มูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรมของมณฑลเสฉวนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

29 Aug 2024

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 สำนักงานสถิติมณฑลเสฉวนได้เปิดเผยข้อมูลตัวชี้วัดหลักของเศรษฐกิจระดับชาติของมณฑลเสฉวนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 ระบุว่าในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้ มูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรมของมณฑลเสฉวนเติบโตขึ้นร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบเป็นรายปี มีอัตราการเติบโตสูงกว่าระดับชาติอยู่ร้อยละ 0.1 นอกจากนี้แล้ว ยอดค้าปลีกรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคของมณฑลเสฉวนอยู่ที่ 1,545,280 ล้านหยวน (216,339 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี มีอัตราการเติบโตสูงกว่าระดับชาติอยู่ร้อยละ 1.1

ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตัวชี้วัดสองตัวดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ ในทางกลับกัน อัตราการเติบโตได้ลดลงร้อยละ 0.8 และร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีนี้ตามลำดับ

ในด้านการเติบโตของอุตสาหกรรม พบว่าใน 41 อุตสาหกรรมหลัก มี 31 อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้น ในจำนวนนี้อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์และวัตถุดิบเคมีเติบโตขึ้นร้อยละ 20.8 อุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเติบโตขึ้นร้อยละ 8.5 อุตสาหกรรมการผลิตและการจ่ายพลังงานไฟฟ้าและความร้อนเติบโตขึ้นร้อยละ 5.9 อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เติบโตขึ้นร้อยละ 5.5 อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และชาเติบโตขึ้นร้อยละ 3.8 และอุตสาหกรรมการถลุงและแปรรูปโลหะดำเติบโตขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ในด้านการผลิตสินค้าหลักในภาคอุตสาหกรรม พบว่าการผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 การผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 การผลิตซิลิคอนเดี่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 87.2 การผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.6 การผลิตแร่ฟอสเฟตเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.2 การผลิตปุ๋ยฟอสเฟตเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 และการผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ในด้านอัตราการขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 94.4

ในด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ฝนตกอย่างต่อเนื่องและสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของมณฑลเสฉวน (ไม่รวมครัวเรือน) เติบโตขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบเป็นรายปี มีการชะลอตัวลงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับการเติบโตในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ เมื่อพิจารณาแยกตามภาคการลงทุน พบว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมปฐมภูมิ[1]เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 การลงทุนในอุตสาหกรรมทุติยภูมิ[2]เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมตติยภูมิ[3]ลดลงร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะในโครงการใหญ่ ๆ ยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างเห็นได้ชัด

ในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 12 พื้นที่ก่อสร้างของอาคารพาณิชย์ลดลงร้อยละ 11 และพื้นที่ขายของอาคารพาณิชย์ลดลงร้อยละ 23.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ในด้านตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค พบว่ารายได้จากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าอยู่ที่ 214,840 ล้านหยวน (30,078 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 การค้าปลีกสินค้ามีมูลค่าอยู่ที่ 1,330,440 ล้านหยวน (186,262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)  เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 การค้าปลีกสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ดำเนินการโดยบริษัทหรือหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่มีมูลค่าอยู่ที่ 100,740 ล้านหยวน (14,104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ในด้านสินค้าที่ได้รับความนิยม พบว่ายอดค้าปลีกสินค้าประเภทเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงานของบริษัท (หน่วยงาน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 สินค้าประเภทข้าว น้ำมันพืช อาหาร เครื่องดื่ม บุหรี่ และสุราเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 สินค้าประเภทยาแผนจีนและแผนปัจจุบันเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 และสินค้าประเภทอุปกรณ์กีฬาและบันเทิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี การเติบโตทางอุตสาหกรรมของมณฑลเสฉวน เป็นโอกาสที่ทำให้วิสาหกิจไทยสามารถขยายการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างไทยและมณฑลเสฉวนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของยอดค้าปลีกสินค้าออนไลน์ในมณฑลเสฉวน ยังเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซระหว่างไทยกับจีน ซึ่งสามารถเป็นช่องทางสำคัญในการขยายตลาดสินค้าไทยสู่ผู้บริโภคชาวจีนได้ อีกทั้งความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสินค้าประเภทเครื่องใช้สำนักงาน อาหาร เครื่องดื่ม ยา และอุปกรณ์กีฬาในมณฑลเสฉวน ยังสร้างโอกาสที่ดีให้ผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกสินค้าเหล่านี้เข้าสู่ตลาดจีน


ที่มาข้อมูล:

  • เว็บไซต์ sc.news (เข้าถึงเมื่อ 21 สิงหาคม 2567)

http://www.sc.news.cn/20240817/9c0ad444871344dda41667838f4a9dd4/c.html


[1] อุตสาหกรรมปฐมภูมิ ได้แก่ เกษตรกรรม ป่าไม้ การเลี้ยงสัตว์ การประมง ฯลฯ

[2] อุตสาหกรรมทุติยภูมิ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมการผลิต (ไม่รวมการซ่อมแซมเครื่องจักร อุปกรณ์) การผลิตและการจัดหาไฟฟ้า ก๊าซและน้ำ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ฯลฯ

[3] อุตสาหกรรมตติยภูมิ คือ อุตสาหกรรมการบริการ อาทิ การขนส่ง คลังสินค้าและไปรษณีย์ การส่งข้อมูล บริการด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ค้าส่งและค้าปลีก โรงแรมที่พักและอาหาร การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจใช้เช่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ บริการทางเทคนิค การสำรวจทางธรณีวิทยา การอนุรักษ์น้ำ การจัดการสิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ การบริการที่อยู่อาศัย และการบริการอื่น ๆ การศึกษา สุขภาพ ประกันสังคมและสวัสดิการสังคม วัฒนธรรม กีฬาความบันเทิง และการท่องเที่ยว ฯลฯ

Chengdu_editor

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน