ภาวะการค้าระหว่างประเทศของจีนประจำปี 2555 เติบโตร้อยละ 6.2
14 Jan 2013เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 56 ในงานแถลงข่าวของกรมศุลกากรของจีน นายเจิ้ง เยว่เซิง โฆษกของสำนักงานใหญ่กรมศุลกากรได้รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของจีนในปี 2555 โดยการค้าระหว่างประเทศของจีนในปีที่ผ่านมานั้น มีมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3,866,760 ล้านดอลลาร์ สรอ. เติบโตร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับปี 2554 ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 2,049,830 ล้านดอลลาร์ สรอ.เติบโตร้อยละ 7.9 มูลค่าการนำเข้า 1,817,830 ล้านดอลลาร์ สรอ. เติบโตร้อยละ 4.3 ทั้งนี้ จีนเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า คิดเป็นมูลค่า 231,100 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 48.1
— สถิติโดยรวม
เมื่อเทียบกับปี 2554 การเติบโตการค้าระหว่างประเทศของจีนในปี 2555 ประสบภาวะชะลอตัว โดยอัตราการเติบโตลดลงจากร้อยละ 22.5 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 6.2 ในปี 2555 หากดูตามไตรมาส ยอดการค้าระหว่างประเทศของจีนในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีมูลค่า 859,460 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 7.3 ไตรมาสที่ 2 มีมูลค่า 979,690 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 8.5 ไตรมาสที่ 3 มีมูลค่า 1,002,700 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 3 ไตรมาสที่ 4 มีมูลค่า 1,024,910 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 6.3 เห็นได้ว่า การค้าระหว่างประเทศของจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเพียงไตรมาสที่ 3 ที่อัตราการเติบโตลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทว่า ในไตรมาสที่ 4 การเติบโตสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างน่าพอใจ
คู่ค้าสำคัญของจีน—การค้าระหว่างจีน-ยุโรปและจีน-ญี่ปุ่นลดลง การค้าระหว่างจีน-อาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็ว
ในปี 2555 ยุโรปยังเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 และแหล่งนำเข้าอันดับที่ 1 ของจีน ขณะที่สหรัฐฯ ได้แซงหน้ายุโรปกลายเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีน ในปี 2555 ยอดการค้าจีน-ยุโรปเท่ากับ 546,040 ล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงร้อยละ 3.7 จากปีก่อน ครองสัดส่วนร้อยละ 14.1 ของยอดการค้าระหว่างประเทศของจีน ภายในจำนวนนี้ มูลค่าสินค้าที่จีนส่งออกไปยุโรปมีมูลค่าทั้งสิ้น 333,990 ล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงร้อยละ 6.2 จีนนำเข้าจากยุโรปมีมูลค่า 212,050 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 0.4 โดยจีนเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า คิดเป็นมูลค่า 121,940 ล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 15.8
ในปี 2555 สหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของจีนรวมทั้งเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับที่ 1 และประเทศแหล่งนำเข้าอันดับที่ 5 ของจีน ในปี 2555 ยอดการค้าจีน-สหรัฐอเมริกาเท่ากับ 484,680 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 8.5 ครองสัดส่วนร้อยละ 12.5 ของยอดการค้าระหว่างประเทศของจีน ในจำนวนนี้ มูลค่าสินค้าที่จีนส่งออกไปสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 351,790 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 8.4 จีนนำเข้าจากสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 132,890 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 8.8 โดยจีนเกินดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 218,920 ล้านดอลลาร์สรอ. ขยายตัวร้อยละ 8.2
ในปี 2555 อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของจีน ยอดการค้าจีน-อาเซียนเท่ากับ 400,090 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 10.2 ครองสัดส่วนร้อยละ 10.3 ของยอดการค้าระหว่างประเทศของจีน ในจำนวนนี้ มูลค่าสินค้าที่จีนส่งออกไปอาเซียนมีมูลค่า 204,270 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 20.1 จีนนำเข้าจากอาเซียนมีมูลค่า 195,820 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 1.5 โดยจีนเกินดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 8,450 ล้านดอลลาร์สรอ. ทั้งนี้ ในปี 2554 จีนเสียดุลการค้าให้อาเซียนเป็นมูลค่า 22,840 ล้านดอลลาร์สรอ.
ในปี 2555 ฮ่องกงแซงญี่ปุ่นพัฒนาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของจีน ยอดการค้าจีน-ฮ่องกงเท่ากับ 341,490 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 20.5 ครองสัดส่วนร้อยละ 8.8 ของยอดการค้าระหว่างประเทศของจีน ส่วนยอดการค้าระหว่างจีน-ญี่ปุ่นเท่ากับ 329,450 ล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงร้อยละ 3.9 ครองสัดส่วนร้อยละ 8.5 นอกจากนี้ การค้าระหว่างจีน-รัสเซียมีมูลค่าทั้งสิ้น 88,160 ล้านดอลลาร์สรอ. การค้าระหว่างจีน-บราซิลมีมูลค่า 85,720 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 11.2 และ 1.8 ตามลำดับ
มณฑลที่โดดเด่น—มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของ 7 มณฑล/นคร ครองสัดส่วนร้อยละ 79.9 ของยอดการค้าระหว่างประเทศของจีน ขณะที่ การค้าระหว่างประเทศของภาคกลางและภาคตะวันตกเติบโตอย่างรวดเร็ว
ในปี 2555 การค้าระหว่างประเทศของมณฑลกว่างตงมีมูลค่า 983,820 ล้านดอลลาร์สรอ.เติบโตร้อยละ 7.7 ครองสัดส่วนร้อยละ 25.4 ของยอดการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นมณฑลที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศมากที่สุดในจีน รองลงมาคือมณฑลเจียงซูและกรุงปักกิ่ง มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 548,090 ล้านดอลลาร์สรอ. และ 407,920 ล้านดอลลาร์สรอ.ตามลำดับ เติบโตร้อยละ 1.6 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ นครเซี่ยงไฮ้มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 436,540 ล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงร้อยละ 0.2 มณฑลเจ้อเจียงมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 312,230 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 0.9 มณฑลซานตงมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 245,540 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 4.1 มณฑลฝูเจี้ยงมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 155,930 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 8.6 ยอดการค้าระหว่างประเทศของทั้ง 7 มณฑล/นครดังกล่าวครองสัดส่วนร้อยละ 79.9 ของยอดการค้าระหว่างประเทศของจีน
ในปี 2555 การส่งออกของภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าการส่งออกของนครฉงชิ่ง มณฑลอานฮุย มณฑลเหอหนาน มณฑลซื่อชวนเติบโตร้อยละ 94.5 56.6 54.3 และ 32.5 ตามลำดับ
ประเภทบริษัท—มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของบริษัททุนต่างประเทศครองสัดส่วนในยอดการค้าระหว่างประเทศของจีนน้อยลง บริษัทเอกชนพัฒนาอย่างรวดเร็ว มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของรัฐวิสาหกิจลดน้อยลง
ในปี 2555 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของบริษัททุนต่างประเทศในจีนเท่ากับ 1,894,000 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 1.8 แต่เมื่อเทียบสัดส่วนในยอดรวมการค้าระหว่างประเทศจีน สัดส่วนของบริษัททุนต่างประเทศลดลงจากร้อยละ 51.2 ในปี 2554 เหลือร้อยละ 49 ส่วนภาคเอกชนของจีน มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 1,221,060 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 19.6 ครองสัดส่วนร้อยละ 31.6 ของยอดการค้าระหว่างประเทศของจีน ขณะที่รัฐวิสาหกิจมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 751,710 ล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงร้อยละ 1.2 ครองสัดส่วนร้อยละ 19.4
ประเภทสินค้าการส่งออก—แนวโน้มการส่งออกของสินค้าประเภทเครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าที่ใช้แรงงานสูงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2555 จีนส่งออกเครื่องจักรกลเครื่องไฟฟ้ามูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,179,420 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 8.7 ครองสัดส่วนร้อยละ 57.6 ของยอดการส่งออกของจีน นอกจากนี้ สินค้าที่ใช้แรงงานสูง อันได้แก่ เสื้อผ้า สิ่งทอ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก กระเป๋าและเครื่องเล่นมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 418,890 ล้านดอลลาร์สรอ. เติบโตร้อยละ 8.6 ครองสัดส่วนร้อยละ 20.4 ของยอดการส่งออกของจีน นอกจากนี้ จีนส่งออกเหล็กกล้าปริมาณ 55.73 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ14 จีนส่งออกรถยนต์จำนวน 9.9 แสนคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 จีนส่งออกธัญญาหารปริมาณ 2.8 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.8
ประเภทสินค้าการนำเข้า – จีนนำเข้าพลังงานและทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าประเภทแร่เหล็ก ทองแดงและอะลูมิเนียมลดลงอย่างชัดเจน
ในปี 2555 จีนนำเข้าแร่เหล็กปริมาณ 740 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ราคาการนำเข้าเฉลี่ย 128.6 ดอลลาร์สรอ.ต่อตัน ลดลงร้อยละ 21.6 จีนนำเข้าน้ำมันดิบปริมาณ 2,700 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ราคาการนำเข้าเฉลี่ย 814.2 ดอลลาร์สรอ.ต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จีนนำเข้าถ่านหินปริมาณ 290 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 ราคาการนำเข้าเฉลี่ยร้อยละ 99.5 ดอลลาร์สรอ.ต่อตัน ลดลงร้อยละ 7.4 จีนนำเข้าถั่วปริมาณ 58.38 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ราคาการนำเข้าเฉลี่ย 599.3 ดอลลาร์สรอ.ต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8