ภาวะการค้าต่างประเทศไตรมาส 3/2567 “ไทย” ยืนอันดับ 3 คู่ค้าหลักของกว่างซี
8 Nov 2024สำนักงานศุลกากรหนานหนิง (กำกับดูแลเขตฯ กว่างซีจ้วง) เผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงหลังจบไตรมาส 3/2567 ในภาพรวม ภาวะการค้าระหว่างประเทศขยายตัวได้ดี ภาคการส่งออกเป็นกำลังหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวภาคการค้าต่างประเทศ และ “อาเซียน” เป็นคู่ค้ารายใหญ่
ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 แม้ว่าภาพรวมการค้าต่างประเทศของกว่างซีจะยังคงรักษาระดับการขยายตัวได้ดีในเกณฑ์บวก และมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ (ทั้งประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 5.3) แต่อัตราการขยายตัวมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.9 จุด (QoQ)
โดยเฉพาะภาคการส่งออกสามารถขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ร้อยละ 13.3 จุด (ทั้งประเทศขยายตัวเพียง ร้อยละ 6.2) ขณะที่ภาคการนำเข้าส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จุด) แต่ยังขยายตัวในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ภาพรวมการค้าต่างประเทศกว่างซีได้ดุลการค้าสูงกว่า 48,996 ล้านหยวน
เมื่อเทียบกับมณฑลอื่นในจีน มูลค่ารวมการค้าต่างประเทศของกว่างซีมีมูลค่ามากเป็นอันดับ 13 ของจีน (จาก 31 มณฑลในจีนแผ่นดินใหญ่) และเป็นอันดับ 2 ในภาคตะวันตก (รองจากมณฑลเสฉวน ซึ่งอยู่อันดับ 8 ของจีน) มูลค่าส่งออกไปต่างประเทศมีมูลค่ามากเป็นอันดับ 14 ของจีน และเป็นอันดับ 3 ในภาคตะวันตก (รองจากมณฑลเสฉวน อันดับ 8 และนครฉงชิ่ง อันดับ 10) มูลค่านำเข้าจากต่างประเทศมีมูลค่ามากเป็นอันดับ 11 ของจีน และเป็นอันดับ 2 ในภาคตะวันตก (รองจากมณฑลเสฉวน อันดับ 9)
“อาเซียน” เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่างซี 24 ปีซ้อน สองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 274,787 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 18.2 (YoY) ขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ร้อยละ 8.8 จุด (ทั้งประเทศขยายตัวร้อยละ 9.4) การค้ากับอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.7 ของมูลค่ารวม
นอกจากตลาดอาเซียนแล้ว พบว่า การค้ากับตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคโอเชียเนียและลาตินอเมริกา สามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการค้ากับบราซิล ขยายตัวร้อยละ 37.1 (มูลค่ารวม 28,792 ล้านหยวน) ชิลี ขยายตัวร้อยละ 22 (มูลค่ารวม 18,504 ล้านหยวน) ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 22.6 (มูลค่าการค้า 23,754 ล้านหยวน) ขณะที่การค้ากับกลุ่มสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 19.1 (YoY) และอเมริกาเหนือ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.7 (YoY)
ในบรรดาชาติสมาชิกอาเซียน พบว่า “เวียดนาม” ซึ่งมีพรมแดนติดกับกว่างซี เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนการค้าร้อยละ 77.2 ของมูลค่าการค้ากว่างซีกับอาเซียน และมีสัดส่วนร้อยละ 40.6 ของมูลค่ารวมทั้งกว่างซี (ตามด้วยไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าสินค้าที่มีมูลค่าต่ำที่ปฏิบัติพิธีการศุลกากรแบบเรียบง่ายในการตรวจปล่อย (HS Code 9804.0000) กลุ่มสินค้าเครื่องจักรกล อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และทุเรียนสด
การค้ากับ “ประเทศไทย” ในภาพรวม 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 “ไทย” เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกว่างซี (รองจากเวียดนาม และบราซิล) สองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 23,802 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 16.8 (YoY) และเป็น ‘ตลาดส่งออก’ อันดับ 2 ของกว่างซี ขณะที่การนำเข้าจากไทยส่งสัญญาณฝืดต่อเนื่อง แต่ยังคงรั้งตำแหน่งแหล่งนำเข้าสินค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของกว่างซี (รองจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และคูเวต)
- การนำเข้าจากไทย มีมูลค่าเพียง 6,197 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 55.3 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.62 ของมูลค่าการนำเข้ารวม สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ทุเรียนสด ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) มันสำปะหลังแห้ง แป้งมันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ มังคุด ผลไม้แช่แข็งและถั่วประเภทอื่น ๆ ขนอ่อนเป็ด แผงวงจรรวม มะพร้าวทั้งกะลา ยางมะตอย
- การส่งออกไปไทย มีมูลค่าสูงถึง 17,604 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 (YoY) คิดเป็นสัดส่วน 6.17 ของมูลค่าการส่งออกรวม สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ สินค้ามูลค่าต่ำที่ซื้อขายผ่านด่านการค้าชายแดน/แพลตฟอร์ม Cross Border E-Commerce (CBEC) จานแม่เหล็ก อะไหล่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเทียม วงจรพิมพ์ โมดูลรับส่งสัญญาณเลเซอร์ กระดาษแข็งเคลือบ
การชะลอตัวของการค้ากว่างซีกับประเทศไทย เป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการนำเข้าในสินค้า 2 รายการหลัก คือ
(1) “ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ” (HS Code: 84717019 ไม่รวมถึง solid-state drive) ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 5.69 เท่า คิดเป็นมูลค่าที่หายไป 5,550 ล้านหยวน อาจเป็นผลสืบเนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รวมถึงความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ทยอยปรับตัวลดลงจากการถูกเข้ามาแทนที่ของ solid-state drive หรือ SSD ทำให้อุปสงค์การนำเข้า “ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ” ลดลง
และ (2) “ทุเรียนสด” ลดลงร้อยละ 52.4 คิดเป็นมูลค่าที่หายไป 1,425 ล้านหยวน สาเหตุหลักคาดว่าเกิดจาก ผลผลิตทุเรียนของไทยลดลงจากภาวะภัยแล้ง และความท้าทายจากคู่แข่งทุเรียนเวียดนาม (จีน-เวียดนามร่วมลงนามพิธีสารส่งออกทุเรียนสด เมื่อ 11 ก.ค. 2565) ทำให้การผ่านแดนของทุเรียนไทยที่ “ด่านหงูหงิ จ.ลางเซิน – ด่านโหย่วอี้กวาน เขตฯ กว่างซีจ้วง” อาจไม่ได้รับความสะดวกอย่างเช่นเคย ผู้ส่งออกจึงหันไปใช้ด่านทางบกฝั่งมณฑลยูนนาน ซึ่งวิ่งผ่าน สปป.ลาว เพียงประเทศเดียว
ทั้งนี้ มีกระแสข่าวระบุว่า สปป.ลาวกำลังเร่งผลักดันการเจรจาการส่งออกทุเรียนสดไปประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะบรรลุผลสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ และมีภาคธุรกิจจีนที่ได้เข้าไปลงทุนด้านการปลูกทุเรียนในลาวแล้วตั้งแต่หลายปีก่อน
หากพิจารณาการค้าจีนรายมณฑลกับประเทศไทย พบว่า การค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยมีมูลค่ารวมมากเป็นอันดับที่ 7 จากทั้งหมด 31 มณฑลในจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 3.42 ของทั้งประเทศ รองจากมณฑลกวางตุ้ง ร้อยละ 23.96 / มณฑลเจียงซู ร้อยละ 14.01 / มณฑลเจ้อเจียง ร้อยละ 13.14 / นครเซี่ยงไฮ้ ร้อยละ 9.02 / มณฑลซานตง ร้อยละ 7.96 และมณฑลฝูเจี้ยน ร้อยละ 7.96
หากพิจารณาเฉพาะ 12 มณฑลทางภาคตะวันตก พบว่า การค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยมีมูลค่ามากที่สุดใน 12 มณฑลภาคตะวันตก รองลงมา ได้แก่ นครฉงชิ่ง (อันดับ 10 ของจีน สัดส่วนร้อยละ 2.18) มณฑลเสฉวน (อันดับ 12 ของจีน สัดส่วนร้อยละ 1.91) มณฑลยูนนาน (อันดับ 13 ของจีน สัดส่วนร้อยละ 1.58) และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (อันดับ 21 ของจีน สัดส่วนร้อยละ 0.47)
หากพิจารณาเฉพาะการนำเข้าจากไทย เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่อันดับที่ 9 ของประเทศจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู มณฑลซานตง มณฑลฝูเจี้ยน กรุงปักกิ่ง และมณฑลยูนนาน
ขณะที่การส่งออกไปไทย เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่อันดับที่ 7 ของประเทศจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลซานตง นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลฝูเจี้ยน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn วันที่ 24 ตุลาคม 2567
เว็บไซต์ http://stats.customs.gov.cn วันที่ 23 ตุลาคม 2567