มณฑลส่านซีเร่งผลักดัน อ.ซีเซียง เป็นฐานผลิตชาส่านซีเพื่อการส่งออก
24 Feb 2017มณฑลส่านซี นอกจากจะมีชื่อเสียงในการเป็นฐานการผลิตผลไม้เมืองหนาวของประเทศจีนแล้วยังเป็นแหล่งการผลิตใบชาที่มีคุณภาพอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มชาอูหลง (ชาเขียว) ในปี 2559 มณฑลส่านซีมีปริมาณการผลิตชา 100,000 ตัน มีพื้นที่เพาะปลูกชารวม 2.317 ล้านหมู่ (949,590 ไร่) ข้อมูลจาก สนง. กักกันและควบคุมโรคมณฑลส่านซีระบุว่า ในปี 2559 มณฑลส่านซีมีการส่งออกชา 324 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 มากถึง 56.8 เท่า มูลค่า 10.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 67.9 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 59.9 เท่า โดยสัดส่วนชาที่ส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ชาในกลุ่มชาเขียว (ร้อยละ 63) และชาแดง (ร้อยละ 36) โดยส่งออกไปยังเขตปกครองพิเศษฮ่องกง มาเก๊า สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้
อุตสาหกรรมชาของมณฑลส่านซี
มณฑลส่านซีมีแหล่งปลูกชาที่สำคัญ ได้แก่ 1) พื้นที่ในเขตภูเขาต้าปา (大巴山) ได้รับการขนานนามว่าเป็น “Tea Valley” ของมณฑล พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่เพาะปลูกชามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น โดยปรากฎข้อมูลใน “新唐书地理志” (Geography of the New Tang Dynasty) ว่าชา “ซานหนานเต้า” (山南道) เป็นชาที่ใช้สำหรับในราชวังและวงสังคมชั้นสูง ต่อมานิยมเรียกชาชนิดดังกล่าวว่าชา “ส่านหนานเต้า” (陕南道) 2) เมืองเสียนหยาง เป็นแหล่งผลิตชาเสียนหยางฝูฉ่า (咸阳符茶) 3) เมืองฮั่นจง เป็นแหล่งผลิตชาอู่จื่อเซียนหาว (午子仙毫) 4) เมืองอันคัง เป็นแหล่งผลิตชาอันคังฝูซี (安康富硒) และ 5) เมืองซังลั่ว เป็นแหล่งผลิตชาซังลั่วฉินเฉวียนหมิง (商洛秦泉茗)
เร่งผลักดัน อ.ซีเซียง เป็นฐานการผลิตชาเพื่อการส่งออก
อ.ซีเซียง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองฮั่นจง มณฑลส่านซี เป็นพื้นที่มีความเหมาะสมในการเพาะปลูกชา เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์ติดกับแนวเขา โดยทางตอนเหนือติดเทือกเขาฉินหลิ่ง ทางตอนใต้ติดภูเขาปาที่มีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ด้วยสภาพอากาศที่เหมาะสมและมีจำนวนชั่วโมงแดดออกที่ไม่ยาวเกินไปเหมาะกับการปลูกชาที่ไม่ต้องการแดดจัด นอกจากนี้ ยังเป็นอำเภอที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย
อุตสาหกรรมการผลิตชาของ อ. ซีเซียง มีประวัติมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน โดยเฉพาะชาอู่จื่อเซียนหาว (午子仙毫) ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2542 โดยได้รับรางวัล “Famous Brand Products” จากงานมหกรรมการเกษตรนานาชาติ (China International Agriculture Expo)
ปัจจุบัน อ. ซีเซียง มีพื้นที่เพาะปลูกชามากกว่า 224,000 หมู่ (91,803.27 ไร่) มีปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 4,800 ตัน/ปี มีพื้นที่เพาะปลูกชาที่ได้รับการรับรอง “ฐานการผลิตอาหารปลอดสารพิษ” แล้วกว่า 80,000 หมู่ (32,786.88 ไร่) และมีวิสาหกิจแปรรูปชาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต “อาหารสีเขียว” แล้วจำนวน 11 ราย (จากจำนวนวิสาหกิจผู้ผลิตชาทั้งหมด 286 ราย) ในปี 2559 อุตสาหกรรมชาของ อ. ซีเซียง มีมูลค่า 220.83 ล้านหยวน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งอำเภอ สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่มากกว่า 50,000 ครัวเรือน
สืบเนื่องจากแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชาแห่งชาติ ปี 2552-2558 (2009-2015 年全国茶业重点区域发展规划) ที่กำหนดให้พื้นที่บริเวณส่านซีตอนใต้เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์การปลูกชา ส่งผลให้มีการส่งเสริมการปลูกชาเพิ่มมากขึ้นและด้วยศักยภาพในอุตสาหกรรมการผลิตชาของ อ.ซีเซียง ทำให้รัฐบาลมณฑลส่านซีสานต่อเป้าหมายการพัฒนาให้ อ. ซีเซียง เป็นฐานการผลิตชาคุณภาพดีเพื่อการส่งออก อาทิ 1) การส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างมณฑลที่มีชื่อเสียงในการเพาะปลูกและแปรรูปชา อาทิ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลอันฮุย มณฑลยูนนาน มณฑลหูหนาน และมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมชาในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายเร่งด่วนเพื่อพัฒนาคุณภาพชาให้มีมาตรฐานเทียบเท่าผลิตภัณฑ์ชาเพื่อการส่งออก 2) เร่งขยายพื้นที่การเพาะปลูกชาให้ได้ 300,000 หมู่ (122,950 ไร่) เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการบริโภคชาอู่จื่อเซียนหาวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ตัน ในปี 2563 3) เพิ่มบทบาทของสภาอุตสาหกรรมชาแห่งมณฑลส่านซี (Shaanxi Province Tea Industry Association) ในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมชาในพื้นที่ให้มากขึ้น และ 4) ส่งเสริมให้ชาส่านซี “ก้าวออกไป” โดยใช้ประโยชน์จากเวทีงานมหกรรมชานานาชาติที่มณฑลส่านซีเป็นเจ้าภาพ เพื่อเสริมสร้างคุณค่า “สินค้าแบรนด์ส่านซี” ให้ผู้บริโภครู้จักมากขึ้น
แม้ว่าปริมาณการผลิตชาของมณฑลส่านซีจะมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับมณฑลอื่นๆ แต่รัฐบาลส่านซียังคงพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าวให้เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของมณฑล เนื่องจากเป็นชาที่มีเอกลักษณ์และรสชาติเฉพาะตัว เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตชาอู่จื่อเซียนหาวของ อ.ซีเซียง ที่ได้รับความนิยมสูงและคาดว่าจะมีปริมาณความต้องการ สูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการผลิตชาเป็นอุตสาหกรรมหลักของพื้นที่ อ.ซีเซียงแล้ว รัฐบาลมณฑลส่านซียังต้องการพัฒนาให้ อ.ซีเซียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกด้วย โดยจะเริ่มจากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ ซึ่งในปี 2560 จะมีการลงทุนในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรวม 69 โครงการ มูลค่า 31,330 ล้านหยวน อาทิ โครงการก่อสร้างลานกิจกรรมสาธาณะ โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมต่อหมู่บ้าน โครงการพัฒนาทางหลวงและถนนเชื่อมกับหมู่บ้านอื่นๆ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับโรงเรือนเกษตรกรรมขนาด 20 เมกกะวัตต์ เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง
1. http://news.cnwest.com/content/2017-02/08/content_14466934.htm
2. http://www.zgchawang.com/knowledge/show-76266.html
3. http://www.snxx.gov.cn/xxcy.htm
4. http://www.shaanxitea.com/zxjd/index.jhtml
5. http://www.zgchaye.cn/news/20921.html
6. http://esb.sxdaily.com.cn/sxrb/20170221/html/index_content_009.htm
7. http://www.sxdaily.com.cn/n/2017/0221/c266-6118756.html