แผ่วต้น-แรงปลาย!! แนวโน้มเศรษฐกิจ “อ่าวเป่ยปู้” โตตามกระแสเศรษฐกิจ

14 Mar 2014

เว็บไซต์ข่าวอ่าวเป่ยปู้ : ปีที่ผ่านมา (ปี 56) เศรษฐกิจโดยรวมในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซีมีแนวโน้มอ่อนแรงในช่วงต้นปีและปรับตัวดีขึ้นในช่วงท้ายปี ทำให้ยังคงประคับประคองอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี

เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (Guangxi Beibu Gulf Economic Zone, 广西北部湾经济区) ประกอบด้วยสมาชิก 6 เมือง ได้แก่ นครหนานหนิง เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองชินโจว เมืองเป๋ยไห่ เมืองฉงจั่ว และเมืองยวี่หลิน (Yulin City, 玉林市)

นายหลี่ เหยียน เฉียง (Li Yan Qiang, 李延强) รองผู้อำนวยการสามัญประจำสำนักงานคณะกรรมการบริหารงานวางแผนและก่อสร้างเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (Office of Guangxi Beibu Gulf Economic Zone Planning and Construction Management Commission, 广西北部湾经济区规划建设管理委员会办公室) ให้ข้อมูลดังนี้

ปี 56 ผลิตผลมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเขตเศรษฐกิจฯ มีมูลค่ารวมเท่ากับ 481,743 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 10.5 (YoY) ซึ่งสูงกว่าอัตราขยายตัวของทั้งมณฑลอยู่ 0.3 จุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.5 ของมูลค่าจีดีพีทั้งมณฑล (สัดส่วนต่อมูลค่าจีดีพีทั้งมณฑลเพิ่มขึ้นจากปี 55 ร้อยละ 0.76 จุด)

แรงส่งจากการขยายตัวภาคการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่อ่าวเป่ยปู้ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ กล่าวคือ การลงทุนในทรัพย์สินถาวรในเขตเศรษฐกิจฯ มีการขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งมณฑลติดต่อกัน 8 เดือน ขณะที่มูลค่าเพิ่มการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วติดต่อกัน  8 เดือนเช่นเดียวกัน

ด้านการขนถ่ายสินค้า พบว่า ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายสินค้ารวม 187 ล้านตัน ติดอันดับที่ 15 ของท่าเรือขนาดใหญ่เลียบชายฝั่งทะเลของประเทศจีน ขยายตัวร้อยละ 7.09 ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าทะลุ 1 ล้าน TEUs เป็นครั้งแรกด้วยจำนวน 1,003,300 TEUs เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.86

นายหลี่ฯ ชี้ว่า ปีที่ผ่านมา แม้ว่าสภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยรวมในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู่จะขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ ทว่า ดัชนีทางเศรษฐกิจหลายรายการมีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงหลายปีก่อนหน้า

หากมองในภาพรวม แม้ว่าการคาดการณ์ตลาดและแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น ทว่า ผลกระทบจากปัจจัยเชิงลบบางประการส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเกิดความไม่แน่นอน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ค่อยชัดเจน

อาทิ ภาวะอุปสงค์ทางการตลาด(คงที่หรือลดลง) ต้นทุนการผลิตที่ยังคงสูงอยู่ แรงส่งจากอัตราขยายตัวภาคการลงทุนไม่เพียงพอ รวมทั้งการชะลอตัวภาคการอุปโภคบริโภค

ข้อสังเกตเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี มีดังนี้

หนึ่ง ถึงแม้มูลค่าเพิ่มการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วติดต่อกัน  8 เดือน ทว่า อัตราขยายตัวกลับมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ลดลงจากปี 55 ร้อยละ 8.3 จุด และลดลงจากปี 54 ร้อยละ 19 จุด)

เจ้าหน้าที่กรมสถิติเขตฯ กว่างซีจ้วงวิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจฯ มีดังนี้

(1) เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะซบเซา แม้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศมีทิศทางฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัย(เสี่ยง)และความไม่แน่นอนอยู่มาก 

(2) เศรษฐกิจมหภาคตกอยู่ในภาวะซบเซา ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาของนักลงทุน

(3) โครงการก่อสร้างภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหาอุปสรรค โดยเฉพาะปัญหาการเวนคืนที่ดินการรื้อถอน และการส่งมอบที่ดิน และขาดแคลนเงินทุนสำรองในโครงการลงทุนขนาดใหญ่

(4) พื้นฐานโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมมีความเปราะบาง ขาดความพร้อมในระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรม และการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมยังขาดประสิทธิภาพที่ชัดเจน และจำเป็นต้องส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์

สอง ถึงแม้ว่าปริมาณขนถ่ายสินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้จะมีการขยายตัวเล็กน้อย (ที่ร้อยละ 7.09) ทว่า การขยายตัวมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างชัดเจนจากปีก่อนหน้า

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี2554-2556) ปริมาณขนถ่ายสินค้ามีอัตราขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 28.58 , 13.7 และ 7.09 ตามลำดับ

สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในภาพรวม อุปสงค์และอุปทานต่อวัตถุดิบและสินค้าของพื้นที่เขตเศรษฐกิจตอนในมีแนวโน้มลดลง ปริมาณสินค้านำเข้าส่งออกลดลง กอปรกับระบบขนส่งกระจายสินค้าและระบบงานผ่านพิธีการทางศุลกากรในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ขาดประสิทธิภาพ และต้นทุนการขนส่งจากการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทั้งทางถนนและรถไฟที่เข้าสู่ท่าเรือ

สาม ผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศส่งผลให้อัตราขยายตัวภาคการค้าต่างประเทศในพื้นที่เขตเศรษฐกิจฯ ชะลอตัวลง

ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าต่างประเทศมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งมณฑลร้อยละ 11 จุด (ลดลดจากปี 55 มากถึงร้อยละ 31.1 จุด) โดยในส่วนของมูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 5.8 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งมณฑลอยู่ถึงร้อยละ 15.1

เจ้าหน้าที่กรมสถิติเขตฯ กว่างซีจ้วง วิเคราะห์ถึงสาเหตุ ดังนี้

(1) เศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังอยู่ในภาวะถดถอย ปริมาณอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศยังอยู่ในภาวะซบเซา ซึ่งเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตภาคการค้าต่างประเทศ

(2) การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินหยวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิสาหกิจส่งออก โดยเฉพาะวิสาหกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-Intensive)

(3) การเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าแรงและวัตถุดิบส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ส่งออกดั้งเดิมลดลง

(4) ราคาและปริมาณนำเข้าของกลุ่มสินค้าเทกอง (ถั่วเหลือง ถ่านหิน) ร่วงลง ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าส่งออกของท่าเรือฝางเฉิงก่างและท่าเรือชินโจวหดตัวลง

นายหลี่ฯ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจฯ ในปี 57 ดังนี้

หนึ่ง เร่งก่อสร้างท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ และพัฒนาอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเล พัฒนาระบบอุตสาหกรรมรองรับวิสาหกิจและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมโดยมีวิสาหกิจชั้นเป็นหัวเรือใหญ่ และการเร่งสร้ง Economy of Scale (การอยู่รวมกันของผู้ผลิตอย่างหนาแน่นทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

สอง การส่งเสริมยกระดับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการผลิตแสนล้านหยวน 5 สาขา (ปิโตรเคมี การแปรรูปทางการเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ การถลุงโลหะ และการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์) พร้อมกับการสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมและปรับปรุงเทคโนโลยีของวิสาหกิจ

สาม การส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ (Emerging Industry) โดยเฉพาะเภสัชชีวภาพ พลังงานทดแทน วัสดุใหม่ และการผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรสมัยใหม่

สี่ การสร้างความพร้อมในการรองรับการเคลื่อนย้ายการลงทุนของวิสาหกิจแปรรูปจากทั้งในและต่างประเทศ และการสนับสนุนการพัฒนาการค้าแปรรูปของนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเล

ห้า การส่งเสริมให้พื้นที่ด่านพรมแดนทางบกพัฒนาการค้าชายแดน การค้าแปรรูป และการผลิตเพื่อการส่งออก (Export-oriented Economy)

หก การพัฒนาเขตเศรษฐกิจฯ เป็นพื้นที่เปิดสู่ภายนอกรอบด้านที่มีบทบาทสำคัญในฐานะประตูสู่อาเซียน และเป็นพื้นที่เชื่อมต่อมณฑลกวางตุ้ง เมืองฮ่องกงและมาเก๊า และพื้นที่เชื่อมโยงภาคกลางตอนล่างกับภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ

 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน