หนึ่งปีกับยุทธศาสตร์ “เมืองหัวสะพาน” ในยูนนาน
6 Jan 2014“การก่อสร้างเมืองหัวสะพานนับเป็นโอกาสที่หาได้ยาก และต้องพบกับความท้าทายมากมาย”คำกล่าวของนายหลี่ จี้เหิง ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน ที่มีต่อยุทธศาสตร์เมืองหัวสะพานเมื่ออายุครบ 1 ปีเต็ม จากการสัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์ People’s Daily Overseas Edition (人民日报海外版) ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2555
กำเนิดยุทธศาสตร์เมืองหัวสะพาน
ยุทธศาสตร์เมืองหัวสะพาน (Bridgehead Strategy) หรือภาษาจีนเรียกว่า “เฉียวโถวเป่า (桥头堡)” มีจุดเริ่มต้นมาจากการเยือนมณฑลยูนนานของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ระหว่างวันที่ 25 – 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และเห็นว่ายูนนานมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น กล่าวคือ มีอาณาเขตติดต่อกับอาเซียนถึง 3 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาวและเวียดนาม จึงควรอาศัยจุดเด่นดังกล่าวทำหน้าที่เสมือนเป็น “หัวสะพาน” ของภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เพื่อเชื่อมดินแดนจีนตอนในกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการแสวงหาทางออกสู่ทะเล ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 คณะรัฐมนตรีจีนได้อนุมัติและแถลง “ความคิดเห็นของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการสนับสนุนให้มณฑลยูนนานเร่งสร้างเมืองหัวสะพานเพื่อเปิดประเทศทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน” เป็นนัยยะที่ชี้ให้เห็นว่าแผนการพัฒนาอย่างเป็นทางการของยูนนานได้ยกระดับเป็นยุทธศาสตร์ระดับประเทศ และในวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 รัฐบาลมณฑลยูนนานได้ระดมพลและเปิดการประชุมขึ้นที่เมืองรุ่ยลี่ เขตเต๋อหง (เขตชายแดนจีน-พม่า) เพื่อเริ่มต้นการก่อสร้างเมืองหัวสะพานในยูนนาน………. จวบจนมีอายุครบ 1 ปีในวันนี้
ผลการดำเนินงาน 1 ปี
ที่สำคัญ ได้แก่
1. การสร้างกลไกการประสานงานของการดำเนินงานก่อสร้างเมืองหัวสะพานให้อยู่ในระดับประเทศ พูดกันง่าย ๆ ก็คือ หากยุทธศาสตร์เมืองหัวสะพานได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ก็จะกคอกกเพื่อเป็นหลักประกันว่าการก่อสร้างเมืองหัวสะพานหรือการทำให้มณฑลยูนนานกลายเป็นเมืองหัวสะพานทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนจะได้รับการพัฒนาอย่างราบรื่น ไม่มีสะดุดนั่นเอง โดยเมื่อปี 2554 หลังยุทธศาสตร์เมืองหัวสะพานผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ได้มีการประชุมการก่อสร้างเมืองหัวสะพานผ่านระบบการประชุมร่วมระดับรัฐมนตรี (inter-ministerial joint conference) ซึ่งนำโดยคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑลยูนนานกว่า 40 คน ขณะเดียวกัน ได้มีการพิมพ์การแบ่งแยกการทำงานที่สำคัญของการก่อสร้างเมืองหัวสะพานให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อเร่งผลักดันการก่อสร้างเมืองหัวสะพานให้มีหลักประกันที่แข็งแกร่งมากขึ้น
2. มีการลงนามหรือบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เป็นจำนวนมาก จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยูนนานได้มีการลงนามหรือบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับหน่วยงานระดับประเทศ 35 หน่วยงาน สถาบันการเงินของรัฐบาลกลาง 9 แห่ง และรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 25 แห่ง ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่า การก่อสร้างเมืองหัวสะพานได้รับการสนับสนุนและจะบรรลุเป้าหมาย รวมถึงมีมาตรการเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และมีการรวมตัวกันอย่างมีพลัง
3. มีการเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นโครงการทดน้ำบริเวณภาคกลางของมณฑลยูนนาน โครงการคมนาคมร่วมทางถนนและรถไฟเพื่อเชื่อมกับมณฑลตอนในและระหว่างประเทศ (ยูนนานได้ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงเพื่อเชื่อมจีน – เวียดนาม จีน-ลาว-ไทย จีน-พม่า และจีน-อินเดีย เส้นทางรถไฟยวี่ซี – บ่อหาน (ผ่านเข้าลาว) และเส้นทางต้าหลี่ – รุ่ยลี่ (ผ่านเข้าพม่า) เฟสแรก (ช่วงเป่าซาน – รุ่ยลี่) ก็ดำเนินการก่อสร้างอย่างราบรื่น รวมถึงการเร่งดำเนินการก่อสร้างท่าเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่และท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซจีน – พม่า) โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ยที่จะเปิดบริการในวันที่ 28 มิ.ย. 2555 ซึ่งเป็นสนามบินแห่งใหม่ของยูนนานที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน (รองจากสนามบินปักกิ่ง สนามบินผู่ตงในเซี่ยงไฮ้ และสนามบินไป๋หยุนในกว่างโจว) ทั้งนี้เพื่อให้ยูนนานมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างประเทศและเป็นเมืองท่าของภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้เป็นสำคัญ
4. มีความชัดเจนด้านการพัฒนาการบริการทางการเงินมากขึ้น ยูนนานเป็น 1 ใน 20 มณฑลนำร่องการชำระเงินสกุลหยวนเพื่อการค้าระหว่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2553 ทางการจีนได้อนุญาตให้วิสาหกิจนำร่องจำนวน 67,724 ราย สามารถทำการค้าด้วยเงินหยวน โดยเป็นวิสาหกิจในยูนนาน 1,043 ราย และเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2554 ธนาคารกลางของจีน (People’s Bank of China: PBC) สาขานครคุนหมิง ได้จัดพิธีเปิดการเริ่มซื้อ-ขายเงินบาทกับเงินหยวนโดยตรง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายกับมณฑลยูนนานสามารถชำระเงินเพื่อการค้าด้วยเงินสกุลหยวน และช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนโดยไม่ผ่านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย ทั้งนี้มีธนาคารพาณิชย์จีน 7 แห่งที่สามารถทำการซื้อขายเงินบาท-เงินหยวนโดยตรงผ่านตลาด China Foreign Exchange Trade System (CFETS) นครเซี่ยงไฮ้ ประกอบด้วย ธ.Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) ธ. Bank of China ธ.China Construction Bank (CCB) ธ.Bank of Communication ธ.Agricultural Bank of China ธ. Fudian (ธนาคารท้องถิ่นของยูนนาน) และ ธ.กรุงเทพ ประเทศจีน (ปัจจุบัน มี 4 สาขา ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และเซี่ยเหมิน) นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2554 ยูนนานได้เริ่มการก่อสร้าง Kunming Pan Asia Financial Central Park (昆明泛亚金融产业中心园区) บนพื้นที่ 2.3 ตร.กม.ในนครคุนหมิง ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้างราว 5 ปี ขณะนี้มีสถาบันการเงินแสดงเจตจำนงเข้าร่วมราว 31 แห่ง เพื่อให้ยูนนานกลายเป็นศูนย์บริการทางการเงินที่สำคัญของภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทั้งนี้ ปี 2553 ยูนนานมีการใช้เงินหยวนเพื่อชำระการค้าระหว่างประเทศจำนวน 8,312 ล้านหยวน และเพิ่มเป็น 25,027 ล้านหยวนในปี 2554 เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 3 เท่า
5. การมีส่วนร่วมบนความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องระหว่างยูนนานกับภาคเหนือของไทย ภาคเหนือของลาว และภาคเหนือของเวียดนาม รวมถึงการความร่วมมือด้านคมนาคมระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวันที่ 25 มี.ค. – 6 เม.ย. 2555 นายหลี่ จี้เหิง ผู้ว่าการมณฑลยูนนานพร้อมคณะตัวแทนรัฐบาลยูนนานและภาคเอกชนได้เดินทางเยือนกลุ่มประเทศ GMS 5 ประเทศ คือ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งได้มีการลงนามในโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ถึง 105 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 4,070 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ โดยไทยได้ลงนามความร่วมมือกับยูนนานถึง 11 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
6. การเปิดเขตชายแดนนำร่องและเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการและกำหนดให้รุ่ยลี่เป็นเขตชายแดนนำร่องสำคัญเพื่อการพัฒนาแบบเปิดประเทศ (pilot border sites of opening-up) การเร่งพัฒนาความร่วมมือในพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจฟ่านจูซานเจี่ยว (泛珠三角)** การจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ บนความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะงานคุนหมิงแฟร์ งานสัมมนาด้านธุรกิจจีน – เอเชียใต้ งานพ่อค้าจีน-อาเซียน กิจกรรมบนระเบียงเศรษฐกิจกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และงานแสดงสินค้ากลุ่มประเทศเอเชียใต้ รวมถึงเร่งพัฒนาเขตความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนจีน – พม่า (เจี่ยเก้า – มู่เจีย) จีน – ลาว (บ่อหาน – บ่อเต็น) จีน – เวียดนาม (เหอโข่ว – เหล่ากาย) ให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น อีกทั้งการสนับสนุนการสร้างเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเมืองเวียงจันทน์ในประเทศลาว เมืองเจียวเพียวและเมืองมิตจีน่าในประเทศพม่าอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ยูนนานกลายเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนแบบเปิดประเทศที่มีลักษณะพิเศษและมีความโดดเด่น
หมายเหตุ ** พื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจฟ่านจูซานเจี่ยว ( Pan-Pearl River Delta, 泛珠三角) ครอบคลุมมณฑลฝูเจี้ยน เจียงซี กว่างซี ไห่หนาน หูหนาน เสฉวน ยูนนาน กุ้ยโจว และกวางตุ้ง 9 มณฑล รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า หรือเรียกสั้นๆ ว่า 9+2
ก้าวต่อไปสู่ยุค “เมืองหัวสะพาน”
1 ปีแห่งการฝ่าฝัน ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจ 1 ปีแห่งการบุกเบิก ก่อเกิดเป็นความยินดี 1 ปีแห่งความสำเร็จ ก่อเกิดเป็นกำลังใจ จากนี้ไป เราคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและลุ้นกันว่า จากเด็กที่เริ่มคลาน เริ่มหัดเกาะยืน และกลายเป็นเด็ก 1 ขวบที่เดินได้ปร๋อ ยูนนานจะพัฒนาตัวเองได้รวดเร็วเพียงใดเมื่อต้องก้าวสู่ยุค “เมืองหัวสะพาน” และจากการสัมภาษณ์นายหลี่ จี้เหิง ของหนังสือพิมพ์ People’s Daily Overseas Edition ในประเด็นที่ว่ายูนนานมีแนวความคิดอย่างไรกับก้าวต่อไปของการก่อสร้างเมืองหัวสะพาน ผู้ว่าการมณฑลยูนนานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ 5 ประเด็นสำคัญ คือ
1. เร่งการดำเนินงานเพื่อให้ “แผนโดยรวมของการก่อสร้างเมืองหัวสะพาน” ผ่านมาอนุมัติ ปัจจุบัน ยูนนานร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจัดทำ “แผนโดยรวมของการก่อสร้างเมืองหัวสะพาน” ขึ้น และได้ยื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติ หากผ่านการพิจารณาพร้อมอนุมัติงบประมาณ การดำเนินงานการก่อสร้างเมืองหัวสะพานก็จะสามารถดำเนินงานได้ตามแผนและบรรลุเป้าหมายที่ก้าวหน้าต่อไป และหลังจากนั้นจะต้องจัดการประชุมร่วมอีกครั้ง เพื่อถกถึงปัญหาที่สำคัญบางประเด็นในการก่อสร้างเมืองหัวสะพาน ซึ่งทางรัฐบาลยูนนานก็ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้แผนดังกล่าวได้ผ่านการอนุมัติอย่างรวดเร็ว
2. ผลักดันการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคม พลังงาน และการแปรรูปเพื่อการนำเข้า-ส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนเครือข่ายเส้นทางรถไฟแพนเอเชียและเครือข่ายทางหลวงเอเชีย เพื่อร่วมมือวิจัย วางแผนและก่อสร้างเส้นทางคมนาคมกับประเทศชายแดนเพื่อนบ้านให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น รวมถึงการยกระดับช่องทางการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องของด่านต่าง ๆ และการสื่อสารให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
3. สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยสร้างความร่วมมือและมิตรภาพที่ดีกับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ยกระดับความร่วมมือระหว่างยูนนานกับภาคเหนือของไทย ภาคเหนือของลาว และภาคเหนือของเวียดนาม รวมถึงสร้างความร่วมมือที่ดีกับเขตการค้าเสรีอาเซียน กลุ่มประเทศ GMS และเขตพื้นที่จีน-พม่า-อินเดีย-บังคลาเทศ อีกทั้งขยายการติดต่อกับประเทศกัมพูชา อินเดีย บังคลาเทศ และศรีลังกา
4. เร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเด่น โดยปรับปรุงและยกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิม พัฒนาอุตสาหกรรมดาวรุ่ง (Emerging industrial) ให้มีมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์มากขึ้น ปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมให้ดีขึ้น ปรับภาคการเกษตรให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และส่งเสริมภาคบริการให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
5. เร่งสร้างเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนและแนวชายแดน โดยจะมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการชายแดน ความร่วมมือข้ามพรมแดน การเงิน การจัดเก็บภาษี ที่ดินสำหรับโครงการ การดำเนินงานและการบริหาร ทั้งนี้เพื่อให้ระบบและนโยบายตรงเป้าหมายมากขึ้น มีการประสานงานที่เพิ่มขึ้น และเพื่อความพยายามที่จะก้าวออกไปสู่ถนนสายใหม่แบบเปิดประเทศของยูนนาน
แหล่งข้อมูล
1. หนังสือพิมพ์ People’s Daily Overseas Edition (人民日报海外版)
2. เวปไซต์ www.yn.xinhuanet.com