มูลค่า GDP มณฑลฝูเจี้ยนในปี 2562 แซงหน้ามูลค่า GDP ไต้หวันเป็นครั้งแรก

19 Aug 2020

โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

 

ในช่วงเวลาที่จีนเริ่มดำเนินนโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มูลค่า GDP ของฝูเจี้ยนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.5 ของมูลค่า GDP ของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 ในปี 2555 เป็นต้นมา การพัฒนาเศรษฐกิจของฝูเจี้ยนเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงปี 2557-2562 ฝูเจี้ยนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละร้อยละ 8.5 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภาคตะวันออกของจีน และในปี 2562 มูลค่า GDP ของฝูเจี้ยนทะลุ 4 ล้านล้านหยวน (เท่ากับ 6.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแซงหน้ามูลค่า GDP ไต้หวัน (เท่ากับ 6.11 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นครั้งแรก

ความได้เปรียบของฝูเจี้ยน กิจการท่าเรือเป็นตัววัดการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญประการหนึ่งของเมืองติดทะเล ในปี 2562 การพัฒนาท่าเรือเซี่ยเหมินเพื่อยกระดับสู่ความเป็นสากลและติดอันดับ 7 ท่าเรือ    ชั้นนำของจีน โดยลดภาษีและขั้นตอนด้านศุลกากรในการนำเข้าและส่งออกสินค้า ในปี 2562 มีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าผ่านท่าเรือเซี่ยเหมินมากกว่า 11.12 ล้านตู้มาตรฐาน สูงเป็นอันดับ 11 ของกลุ่มเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก และมีปริมาณมากเป็นอันดับที่ 14 ของโลก แซงหน้าปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือเกาสง ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้ามากที่สุดของไต้หวัน

มองจากด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของฝูเจี้ยนได้แซงหน้าไต้หวันมานาน อาทิ การก่อสร้างทางรถไฟ ทางถนนและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โดยในปี 2561 ระยะทางรถไฟทั้งหมดของฝูเจี้ยนยาวกว่าระยะทางรถไฟทั้งหมดของไต้หวันกว่า 2.5 เท่า ในแง่อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตขั้นปฐมภูมิและการผลิตขั้นทุติยภูมิของฝูเจี้ยนแซงหน้าไต้หวันเช่นกัน โดยในปี 2562 มูลค่าการผลิตขั้นปฐมภูมิของฝูเจี้ยนสูงกว่าไต้หวันกว่า 3.5 เท่า และมูลค่าการผลิตขั้นทุติยภูมิของฝูเจี้ยนสูงกว่าไต้หวันกว่า 1.2 เท่า อย่างไรก็ตาม มูลค่าการผลิตขั้นตติยภูมิของฝูเจี้ยนยังสูงไม่เท่าไต้หวัน โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.4 ของไต้หวัน

ความสำคัญของฝูเจี้ยนที่มีต่อไต้หวัน ฝูเจี้ยนเป็นเมืองแห่งแรกสำหรับชาวไต้หวันในการเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ปัจจุบัน มีวิสาหกิจไต้หวันรวม 76 แห่งตั้งอยู่ในเมืองจางโจวของมณฑลฝูเจี้ยน และในจำนวนนี้ มีวิสาหกิจในสาขาการผลิตใบชาเกาซาน 48 แห่ง (ชาเกาซานเป็นชาชนิดหนึ่งของชา  อูหลงและปลูกตามภูเขาสูง) มีปริมาณการผลิตเฉลี่ยปีละ 1,600 ตัน มีมูลค่าการผลิตเฉลี่ยปีละ 720 ล้านหยวน สร้างงานแก่เกษตรกรไต้หวันกว่า 600 คน นอกจากนี้ ในปี 2562 ฝูเจี้ยนดึงดูดโครงการการลงทุนจากไต้หวันได้กว่า 1,300 รายการ และมีวิสาหกิจไต้หวันสะสมในพื้นที่กว่า 10,000 แห่ง รวมทั้งมีแรงงานในกลุ่มวัยทำงาน  รุ่นใหม่เข้ามาฝึกงานที่ฝูเจี้ยนสะสมกว่า 36,000 คน

ความได้เปรียบของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามูลค่า GDP ของฝูเจี้ยนได้แซงหน้ามูลค่า GDP ของไต้หวันเป็นครั้งแรก แต่ไต้หวันยังมีความได้เปรียบในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในสาขาสารกึ่งตัวนำ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เภสัชกรรมและชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน รัฐบาลฝูเจี้ยนกำลังเร่งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงให้ก้าวหน้า โดยเมื่อเดือน มี.ค. 2563 รัฐบาลฝูเจี้ยนลงทุนมูลค่า 5 หมื่นล้านหยวนในการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมเคมีว่านฮั่วที่นครฝูโจว เพื่อเป็นฐานการผลิตโพลียูรีเทนระดับโลก และมุ่งยกระดับการผลิตคุณภาพของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของฝูเจี้ยน

แหล่งอ้างอิง http://www.fujian.gov.cn/xw/fjyw/202007/t20200728_5332248.htm

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน