51 เมืองทั่วจีนวางแผนสร้างเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยาน
19 Jul 2013ตามกระแสการก่อสร้างสนามบินครั้งใหม่ในทั่วประเทศจีน รัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ แห่กันวางแผนการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยานไปด้วย จนถึงปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 51 เมืองของ 28 มณฑลทั่วประเทศจีนที่ได้วางแผนก่อสร้างเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยาน ซึ่งนอกจากเมืองระดับ 1 หรือเมืองหลวง อาทิ นครกว่างโจว นครเจิ้นโจวแล้ว ยังรวมถึงเมืองระดับ 3 และ 4 บางเมืองด้วย
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 56 คณะรัฐมนตรีจีนได้อนุมัติ แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยาน อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นแผนพัฒนาระดับชาติฉบับแรกที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจท่าอากาศยานเป็นหลัก ทั้งนี้ นครเจิ้นโจวได้กลายเป็นเมืองแรกที่สร้างแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยานขึ้นมา ต่อมาเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นครกว่างโจวก็ได้อนุมัติแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยานนครกว่างโจว โดยมีพื้นที่ศูนย์กลาง 84.87 ตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่ทั้งสิ้น 439 ตารางกิโลเมตร ครองสัดส่วนร้อยละ 6 ของพื้นที่นครกว่างโจวทั้งหมด และคุ้มครองประชากร 2.2 ล้านคน หลังจากนั้น นครเทียนจิน ซึ่งเป็นเมืองที่กำลังแย่งชิง “เมืองใหญ่อันดับที่ 3 ของจีน” กับนครกว่างโจว ก็ไม่ยอมแพ้ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยาน โดยวงพื้นที่ 102 ตารางกิโลเมตรเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยาน
นายหลี่ เสียวจิน ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ มหาวิทยาลัยการบินพลเรือนแห่งชาติจีน แนะนำว่า สำหรับพื้นที่ที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจไม่เท่าเทียมกัน บทบาทของสนามบินในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็แตกต่างกัน อาทิ ในนครเซี่ยงไฮ้ รายได้ทุก 1 หยวนจากการบินพลเรือนจะสามารถกระตุ้นการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องถึง 14 หยวน (1:14) ขณะที่อัตราของกรุงปักกิ่งอยู่ที่ 1:12 นครเทียนจินอยู่ที่ 1:7.7 มณฑลเหลียวหนิงอยู่ที่ 1:6 และนครเฉินตูอยู่ที่ 1:5.5 ซึ่งเศรษฐกิจยิ่งเจริญรุ่งเรือง ความต้องการของการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าอย่างเร็วและมีคุณภาพยิ่งสูง แรงขับเคลื่อนของสนามบินก็ยิ่งชัดเจน
สำหรับเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยานต่างๆ รัฐบาลจีนจะให้การสนับสนุนด้านนโยบายเกี่ยวกับการผ่านด่าน เส้นทางการบิน การคลัง การเงิน การเก็บภาษี ที่ดิน ตลอดจนบริการเอาท์ซอร์ส เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการบริการระดับสูง อุตสาหกรรมการผลิตระดับสูง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การศึกษาพลเรือน ตลอดจนพัฒนาธุรกิจงานแสดงสินค้า ธุรกิจโรงแรม อุตสาหกรรมดอกไม้หรือการคลังสินค้าในท้องถิ่นไปด้วย แต่สำหรับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยานในเมืองระดับที่ 3 หรือ 4 บางเมือง นักวิเคราะห์เห็นว่า รัฐบาลท้องถิ่นอาจสร้างแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยานขึ้นมาเพื่อวงที่ดินไว้ และเพื่อพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่อไป