YREB) คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 46.7 ของจีน
ความสำเร็จด้านพลังงาน
ในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จด้านพลังงานอย่างโดดเด่น โดยเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสำเร็จที่สำคัญ เช่น (1) จีนกลายเป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยในปี 2566 ผลิตพลังงานขั้นต้น 4.83 พันล้านตัน เพิ่มขึ้น 202.6 เท่าจากปี ค.ศ. 1953 (2) ตั้งแต่ปี 2555 การผลิตพลังงานของจีนได้เปลี่ยนแปลงจากพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานใหม่ (3) ในปี 2566 สัดส่วนของพลังงานจากถ่านหินลดลงเหลือร้อยละ 66.6 ในขณะที่พลังงานสะอาด เช่น ก๊าซธรรมชาติ พลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานใหม่ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27.2 (4) การบริโภคพลังงานสะอาดเติบโตอย่างรวดเร็ว จากสัดส่วนร้อยละ 14.5 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 26.4 ในปี 2566 และ (5) การใช้พลังงานต่อหน่วย GDP ลดลงอย่างต่อเนื่อง หากนับตั้งแต่แผนพัฒนาฯ 5 ปี ฉบับที่ 11 (ค.ศ. 2006 – 2010) ลดลงสะสมถึงร้อยละ 43.8 หรือลดลงเฉลี่ยร้อยละ 3.1 ต่อปี เป็นต้น
พัฒนาการของตลาดบริโภคจีน
ในเดือน ก.ย. 2567 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ได้ทยอยประกาศรายงานผลงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนเนื่องในโอกาสการครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2567 ทั้งนี้ สำหรับการพัฒนาตลาดบริโภคของจีน (1) เมื่อปี 2561 จีนกลายเป็นตลาดบริโภคใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ซึ่งการบริโภคเป็นแรงขับเคลื่อนอันดับแรกของเศรษฐกิจจีน (2) ณ สิ้นปี 2566 จีนมีจำนวนบริษัทประกอบธุรกิจการค้าปลีกและการค้าส่งมากกว่า 10 ล้านแห่ง เพิ่มขึ้น 77 เท่า เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 1952 และมีบริษัทประกอบธุรกิจที่พักและอาหาร/เครื่องดื่มมากกว่า 7 แสนแห่ง เพิ่มขึ้น 724 เท่า เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 1952 (3) ณ สิ้นปี 2566 ชาวเน็ตจีนมีจำนวน 1,092 ล้านคน และมีผู้ใช้บริการซื้อของออนไลน์ 915 ล้านคน ซึ่งยอดค้าปลีกสินค้าออนไลน์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.6 ของยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดของจีน และ (4) เมื่อเดือน ก.พ. 2567 จีนมีแบรนด์เก่าแก่ (เหล่าจื้อห้าว) 1,455 แบรนด์ มีประวัติความเป็นมาเฉลี่ย 140 ปี ซึ่งร้อยละ 60 เป็นธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และการค้าปลีก
พัฒนาการขยายตัวของสังคมเมืองของจีน (urbanization)
(1) ณ สิ้นปี 2566 อัตราความเป็นเมืองของจีนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 66.16 จากร้อยละ 10.64 ใน ค.ศ. 1949 (เฉลี่ยร้อยละ 0.75 ต่อปี) ถือว่ามีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก (2) ณ สิ้นปี 2566 จีนมีพื้นที่เมืองทั้งหมด 62,038 ตร.กม. เพิ่มขึ้นจาก 7,438 ตร.กม. ใน ค.ศ. 1981 (เพิ่มขึ้น 7.3 เท่า) (3) ณ สิ้นปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในเขตเมืองอยู่ที่ 77 ล้านล้านหยวน (ร้อยละ 61.1 ของทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจาก 7.025 ล้านล้านหยวน (ร้อยละ 50.7 ของทั้งหมด) (4) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจีนผลักดันการพัฒนาเมืองใหม่อย่างเข้มข้น การยกเลิกข้อจำกัด การย้ายถิ่นฐานในเมืองที่มีประชากรต่ำกว่า 3 ล้านคนเป็นปัจจัยเร่งการเปลี่ยนแปลงจากชนบทสู่เมือง และบริการสาธารณะที่ครอบคลุมประชากรที่อยู่อาศัยในเมืองมากขึ้นทำให้อัตราส่วนรายได้เฉลี่ยระหว่างประชากรนอกเมืองและในเมืองลดลงจาก 2.88 ในปี 2555 เหลือ 2.39 ในปี 2566
พัฒนาการด้านการค้าระหว่างประเทศของจีน
การค้าระหว่างประเทศของจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ 75 ปีที่แล้ว โดย (1) ในปี ค.ศ. 1950 จีนมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าอยู่ที่ 1.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2566 สูงถึง 5.93 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีส่วนแบ่งร้อยละ 12.4 ในตลาดโลก (ครองอันดับ 1 ของโลก 7 ปีต่อเนื่อง) ซึ่งปัจจุบันจีนส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก และนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้านวัตกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมส่งออกสินค้าการเกษตรและนำเข้าเครื่องจักรเป็นหลัก (2) การค้าด้านบริการขยายตัวเติบโตต่อเนื่อง ในปี 2566 มูลค่าการค้าด้านบริการสูงถึง 9.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 198 เท่า จากปี 2526 เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13.8 ต่อปี (3) การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2566 มูลค่าการค้าสูงถึง 2.38 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 จากปี 2565 และ (3) จีนขยายความร่วมมือทางการค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น ปี 2566 จีนมีมูลค่าการค้ากับ ปท. ใน BRI สูงถึง 19.5 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจาก 10.1 ล้านล้านหยวนในปี 2556 เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.7 ต่อปี และสัดส่วนการค้าจีนกับแอฟริกาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.7 และกลุ่มประเทศลาตินอเมริการ้อยละ 8.2 จากเดิมในปี 2543 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ เป็นต้น
พัฒนาการด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน
(1) ขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนขยายตัว 3.8 เท่าในช่วง 11 ปี จาก 11.2 ล้านล้านหยวนในปี 2555 เป็น 53.9 ล้านล้านหยวนในปี 2566 (2) ปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตถึง 1.09 พันล้านคน และเป็นตลาดการบริโภคดิจิทัลใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2566 ยอดค้าปลีกออนไลน์ของจีนมีมูลค่าสูงถึง 15.42 ล้านล้านหยวน (ครองอันดับ 1 ของโลก 11 ปีติดต่อกัน) และมีการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น 239 เท่าจากปี 2555 (3) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี โดยมูลค่าของอุตสาหกรรม AI ของจีนเกือบ 5.8 แสนล้านหยวน (4) ณ สิ้น มิ.ย. 2567 จีนมีสถานีฐาน 5G ทั้งหมด 3.917 ล้านแห่ง มีอัตราผู้ใช้ 5G มากกว่าร้อยละ 60 ปัจจุบันมีโครงการ
“5G + industrial internet” มากกว่า 10,000 โครงการ (5) ในอนาคตกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน (MIIT) มุ่งเน้นที่จะยกระดับการผลิตด้วยการดิจิทัล โดยเฉพาะในบริษัทการผลิตขนาดใหญ่และ SMEs ที่มีความเฉพาะเจาะจงและนวัตกรรม
แหล่งที่มา :
https://www.yicai.com/news/102279827.html
https://english.news.cn/20240919/52020b2f7abe4a24a50184c7d5704b07/c.html
https://www.stats.gov.cn/sj/sjjd/202409/t20240911_1956379.html
https://finance.china.com.cn/news/20240923/6167906.shtml
https://www.gov.cn/yaowen/liebiao/202409/content_6975408.htm
https://finance.china.com.cn/industry/20240924/6168170.shtml