สรุปคำกล่าวของประธานาธิบดีจีนในการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2560
19 Jan 2017เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 นายสี จิ้นผิง ปธน. จีน ได้เข้าร่วมและกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิด การประชุม World Economic Forum (WEF) 2017 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. มุมมองต่อเศรษฐกิจโลกและโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ
1.1 โลกในทุกวันนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง โลกในปัจจุบันมีความเจริญทางวัตถุ มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาของอารยธรรมมนุษย์อยู่ในระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ในอีกด้านหนึ่งโลกก็เกิดความขัดแย้ง มีปัญหาเรื่องการก่อการร้าย ปัญหาผู้ลี้ภัย ความยากจน และการว่างงาน ความเหลื่อมล้ำของรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น
1.2 ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกหลายประการในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ อาทิ ปัญหาผู้ลี้ภัยในภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือซึ่งเกิดจากสงครามและความขัดแย้งในภูมิภาค และวิกฤติทางการเงินของโลกเกิดจากความล้มเหลวของกฎระเบียบทางการเงิน โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจนับเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของสินค้าและเงินทุน และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน อย่างไรก็ดี โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจก็เป็น double – edged sword ในขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผลประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจน้อยลง ก็ทำให้เกิดการขัดแย้งในหลายด้าน ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต่างได้รับผลกระทบ
1.3 จีนเคยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและไม่มั่นใจว่าควรจะเข้าเป็นสมาชิก WTO หรือไม่ อย่างไรก็ดี จีนได้ข้อสรุปว่าหากจีนต้องการที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะต้องเข้าสู่ตลาดโลกซึ่งแรกเริ่มก็เผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ แต่ก็สามารถที่จะเรียนรู้และปรับตัวได้
2. ปัญหาของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน
2.1 การขาดแคลนแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ทำให้เศรษฐกิจโลกไม่สามารถเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปี อัตราการเติบโตของภาคการค้าระหว่างประเทศต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นไม่ได้เกิดผลตามที่คาดการณ์ไว้ แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ เช่น Artificial Intelligence และการพิมพ์ 3 มิติ เป็นต้น แต่เศรษฐกิจโลกก็ยังหาทางออกใหม่ไม่ได้
2.2 ระบบการกำกับดูแลเศรษฐกิจโลกไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้ อาทิ รูปแบบธุรกิจทั่วโลกมีการปรับตัวต่อเนื่องแต่กฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่
2.3 การขาดความสมดุลในการพัฒนาของโลกไม่ตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนในการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้และโอกาสในการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความไม่สงบในหลายประเทศ
3. ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก
3.1 พัฒนารูปแบบการเติบโตที่เน้นนวัตกรรม โดยนวัตกรรมและการปฏิรูปจะสามารถส่งเสริมการพัฒนาและเติบโตของเศรษฐกิจโลก
3.2 พัฒนารูปแบบความร่วมมือในลักษณะ ‘win-win’ เพื่อผลประโยชน์ร่วมของกันและกัน โดยยึดมั่น (remain committed) กับหลักการค้าเสรี ส่งเสริมการเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน และไม่ดำเนินการปกป้องทางการค้า โดยจะไม่มีใครเป็นผู้ชนะจากสงครามทางการค้า
3.3 พัฒนาระบบการกำกับดูแลเศรษฐกิจโลกให้มีความยุติธรรมและเหมาะสม ประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก แข็งแกร่งหรืออ่อนแอ รวยหรือจน ถือเป็นสมาชิกของประชาคมโลกและควรมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่าง ๆ ได้รับสิทธิต่าง ๆ และปฏิบัติตามข้อผูกพันต่าง ๆ โดยเท่าเทียมกัน โดยตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาควรได้รับการยอมรับให้มีบทบาทและการแสดงความเห็นมากขึ้น
3.4 พัฒนารูปแบบการพัฒนาที่มีความสมดุล เท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ
4. การพัฒนาของจีน
4.1 ในช่วงเวลา 38 ปีของการปฏิรูปและเปิดประเทศ จีนได้พัฒนาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จีนสามารถหาแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับภาวะและเงื่อนไขต่าง ๆ ของจีน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจีนสามารถทำให้ประชากรกว่า 700 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน
4.2 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จีนได้ออกมาตรการกว่า 1,200 รายการเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปและการพัฒนาในระยะยาวได้สำเร็จ
4.3 จีนยึดหลักการเปิดประเทศและการเปิดประเทศในลักษณะ win – win โดยการพัฒนาของจีนเน้นทั้งภายในและนอกประเทศ ระหว่างปี 2493 – 2559 จีนให้ความช่วยเหลือต่างประเทศมูลค่ากว่า 4 แสนล้านหยวน ดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ 5,000 กว่าโครงการ และจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกว่า 11,000 ครั้ง สำหรับผู้แทนกว่า 260,000 คน จากประเทศกำลังพัฒนา ตั้งแต่ที่จีนเริ่มปฏิรูปและเปิดประเทศ จีนได้ดึงดูดทุนต่างประเทศมากกว่า 1.7 ล้านล้านหยวน ในขณะที่จีนลงทุนในต่างประเทศมากกว่า 1.2 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และตั้งแต่วิกฤติการเงินโลก การเติบโตของเศรษฐกิจจีนคิดเป็นร้อยละ 30 ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยการพัฒนาของจีนถือเป็นโอกาสสำหรับทั่วโลก
4.4 จีนไม่เพียงแต่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากกระบวนการโลกาพิวัตน์ทางเศรษฐกิจ การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนำไปสู่ความมั่นคงและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยจีนไม่ได้รู้สึกอิจฉาประเทศอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จและได้รับประโยชน์จากโลกาพิวัตน์ทางเศรษฐกิจ และจะไม่แสดงความไม่พอใจหากประเทศใดได้รับประโยชน์จากโอกาสการพัฒนาที่ได้จากจีน
5. ภาวะเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน
5.1 ปัจจุบัน การพัฒนาของเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะ ’new normal’ ซึ่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ รูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โครงสร้างเศรษฐกิจ และแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในภาพรวม เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มการพัฒนาที่ดีในระยะยาว
5.2 สำหรับเศรษฐกิจจีนในปี 2559 ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตที่ร้อยละ 6.7 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก การบริโภคของประชาชนจีนและภาคบริการเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจีน ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2559 ภาคบริการครองสัดส่วนร้อยละ 52.8 ของ GDP การบริโภคมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจถึงร้อยละ 71 รายได้ของประชาชนและการจ้างงานมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และการใช้พลังงานต่อหน่วย GDP ลดลงอย่างต่อเนื่อง
5.3 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนยังเผชิญแรงกดดันและอุปสรรคให้เกิดการชะลอตัวสูง อาทิ ปัญหากำลังการผลิตล้นตลาด การขาดแคลนแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ ความเสี่ยงทางการเงิน และการพัฒนาที่ไม่สมดุลระหว่างภูมิภาค จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดของโลกและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนยังไม่ได้อยู่ในระดับสูง ซึ่งแสดงว่าจีนยังมีศักยภาพในการพัฒนา ทั้งนี้ จีนจะยืนหยัดแนวทางการพัฒนาที่เน้นนวัตกรรม การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน การเติบโตสีเขียว การเปิดประเทศ และการแบ่งปัน เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับปานกลางถึงสูงต่อไป
6. นโยบายเศรษฐกิจจีนในภาพรวม
6.1 จีนจะเน้นคุณภาพและประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยจะผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทาน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และพัฒนาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีชั้นสูง ดำเนินการตามแผนงาน ‘Internet+’ ตลอดจนการเพิ่มสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
6.2 จีนจะกระตุ้นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยจะผลักดันการปฏิรูปในสาขาธุรกิจที่สำคัญ รวมทั้งให้กลไกตลาดมีบทบาทมากขึ้นในการจัดสรรทรัพยากร ตลอดจนเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และนำเทคโนโลยีใหม่ไปใช้ในการยกระดับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม
6.3 จีนจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ลดขั้นตอนการลงทุนสำหรับต่างชาติ พัฒนาเขตทดลองการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อให้ตลาดจีนมีความโปร่งใสและเป็นระเบียบมากขึ้น คาดว่า ใน 5 ปีข้างหน้า จีนจะนำเข้าสินค้ามูลค่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดึงดูดทุนต่างชาติ 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนในต่างประเทศ 7.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ และจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ 700 ล้านเที่ยว ซึ่งจีนเป็นตลาดที่ใหญ่และจะเป็นโอกาสทางการค้าและการลงทุนของทุกประเทศทั่วโลก
6.4 จีนจะผลักดัน FTAAP และการเจรจา RCEP เพื่อสร้างเครือข่ายเขตการค้าเสรี โดยจีนจะต่อต้านการรวมกลุ่ม (exclusive group) ที่แตกแยก (fragmented in nature) และไม่มีแผนที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้าโดยการลดค่าเงินหยวนหรือเป็นผู้ริเริ่มสงครามค่าเงิน
7. One Belt One Road Summit
7.1 เมื่อ 3 ปีที่แล้ว จีนได้เสนอข้อริเริ่ม ‘One Belt One Road’ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากกว่า 100 ประเทศ/องค์การระหว่างประเทศ และมากกว่า 40 ประเทศ/องค์การระหว่างประเทศได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับจีน ที่ผ่านมา วิสาหกิจจีนได้ลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศตามเส้นทาง ‘One Belt One Road’ และหลายโครงการสำคัญได้เริ่มการก่อสร้างแล้ว และได้ช่วยผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในท้องถิ่น
7.2 ในเดือน พ.ค. 2560 จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Belt and Road Forum for International Cooperation ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อเป็นเวทีในการหารือแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อให้ One Belt One Road เกิดประโยชน์ต่อประชาชนของแต่ละประเทศ
8. ประวัติศาสตร์โลกแสดงให้เห็นว่าอารยธรรมมนุษย์ไม่ได้พัฒนาขึ้นโดยไม่มีอุปสรรค และการพัฒนาเกิดขึ้นโดยการเอาชนะความยากลำบากต่าง ๆ และเมื่อปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ เกิดขึ้น ไม่ควรจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เกิดความหมดความมั่นใจ หรือหนีความรับผิดชอบ แต่ทุกฝ่ายควรจะร่วมมือกันในการเผชิญกับความท้าทายเพื่ออนาคตที่สดใสต่อไป