“ส่านซี” เจ้าภาพกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 14 ผ่าวิกฤติ COVID-19 นำเทคโนโลยีดันกระแสรักษ์โลก
20 Sep 2021วันนี้ BIC นครซีอาน ขอนำทุกท่านมารู้จักกับการกีฬาแห่งชาติจีนครั้งที่ 14 ที่ได้เริ่มเปิดฉากเมื่อวันที่15 กันยายน 2564 โดยมีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นประธานกล่าวเปิดอย่างเป็นทางการมณฑลส่านซี ถือเป็นมณฑลแรกในภูมิภาคจีนตะวันตกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 15-27 กันยายน 2564 ซึ่งถือเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่ครั้งแรกของจีน หลังเว้นว่างไปตั้งแต่การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง และเป็นการจัดแข่งขันกีฬาครั้งแรกภายหลังการฟื้นตัวจาก COVID-19 เหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นว่า จีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 และพร้อมสำหรับการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ได้แล้ว
งานแข่งขันกีฬาฯ ครั้งนี้ ใช้เวลาเตรียมการนานกว่า 964 วัน โดยหลังจากที่คณะมนตรีแห่งรัฐ อนุมัติให้มณฑลส่านซีเป็นเจ้าภาพจัดงานฯ ครั้งที่ 14 เมื่อปลายปี 2558 รัฐบาลมณฑลส่านซีได้เริ่มตระเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ โดยได้ตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมงานฯ ชุดแรกเมื่อเดือนกันยายน 2559 โดยมีผู้ว่าการมณฑลฯเป็นหัวหน้าคณะทำงาน
พิธีเปิดฯ
พื้นที่จัดงานฯ หลัก ครอบคลุมกว่า 150,000 ตร.ม. ด้วยงบประมาณ 26,000 ล้านหยวน ประกอบด้วย 3 ศูนย์ (Three Centers) ได้แก่ ศูนย์ประชุมและศูนย์จัดแสดงสินค้านานาชาติเส้นทางสายไหมนครซีอาน และศูนย์กีฬาโอลิมปิกนครซีอาน (Xi’an Olympic Sport Centre)
ศูนย์กีฬาโอลิมปิกนครซีอาน (Xi’an Olympic Sport Centre) สามารถจุผู้ชมได้สูงสุด 60,000 คน
มีการออกแบบและก่อสร้างให้มีลักษณะคล้ายดอกทับทิม “ดอกไม้ประจำนครซีอาน”
นอกจากนี้ ยังมีสนามแข่งขันอื่นๆ รวม 59 แห่ง
นอกจากการทุ่มงบประมาณการก่อสร้างพื้นที่แข่งขันแล้ว มณฑลส่านซียังได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในงานฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเป็นต้นแบบการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถดำเนินไปพร้อมกับมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ ได้แก่
ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
1. ติดตั้งระบบอัจฉริยะขนาดใหญ่ (Large Intelligent System) กว่า 63 ระบบภายในอาคาร Xi’an Olympic Stadium โดยเชื่อมต่อดาวเทียมสื่อสารเป๋ยโต่วหมายเลข 3 (北斗三号) พร้อมระบบสื่อสาร 5G ที่ติดตั้งทั่วพื้นที่การแข่งขัน เพื่อใช้ในการถ่ายทอดสด ใช้เทคโนโลยี VAR ช่วยการตัดสินเกมส์ (Penalty Review) การนำระบบถ่ายทอดสดแบบ VR และกล้องพาโนรามา 360 องศา
2. ติดตั้งระบบถ่ายทอดสด ระดับ 4K (Ultra-High Definition) ทำให้ผู้รับชมทาง APP และทางทีวีสามารถรับชมได้อย่างมีอรรถรส ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในจีน
3. ติดตั้งระบบให้บริการศูนย์ข้อมูล BIG Data และระบบ AI ให้คำแนะนำผู้เข้าชมการแข่งขันผ่านศูนย์บัญชาการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ (新一代信息技术建设赛事指挥中心: A new generation of information technology to build a competition command center)ลดการสัมผัสระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้เข้าชม รวมถึงสร้างช่องทางการซื้อบัตรผ่านประตูออนไลน์ผ่าน Wechat Official “十四运官方票务: Official Ticketing of the Fourteenth National Games” ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
4. บริการพยากรณ์อากาศก่อนการเข้าชมกีฬาผ่าน “秦智网格” โดยสำนักงานอุตุนิยมมณฑลส่านซีร่วมกับวิสาหกิจ GLARUNTECH จากเมืองหนานจิง ผู้คิดค้นเรดาห์ตรวจจับสภาพอากาศแบบ 2 ขั้ว (波段双偏振相控阵天气雷达) มาใช้ในการพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้า
ด้านอาคารและสถานที่
1. ติดตั้งระบบ Solar Cells บนอาคารที่ใช้แข่งขันกีฬาทางน้ำและอาคารอเนกประสงค์ ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าและระบบทำน้ำร้อนภายในอาคารที่มีพื้นที่กว่า 100,400 ตร.ม. ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 200,000 ตัน และยังผ่านการรับรองขั้นตอนการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก China Certified Emission Reduction Exchange Info-Platform (国家核证自愿排量) ด้วย
2. ออกคำสั่งควบคุมการปล่อยมลพิษในอากาศของจากโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม โรงแรมและร้านอาหารขนาดใหญ่ กว่า 13,000 แห่ง เพื่อให้นครซีอานมีคุณภาพอากาศที่ได้มาตรฐาน
3. ออกแบบอาคาร Xi’an Olympic Stadium ให้มีช่องขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป เพื่อเพิ่มระบบทำเย็นในการแข่งขันกีฬาไอซ์สเกต โดยเปลี่ยนสนามบาสเก็ตบอลให้เป็นฐานน้ำแข็งได้ภายใน 48 ชั่วโมง
4. ใช้พลังงานสะอาด โดยระบบไฟฟ้าทั้งหมดในพื้นที่การแข่งขั้นทั้ง 59 สนาม เป็นไฟฟ้าที่มาจากการผลิตด้วยพลังงานสะอาดทั้งหมด ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 1,380 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง จะสามารถลดปริมาณการเผาไหม้ถ่านหินที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าแบบดั้งเดิมได้ 69,000 ตัน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซด์ได้ 111,700 ตัน
5. เพิ่มพื้นที่ “สีเขียว” ทั่วนครซีอาน ด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มกว่า 50,000 ต้น ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5.85 ตารางกิโลเมตร สามารถฟอกอากาศได้มากถึงร้อยละ 85 ทั่วนครซีอาน
นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการยกระดับการแข่งขันกีฬาแล้ว ยังเป็นเวทีสำคัญในการยืนยันว่าการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่สามารถดำเนินควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมได้ และยังเป็นศูนย์รวมของนักกีฬาที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่ผ่านสนามโอลิมปิกมาแล้ว อาทิ เฉินหลิง (谌龙) หวัง ยี่ลวี่ (王懿律) มีนักกีฬาเข้าร่วมชิงชัยกว่า 12,000 คน ทั้งนี้ ในวันที่ 22 – 29 ตุลาคม 2564 มณฑลส่านซีจะเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมกีฬาคนพิการแห่งชาติครั้งที่ 11 อีกด้วย อย่างไรก็ดี จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 มณฑลส่านซีได้เพิ่มความเข้มงวดในการเดินทางเข้า-ออกนครซีอาน ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2564 เป็นต้นมา โดยขอให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างเมืองในมณฑลส่านซี จะต้องแสดงผลตรวจ COVID-19 Free ภายใน 48 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้านครซีอานและผู้ที่เดินทางมาจากต่างมณฑลจะต้องเข้ารับการกักตัว ณ สถานที่ที่รัฐจัดให้เป็นเวลา 14 วัน พร้อมเข้ารับการตรวจหาเชื้อฯ ก่อน 2 ครั้ง จึงจะสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวหรือใช้ชีวิตในนครซีอานได้ ด้วยเหตุนี้ ทำให้จากเดิมที่มณฑลส่านซี คาดการณ์ว่า ตลอดการจัดงานฯ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังนครซีอานและสามารถกระตุ้นการบริโภคในพื้นที่ได้จำนวนมาก ไม่เป็นไปดังคาด โดยมณฑลส่านซีได้เน้นการถ่ายทอดสด ตลอดจนเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับงานฯ ให้เลือกซื้อทางออนไลน์เป็นหลัก อาทิ Taobao.com JD.com (ชื่อร้าน 第十四届全国运动会旗舰店)
ผู้สนใจสามารถติดตามชมข่าวความเคลื่อนไหวของการจัดการแข่งขันกีฬาผ่านทาง Official Website ของการแข่งขันกีฬาแห่งชาติจีนครั้งที่ 14 ได้ที่ (https://www.2021shaanxi.com/) ทั้งนี้ BIC นครซีอานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวคิดรวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ของการจัดการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการจัดกิจกรรม การแข่งขันกีฬา หรือการประชุมต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2565 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาสำคัญของทวีปเอเชีย ได้แก่ กีฬาเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 หรือเรียกว่า “กรุงเทพฯ-ชลบุรี 2022” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร และ ชลบุรี ระหว่างวันที่ 10 – 19 มีนาคม 2565