เศรษฐศาสตร์หลี่ เค่อเฉียง (Likonomics) พาจีนก้าวข้ามช่วงการปฏิรูป ชี้แรงขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจจีน
23 Jul 2013“เศรษฐศาสตร์หลี่ เค่อเฉียง (Likonomics)” เป็นคำใหม่ที่สร้างขึ้นมาโดยบริษัท Barclays Capital ซึ่งหมายถึงแผนการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีนายหลี่ เค่อ เฉียง โดยมีเนื้อหาหลักได้แก่ รัฐบาลไม่มุ่งแต่จะเร่งดำเนินมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลปลดเปลื้องการกู้ยืม(de-leveraging) และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน

บริษัท Barclays Capital ได้สรุปประเด็นหลักดังกล่าวของนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ โดยสังเกตจากมาตรการของรัฐบาลชุดใหม่ที่ดำเนินการมาในช่วงเวลาครึ่งปีแรกนี้ อาทิ แม้เศรษฐกิจจีนได้ประสบการชะลอตัวอย่างมากในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ แต่รัฐบาลจีนก็ไม่ได้เร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จีนเกิดภาวะเงินสดขาดมือในระบบกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์ แต่ธนาคารกลางจีนปฏิเสธที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ แม้ว่าอัตราเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้องการให้ธนาคารต่างๆ ปรับแนวทางปฏิบัติของตน และตลาดเงินก็ตอบสนองแนวทางดังกล่าว
ในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนกำลังค้นหาแรงขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจจีน โดยเมื่อเดือนมีนาคม ระหว่างการดูงานที่มณฑลเจียงซูและนครเซี่ยงไฮ้ นายกหลี่ได้อนุมัติการก่อตั้งเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ให้แก่เขตสามเหลี่ยมแม่น้ำฉางเจียง และในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายกหลี่ได้เข้าร่วมงานนิทรรศการการค้าบริการระหว่างประเทศที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งได้เห็นชอบให้เร่งรัดการส่งเสริมการพัฒนาของธุรกิจการค้าบริการ เพื่อให้ธุรกิจการค้าบริการสมัยใหม่พัฒนาเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ และในต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในระหว่างการดูงานที่มณฑลเหอเป่ย นายกหลี่ได้กำชับให้เร่งรัดการก่อตั้งความเป็นหนึ่งเดียวของเขตพื้นที่บริเวณทะเลโป๋ไห่เพื่อปลุกปั้นเป็นจุดขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนจุดใหม่
ถ้าสังเกตจากท่าทีของนายกหลี่ดังกล่าว เห็นได้ว่าได้เล็งเห็นให้การปฏิรูปของตลาดจีน ธุรกิจบริการ การพัฒนาของเขตเศรษฐกิจและการเปิดประเทศสู่ภายนอกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจจีนในอนาคต ส่วนกระบวนการความเป็นเมืองที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมในปัจจุบัน จะเน้นขยายอุปสงค์ของตลาดภายใน ซึ่งก็เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนอันยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่ง
หลังจากการพัฒนาด้วยความเร็วอย่างสูงในระยะเวลา 30 ปี บัดนี้ เศรษฐกิจจีนได้พบสี่แยกที่ต้องการการปฏิรูป รัฐบาลกลางจีนยอมลดความเร็วในการพัฒนาของเศรษฐกิจลง และเลือกที่จะส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตในระยะยาว
ปัจจุบัน การปฏิรูปปัจจัยราคา การปฏิรูปการคลังสาธารณะและระบบภาษี การปฏิรูปนโยบายที่ดินและการปฏิรูปการเงินเป็นประเด็นสำคัญของการปฏิรูปตลาดจีน
จากความสำเร็จของโครงการนำร่องในนครเซี่ยงไฮ้ นายกหลี่จึงได้ส่งเสียงสะท้อนยืนยันการผลักดันนโยบายปรับเปลี่ยนภาษีธุรกิจ (Business Tax : BT) เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value-added Tax : VAT) เมื่อช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่า โดยจะขยายพื้นที่ทดลองการปฏิรูป VAT แทนที่ BT อย่างต่อเนื่อง และพยายามจะดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วทั้งจีนภายในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 12 (ปี 2554 – 2558) ทั้งนี้ ทางการจีนตั้งเป้าว่าจะอาศัยการดำเนินนโยบายปฏิรูปการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ในการเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจจีน ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดการสร้างงานเพิ่มและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจจีนอย่างมั่นคงและยั่งยืนอีกด้วย
การปฏิรูปภาคการเงิน โดยเฉพาะการปฏิรูประบบการระดมเงินทุนของบริษัทเป็นส่วนประกอบสำคัญมากที่สุดในการปฏิรูปตลาดจีน ซึ่งจะขยายแหล่งการระดมเงินทุนของบริษัทให้มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น สามารถควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล – ธนาคาร-บริษัทให้ถูกต้องตามมาตรฐานกลไกตลาด ในฟอรั่มลู่ เจียจุ่ยปี 2556 ที่จัดที่นครเซี่ยงไฮ้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การปฏิรูปภาคการเงินรอบต่อไปของจีนจะเน้นประเด็นความเป็นตลาดของอัตราดอกเบี้ย ประเด็นการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินด้วยกลไกตลาดและประเด็นการเปิดบัญชีสกุลเงินหยวนต่อภายนอก ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปของอัตราดอกเบี้ยและอัตราการแลกเปลี่ยนให้ลึกซื้งมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้การชำระด้วยเงินหยวนในการค้าระหว่างประเทศมีมากขึ้น
เนื่องจากประเทศจีนกำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การประสานความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องมือของรัฐบาลและกลไกตลาดเป็นประเด็นที่สำคัญมาก นางเฉิง เหวินหลิน นักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ของศูนย์การแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจระหว่างประเทศจีน ได้ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมใหม่เชิงยุทธศาสตร์ของจีนว่า เมื่อรัฐบาลกำหนดให้อุตสากรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมแผงพลังงานแสงอาทิตย์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานลม อุตสาหกรรมการผลิตยาและชีวภาพ เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวก็กลายเป็นผลงานของรัฐบาลท้องถิ่นที่นำมาอวดโชว์กัน นำไปสู่ภาวะสินค้าล้นตลาดอย่างรุนแรงมาก ซึงสะท้อนให้เห็นว่าการแทรกแซงมากเกินไปของรัฐบาลก็เป็นปัญหาที่รอคอยรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาแก้ไข หลังจากนายกหลี่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นาน เคยให้คำสัญญาในนามของรัฐบาลชุดใหม่ว่า จะลดขั้นตอนการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้เหลือเพียง 2 ใน 3 และปล่อยให้กลไกตลาดมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งก็เป็นการการแสดงท่าทีของรัฐบาลชุดใหม่

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างการศึกษาดูงานที่มณฑลกว่างซี นายกหลี่ได้ระบุว่า รัฐบาลจะควบคุมให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนไม่ต่ำกว่าอัตราต่ำสุดที่กำหนดไว้ แม้นายกหลี่ไม่ได้ระบุรายละเลียดของ “อัตราต่ำสุดของการเติบโตเศรษฐกิจจีน” แต่ก็ได้ส่งสัญญาว่า แม้รัฐบาลจีนจะไม่ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจประการใด ๆ แต่ก็ยังให้ความสำคัญในการควบคุมเศรษฐกิจจีนให้เติบโตอย่างมั่นคง ดังนั้น รัฐบาลจีนชุดใหม่คงไม่ดำเนินการปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยความเสียหายจากการเติบโตเศรษฐกิจจีนหยุดนิ่ง
อย่างไรก็ดี บุคลิกภาพของนายกหลี่ ทำให้ประชาชนจีนนึกถึงอดีตนายกรัฐมนตรีนายจู หรงจี ซึ่งเป็นผู้นำการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนที่โด่งดังในคริสต์ทศวรรษ 1990 ซึ่งได้ดำเนินมาตรการอันแข็งแกร่งเพื่อแก้ไขปัญหาฟองสบู่และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนให้มีความเป็นตลาดเสรีมากขึ้น ทั้งนี้ ภารกิจการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งได้ตกอยู่ในมือนายกรัฐมนตรีนายหลี่ เค่อเฉียง ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับนายกฯ จีนคนปัจจุบัน