มูลค่าการค้าต่างประเทศของมณฑลเสฉวนในปี ๒๕๖๗ ทะลุ ๑ ล้านล้านหยวนอีกครั้ง มูลค่าส่งออกและนำเข้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

7 Feb 2025

ศุลกากรนครเฉิงตูรายงานว่า ตามสถิติของศุลกากรนครเฉิงตู ในปี ๒๕๖๗ มณฑลเสฉวนมีมูลค่าการค้าต่างประเทศรวม ๑,๐๔๕,๗๒๐ ล้านหยวน (๑๔๔,๔๐๑.๗๓๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ ๙.๔ เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ร้อยละ ๔.๔ โดยการส่งออกมีมูลค่า ๖๑๗,๗๗๐ ล้านหยวน (๘๕,๓๖๕.๒๓๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ)เพิ่มขึ้น ร้อยละ ๒.๔ และการนำเข้ามีมูลค่า ๔๒๗,๙๕๐ ล้านหยวน (๕๙,๐๘๘.๗๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ)เพิ่มขึ้น ร้อยละ ๒๑.๓ นอกจากนี้ การพัฒนาการค้าต่างประเทศของมณฑลเสฉวนตลอดทั้งปีบรรลุ ๓ สถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมี ๔ ความก้าวหน้าสำคัญ

๑. ขนาดการค้าต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง มณฑลเสฉวนบรรลุ สถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดังนี้

  • มณฑลเสฉวนมีมูลค่าการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ – ในปี ๒๕๖๗ มณฑลเสฉวนมีมูลค่าการค้ารวมการส่งออก และการนำเข้าทั้งหมดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยแนวโน้มรายไตรมาสแสดงให้เห็นว่ามูลค่าการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดปี นับเป็นครั้งที่สองที่ทะลุ ๑ ล้านล้านหยวน (๑๓๘.๑ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) หลังจากปี ๒๕๖๕ ส่วนในเดือนธันวาคม มูลค่าการค้ารายเดือนทะลุ ๑ แสนล้านหยวน (๑๓.๘๑ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นครั้งแรก
  • มณฑลเสฉวนมีการเติบโตของการค้าระดับประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ – สัดส่วนการค้าของมณฑลเสฉวนต่อทั้งประเทศอยู่ที่ ร้อยละ ๒.๔ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และปริมาณการค้าเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ ๕ ของประเทศ โดยเฉพาะการนำเข้าที่เติบโตโดดเด่น อัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ ๘ และมีส่วนร่วมต่อการเติบโตของการนำเข้าระดับประเทศถึง ร้อยละ ๑๘.๕ เป็นอันดับ ๓ ของประเทศ
  • มณฑลเสฉวนมีจำนวนผู้ประกอบการค้าต่างประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ – ในปี ๒๕๖๗ มณฑลเสฉวนมีบริษัทที่มีการค้าต่างประเทศกว่า ๙,๐๐๐ ราย เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ ๑๐ โดยภาคธุรกิจเอกชนคิดเป็น ร้อยละ ๙๐ ของจำนวนทั้งหมด มีมูลค่าการค้ารวม ๔๔๒,๗๗๐ ล้านหยวน (๖๑,๑๐๙.๙๔๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ ๑.๔

๒. มณฑลเสฉวนมีคุณภาพของการค้าต่างประเทศพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด โดยบรรลุ ๔ ความก้าวหน้าสำคัญ ดังนี้

  • ความก้าวหน้าในการพัฒนาภาคการผลิตใหม่ – การส่งออกขับเคลื่อนไปสู่ เทคโนโลยีขั้นสูง ความอัจฉริยะ และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมพลังงานใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดย การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐.๕ อุปกรณ์เฉพาะทางที่มีเทคโนโลยีสูงและอุปกรณ์ไฮเอนด์เพิ่มขึ้น ร้อยละ ๓๕.๓ และ ร้อยละ ๓ ตามลำดับ
  • ความก้าวหน้าในการขยายการนำเข้าเชิงยุทธศาสตร์ – มูลค่าการนำเข้า ทะลุ ๔๐๐,๐๐๐ ล้านหยวน (๕๕,๒๔๐.๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นครั้งแรก โดย การนำเข้าวงจรรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๙.๙ อะไหล่คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น ร้อยละ ๒๔๖.๔ และวัตถุดิบหลักเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๙.๒ ซึ่งช่วยสนับสนุนการผลิตภายในมณฑล นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๑.๗ โดยเฉพาะ ทุเรียนสดเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๔๕.๘ เชอร์รี่สดเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๙ และแซลมอนสดนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๐๗.๕ ทำให้ผู้บริโภคภายในมณฑลมีทางเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้น
  • ความก้าวหน้าในการพัฒนา “ห้าเขตเศรษฐกิจ” – ในปี ๒๕๖๗ ๙ เมืองในมณฑลเสฉวนมีมูลค่าการค้าต่างประเทศเกิน ๑๐,๐๐๐ ล้านหยวน (๑,๓๘๑.๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ ๑๓ เมืองมีการเติบโตของมูลค่าการค้า โดยเฉพาะ
    • นครเฉิงตูมีมูลค่าการค้าต่างประเทศ ๘๓๙,๐๐๐ ล้านหยวน (๑๑๕,๙๔๗.๙๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ ๑๒.๑ คิดเป็น ร้อยละ ๘๐.๒ ของการค้าต่างประเทศของทั้งมณฑล
    • พื้นที่สามเขตปกครองตนเองเติบโตเร็วที่สุดที่ ร้อยละ ๑๓.๘
    • พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเสฉวนมีมูลค่าการค้าทะลุ ๓๐,๐๐๐ ล้านหยวน (๔,๑๔๓.๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
    • ภาคใต้ของมณฑลเสฉวนสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า ๔,๐๐๐ ล้านหยวน (๕๕๒.๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • ความก้าวหน้าในการขยายพื้นที่เปิดสู่ภายนอก – บทบาทของ ท่าอากาศยานนครเฉิงตู ในฐานะศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าการค้าผ่านทางอากาศ สูงเป็นอันดับ ๓ ของประเทศ การพัฒนาช่องทางการค้าอย่างมีประสิทธิภาพช่วยผลักดัน กลยุทธ์ “ขยายสู่ตะวันตก ลงใต้ เชื่อมตะวันออก และบูรณาการสู่ภาคเหนือ” ส่งผลให้การค้าระหว่างมณฑลเสฉวนและ อาเซียน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๓.๗, ๓๓.๙ และ ๑๕.๕ ตามลำดับ รวมถึงการค้าในตลาดเกิดใหม่อย่าง แอฟริกา ละตินอเมริกา และอินเดีย ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู เล็งเห็นว่าการเติบโตของมูลค่าการค้าต่างประเทศของมณฑลเสฉวนในปี ๒๕๖๗ สะท้อนถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เติบโตสูง เช่น ทุเรียนสด เชอร์รี่สด และแซลมอนสด แสดงให้เห็นถึงความต้องการบริโภคสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นของประชาชนจีน ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญสำหรับสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยเฉพาะทุเรียนและผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมสูง นอกจากนี้ การส่งออกของเสฉวนที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาจเป็นโอกาสสำหรับไทยในการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานผ่านการร่วมทุนหรือการดึงดูดการลงทุนจากจีน

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มณฑลเสฉวนให้ความสำคัญกับช่องทางการค้าผ่านทางอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของไทยที่ต้องการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินหลักอื่น ๆ ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ การเติบโตของมณฑลเสฉวนยังสะท้อนถึงศักยภาพของเขตเศรษฐกิจจีนตะวันตก ซึ่งไทยสามารถใช้เป็นฐานกระจายสินค้าไปยังจีนตอนใน โดยเฉพาะผ่านช่องทาง รถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) และเส้นทางระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (ILSTC: New International Land and Sea Trade Corridor) ที่สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ของสินค้าไทยในการเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
๑. https://mp.weixin.qq.com/s/RtzAD7AS1fZ9ekWEmSEhCw
ที่มารูปภาพ:
๑. 699pic.com

ศุลกากรนครเฉิงตูการค้าต่างประเทศมณฑลเสฉวนมูลค่าการค้าต่างประเทศของมณฑลเสฉวนในปี ๒๕๖๗

Chengdu_editor

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน