อุตสาหกรรมยานยนต์ของนครฉงชิ่ง ก้าวสู่ตลาดโลก โดยบริษัทฉางอานและบริษัทเซเลสเป็นผู้นำการผลิตแบบอัจฉริยะ
13 Feb 2025
เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ สำนักข่าว Chongqing Daily เผยว่าโรงงานดิจิตอล (数智) ของบริษัทฉางอาน ในเขตเหลียงเจียงเป็นแขนกลการผลิตอัจฉริยะซึ่งโรงงานนี้ประกอบด้วย ๖ แผนกหลัก ได้แก่ การพ่นสี การปั๊มขึ้นรูป การเชื่อม การหล่อ การประกอบแบตเตอรี่ และการประกอบตัวรถ โดยแผนกปั๊มขึ้นรูปสามารถดำเนินการได้โดยอัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบ ขณะที่แผนกเชื่อมการผลิตระดับอัตโนมัติสูงถึงร้อยละ ๙๕ ด้วยเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่และระบบอัจฉริยะโรงงานของบริษัทฉางอานสามารถผลิตรถยนต์ได้ทุกๆ ๖๐ วินาที เช่นเดียวกับบริษัทอีกรายในนครฉงชิ่งอย่างบริษัทเซเลส (赛力斯)ก็มีโรงงานที่ล้ำสมัยไม่แพ้กันโดยมีหุ่นยนต์มากกว่า ๓,๐๐๐ ตัว ที่ทำงานประสานกันอย่างอัจฉริยะทำให้กระบวนการผลิตเป็นระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย พร้อมกับระบบทดสอบคุณภาพอัตโนมัติเต็มรูปแบบ บริษัทเซเลสยังได้รับการยกย่องให้เป็นบริษัทต้นแบบด้านการผลิตแบบอัจฉริยะและการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว[๑] ในระดับประเทศ
มาตรฐานการผลิตระดับสูงและความใส่ใจในทุกรายละเอียดทำให้การผลิตของนครฉงชิ่ง (重庆造) หรือกลายเป็นสัญลักษณ์ของที่มีคุณภาพ พร้อมกับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของเมืองให้ก้าวสู่แถวหน้าของประเทศและยอดขายพุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทฉางอานและบริษัทเซเลสครองตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ และในปี ๒๕๖๗ บริษัทฉางอานมียอดขายรถยนต์กว่า ๒.๖ ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์พลังงานใหม่กว่า ๗๓๐,๐๐๐ คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๒.๘ เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่บริษัทเซเลสก็มียอดขายรถยนต์พลังงานใหม่สูงถึง ๔๒๐,๐๐๐ คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘๒.๘๔ โดยเฉพาะรุ่น Wenjie M9 ที่เปิดตัวเพียง ๑๒ เดือน แต่ทำยอดจองไปแล้วกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คัน และครองแชมป์ยอดขายรถยนต์หรูระดับ ๕๐๐,๐๐๐ หยวน (๗๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ) ในจีนโดยติดต่อกัน ๙ เดือน และได้ดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของนครฉงชิ่งสู่ตลาดโลก (渝车出海)
ในช่วงปลายปี ๒๕๖๖ นครฉงชิ่งได้ประกาศแผนอุตสาหกรรมยานยนต์ของนครฉงชิ่งสู่ตลาดโลก (渝车出海) โดยมุ่งผลักดันการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งในปี ๒๕๖๖ ภายใต้กระแสตอบรับที่ดีจากตลาดในประเทศ รถยนต์ที่ผลิตในนครฉงชิ่งได้เริ่มบุกรุกสู่เวทีสากลอย่างรวดเร็ว และนครฉงชิ่งมีเครือข่ายโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งทั้งเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป(中欧班列) รถไฟสายนครฉงชิ่ง-รัสเซีย(渝满俄班列) ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก(西部陆海新通道) และเส้นทางแม่น้ำแยงซีเกียง (长江黄金水道) ซึ่งช่วยเชื่อมโยงการส่งออกไปยังจุดผ่านแดนสำคัญ เช่น อาลาซานโข่ว(阿拉山口)[๒] ฮอร์กอส (霍尔果斯)[๓] และท่าเรือฉินโจว(钦州港)[๔] ทำให้รถยนต์จากนครฉงชิ่งสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในนครฉงชิ่ง บริษัทฉางอานและบริษัทเซเลสได้มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะและหุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการผลิตอย่างรวดเร็ว และแม่นยำโดยการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยให้ประเทศไทยนำมาปรับใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของตนเอง เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างการพัฒนาทักษะในด้านเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น
การที่นครฉงชิ่งมีเครือข่ายโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง รวมถึงเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป(中欧班列) และเส้นทางขนส่ง ทางทะเลทำให้สามารถเชื่อมโยงการส่งออกยานยนต์ไปยังตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้และปรับใช้โมเดลนี้ในการส่งออกผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดโลกโดยเฉพาะในเอเชียและยุโรป การพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ในไทยจะช่วยให้การส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศรวดเร็วและลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตลาดสำหรับสินค้าที่ผลิตในไทย นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมการค้าระหว่างไทยและจีน รวมถึงการใช้เส้นทางการขนส่งสายใหม่ เช่น เส้นทางรถไฟและเส้นทางทะเลที่เปิดโอกาสในการทำธุรกิจระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น
[๑] การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว คือ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเน้นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการผลิตและการขนส่ง
[๒] อาลาซานโข่ว(阿拉山口) เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างจีนและคาซัคสถาน โดยเป็นจุดผ่านแดนที่ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของประเทศจีนซึ่งเชื่อมต่อกับคาซัคสถานผ่านเส้นทางรถไฟและทางถนน
[๓] ฮอร์กอส(霍尔果斯)เป็นเส้นทางการขนส่งที่สำคัญเชื่อมระหว่างจีนและคาซัคสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในประเทศจีน และเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศจีนและคาซัคสถานทั้งในด้านการคมนาคมทางบกและการค้าขาย โดยมีเส้นทางรถไฟและถนนที่เชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียกลางและยุโรป
[๔] ท่าเรือฉินโจว(钦州港)เป็นท่าเรือที่สำคัญของจีน ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในภาคใต้ของประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือหลักในเส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดในทั่วโลกโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางทะเล
ที่มา: เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
๑. https://www.cqnews.net/1/detail/1336241017183293440/web/content_1336241017183293440.html
ที่มา: เข้าถึงรูปภาพวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖