ชำแหละโครงสร้างการค้าต่างประเทศของกว่างซีในช่วงครึ่งปีแรก 2567
6 Aug 2024ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ภาพรวมแนวโน้มการค้าต่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงยังคงรักษาระดับการเติบโตได้ดี โดยเฉพาะภาคการส่งออก‘โตแรง’ สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ “อาเซียน” ยังเกาะเก้าอี้คู่ค้า ‘นับเบอร์วัน’ ของกว่างซีเป็นปีที่ 24
สำนักงานศุลกากรหนานหนิง (กำกับดูแลเขตฯ กว่างซีจ้วง) เผยสถานการณ์การค้าต่างประเทศของกว่างซีในช่วงครึ่งปีแรก 2567 พบว่า มูลค่าการค้าต่างประเทศของกว่างซีเติบโตที่ร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศร้อยละ 5.9 จุดภาคการส่งออกทำผลงานดีทะลุ 190,000 ล้านหยวนได้เป็นครั้งแรก และกว่างซีได้ดุลการค้าต่างประเทศสูงถึง 38,322 ล้านหยวน
ในภาพรวม การค้าต่างประเทศของกว่างซีมีมูลค่ามากเป็นอันดับ 12 ของจีน (จาก 31 มณฑลในจีนแผ่นดินใหญ่) และเป็นอันดับ 2 ในภาคตะวันตก (รองจากมณฑลเสฉวน ซึ่งอยู่อันดับ 8 ของจีน)
“อาเซียน” เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่างซีเป็นปีที่ 24 ติดต่อกัน สองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 185,616 ล้านหยวน เติบโตสูงถึง 26.7% (YoY) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของจีนกับอาเซียนร้อยละ 16.2 จุด การค้ากับอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 53.76% ของการค้ารวมทั้งกว่างซี
นอกจากตลาดอาเซียนแล้ว พบว่า การค้ากับตลาดเกิดใหม่แถบละตินอเมริกา โอเชียเนีย และแอฟริกามีแนวโน้มเติบโตสดใสเช่นกัน โดยการค้ากลุ่มประเทศในละตินอเมริกา โตขึ้น 38.5% โอเชียเนีย โตขึ้น 40.6% และแอฟริกา โตขึ้น12.5% ขณะที่การค้ากับกลุ่มสหภาพยุโรป ลดลง 25.6% เช่นเดียวกับอเมริกาเหนือที่ลดลง 22.9%
ทราบหรือไม่ว่า.. “เวียดนาม” ครองสัดส่วนการค้ามากถึง 41.3% ของการค้ากว่างซีกับต่างประเทศ รองลงมา ได้แก่ บราซิล (สัดส่วน 5.02%) ออสเตรเลีย (สัดส่วน 4.75%) และไทย (สัดส่วน 4.68%)
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า… “เวียดนาม” เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตภาคการค้าต่างประเทศของกว่างซี กล่าวคือ การเติบโตภาคอุตสาหกรรมการผลิตของ “เวียดนาม” ที่เกิดขึ้นจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ในตลาดโลก กระตุ้นให้ภาคการส่งออกของกว่างซีไปเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไอทีอาทิ แผงวงจรรวม อะไหล่คอมพิวเตอร์ แบตเตอรี่ลิเทียม และอะไหล่อุปกรณ์เสริมงานภาพและเสียง (video and audio equipment)
“ด่านโหย่วอี้กวาน” เป็นด่านการค้าสำคัญของกว่างซี การค้าสินค้าผ่าน “ด่านโหย่วอี้กวาน” มีมูลค่ารวม 223,890 ล้านหยวน โตขึ้น 22.3% โดย 98.8% เป็นการค้ากับอาเซียน คิดเป็นมูลค่ารวม221,260 ล้านหยวน โตขึ้น 23.4% (YoY) ในจำนวนนี้ พบว่า การค้ากับ “กัมพูชา” มีอัตราการเติบโตมากที่สุด (82.9%) และการค้ากับ “เวียดนาม” ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน มีมูลค่ามากที่สุด (181,930 ล้านหยวน)
การส่งออกสินค้าผ่าน “ด่านโหย่วอี้กวาน” กว่า 70% เป็นกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นมูลค่ารวม 107,850 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 53.5% (YoY) กลุ่มสินค้าส่งออกประเภทอื่นที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี อาทิ สิ่งทอเครื่องนุ่มห่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเทียม และแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์
ขณะที่การนำเข้าสินค้าผ่าน “ด่านโหย่วอี้กวาน” ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุปกรณ์และเครื่องจักรกลไฟฟ้า มีมูลค่ารวม 54,640 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ เป็นแผงวงจรหลักของคอมพิวเตอร์ (mainboard) มูลค่า 6,190 ล้านหยวน โตขึ้น 40.5% (YoY)
การค้ากับ “ประเทศไทย” ในภาพรวม มีแนวโน้มชะลอตัวลงครึ่งปีแรก 2567 สองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 16,155 ล้านหยวน ลดลง 17.8% (YoY)โดยประเทศไทยเป็น ‘ตลาดส่งออก’ อันดับ 2 ของกว่างซี ขณะที่การนำเข้าจากไทยส่งสัญญาณฝืด เนื่องจากสถานการณ์การนำเข้า 2 รายการสินค้าหลักจากประเทศไทยอย่าง “ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ” (HS Code: 84717019 ไม่รวมถึง solid-state drive) และ “ทุเรียนสด” มีแนวโน้ม ‘ดิ่งลง’ ส่งผลให้ประเทศไทยร่วงลงไปเป็นคู่อันดับ 4 ของกว่างซี (จากเดิมอยู่อันดับ 2 รองจากเวียดนาม)
กล่าวคือ ครึ่งปีแรก 2566 ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและทุเรียนสดที่กว่างซีนำเข้าจากไทย มีมูลค่ารวม 7,034.96 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 74.57% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากประเทศไทย โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟของไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 99.89% ของมูลค่าการนำเข้าฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟจากต่างประเทศ (ครึ่งปีแรก ปี 2567 ส่วนแบ่งตลาด 98.47%)
ขณะที่ครึ่งปีแรก 2567 มูลค่ารวมการนำเข้าฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และทุเรียนสดจากไทย ลดลงเกือบ 50% มีมูลค่านำเข้ารวมเพียง 3,558.16 ล้านหยวน แบ่งเป็นการนำเข้า “ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ” ลดลง 60.45% มูลค่าที่ลดลง 2,432.62 ล้านหยวน หรือหายไปกว่า 12,163 ล้านบาท และการนำเข้า “ทุเรียนสด” ลดลง 34.68% มูลค่าที่ลดลง 1,044.18 ล้านหยวน หรือลดลง 5,221 ล้านบาท
ทั้งนี้ พออนุมานได้ว่า การชะลอตัวของอุปสงค์การนำเข้า “ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟจากไทย” ของเขตฯ กว่างซีจ้วง อาจเป็นเพราะความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปีที่ผ่านมา กอปรกับกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า consumer electronics ที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัว ในขณะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการคอมพิวเตอร์เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว รวมถึงความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ทยอยปรับตัวลดลงจากการถูกเข้ามาแทนที่ของ solid-state drive หรือ SSD
- การนำเข้าจากไทย มีมูลค่าเพียง 5,190 ล้านหยวน ลดลงถึง 45% คิดเป็นสัดส่วน 3.38% ของมูลค่าการนำเข้ารวม สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ทุเรียน ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) มันสำปะหลังแห้ง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ มังคุด น้ำยางพารา ขนเป็ด ถั่วเปลือกแข็ง เพลา แผงวงจรรวม ยางมะตอย น้ำตาลทราย
- การส่งออกไปไทยมีมูลค่าสูงถึง 10,965 ล้านหยวน โตขึ้น 7.2% คิดเป็นสัดส่วน 5.72% ของมูลค่าการส่งออกรวม สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ สินค้ามูลค่าต่ำที่ซื้อขายผ่านด่านการค้าชายแดน/แพลตฟอร์ม CBEC จานแม่เหล็ก อะไหล่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน วงจรงานพิมพ์ แบตเตอรี่ลิเทียม แข็งเคลือบด้วยดินขาว
หากพิจารณาการค้ารายมณฑลกับประเทศไทยพบว่าการค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยมีมูลค่ารวมมากเป็นอันดับที่ 7 จากทั้งหมด 31 มณฑลในจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 3.5 ของทั้งประเทศ รองจากมณฑลกวางตุ้ง ร้อยละ 24.24 / มณฑลเจียงซู ร้อยละ 13.86 / มณฑลเจ้อเจียง ร้อยละ 13.15 / นครเซี่ยงไฮ้ ร้อยละ 8.83 / มณฑลซานตง ร้อยละ 8.17และมณฑลฝูเจี้ยน ร้อยละ 5.05
หากพิจารณาเฉพาะ 12 มณฑลทางภาคตะวันตก พบว่า การค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยมีมูลค่ามากที่สุดใน 12 มณฑลภาคตะวันตก รองลงมา ได้แก่ นครฉงชิ่ง (อันดับ 9 ของจีน สัดส่วน 2.3%) มณฑลเสฉวน (อันดับ 11 ของจีน สัดส่วน 2.0%) มณฑลยูนนาน(อันดับ 14 ของจีน สัดส่วน 1.53%) และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (อันดับ 20 ของจีน สัดส่วน 0.63%)
หากพิจารณาเฉพาะการนำเข้าจากไทย เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่อันดับที่ 8 ของประเทศจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู มณฑลซานตง มณฑลฝูเจี้ยน และกรุงปักกิ่ง ขณะที่การส่งออกไปไทย เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่อันดับที่ 7 ของประเทศจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลซานตง นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลฝูเจี้ยน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 16 , 22 และ 25กรกฎาคม 2567
เว็บไซต์ http://pxzhbsq.gxzf.gov.cn (广西凭祥综合保税区管理委员会) วันที่ 23 กรกฎาคม 2567
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่14 กรกฎาคม 2567
เว็บไซต์ http://stats.customs.gov.cn