ภาพรวมเศรษฐกิจกว่างซียังขยายตัวได้ดีในครึ่งปีแรก แม้ดัชนีชี้วัดบางตัวจะ “แผ่วปลาย”

19 Jul 2013

หนังสือพิมพ์ Southland Morning : ช่วง 6 เดือนแรกปี 56 กว่างซีสามารถรักษาระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี สวนกระแสเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังตกอยู่ในภาวะชะลอตัว

จากการคาดการณ์เบื้องต้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกว่างซีมีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 10 (สูงกว่าอัตราขยายตัวของทั้งประเทศร้อยละ 3) และรายได้การคลังขยายตัวร้อยละ 11.1 (สูงกว่าอัตราขยายตัวของทั้งประเทศร้อยละ 3.6)

ปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของกว่างซี คือ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม การลงทุน และการค้าชายแดนที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจ รายได้การคลัง อุปสงค์ภายในประเทศ และรายได้ประชาชนเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

แม้ว่า การลงทุน การอุปโภคบริโภค และการส่งออก ดัชนีเศรษฐกิจ 3 ตัวที่ถือว่าเป็นตัวจักรขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกว่างซีจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อาทิ ภาคการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (การลงทุนสร้างเส้นทางรถไฟลดลงร้อยละ 78.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) และการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตแม้จะเติบโตร้อยละ 25.2 แต่ลดลงร้อยละ 14.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นเดียวกัน

ส่วนภาคการค้าปลีก พบว่า ช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าการค้าปลีกฯ มีอัตราขยายตัวราวร้อยละ 11 ลดลงร้อยละ 2 จุดจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

การใช้จ่ายภาคประชาชนมีทิศทางชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม ที่พักอาศัย รถยนต์ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ

ขณะที่ภาคการส่งออก แม้ว่าจะมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น ทว่าในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.กลับมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

สำหรับแผนงานในช่วงครึ่งปีหลัง ทางการกว่างซีกำหนดเป้าหมายการทำงานไว้ 3 ด้าน ดังนี้

หนึ่ง การดึงดูดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ครอบคลุมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างท่าเรือ การสร้างนิคมอุตสาหกรรม การขยายสายการผลิตผลิตภัณฑ์แร่โลหะ รถยนต์ การลงทุนด้านก๊าซปิโตรเลียม เยื่อกระดาษ เป็นต้น

สอง การพัฒนาธุรกิจบริการสมัยใหม่ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แทนที่การเก็บภาษีธุรกิจ (BT) ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค.56 สำหรับธุรกิจนำร่องภายใต้รหัส 1+7[*] เพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน

สาม การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะการปฏิรูประบบการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อสร้างหลักประกันการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชน

 

คำอธิบายเพิ่มเติม

ธุรกิจนำร่องภายใต้รหัส 1+7[*]  มีดังนี้

1 หมายถึง ธุรกิจด้านการคมนาคมขนส่ง ประกอบด้วย การบริการขนส่งทางบก การบริการขนส่งทางน้ำ การบริการขนส่งทางอากาศ และการบริการขนส่งทางท่อ

7 หมายถึง ธุรกิจบริการสมัยใหม่บางประเภท ประกอบด้วย การบริการด้านงานวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยี การบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ การบริการสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม การบริการเสริมด้านโลจิสติกส์ การบริการเช่าสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (tangible assets) การบริการให้คำปรึกษา การบริการผลิตและออกอากาศผลงานวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์

จากนโยบายดังกล่าว การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของจีนจะเพิ่มจาก 2 เป็น 4 อัตรา คือ

(1) ร้อยละ 13 สำหรับสินค้าที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป และร้อยละ 17 สำหรับสินค้าที่ผ่านการแปรรูปแล้ว ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน

(2) ร้อยละ 11 สำหรับธุรกิจด้านการคมนาคมขนส่ง และร้อยละ 6 สำหรับธุรกิจบริการสมัยใหม่บางประเภท ยกเว้นการบริการเช่าสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ซึ่งจะต้องชำระภาษีในอัตราร้อยละ 17 ซึ่งเป็นอัตราใหม่ที่เกิดจากนโยบายปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้

ทั้งนี้ ภาษีอัตราใหม่นี้ จะจัดเก็บกับเฉพาะผู้ประกอบการที่เข้าข่าย ผู้เสียภาษีทั่วไป (General VAT Payer, 一般纳税人) กล่าวคือ ไม่จัดเก็บกับผู้ประกอบการที่เป็นผู้เสียภาษีรายย่อย (Small-scale VAT payers, 小规模纳税人)

ประโยชน์ที่ผู้เสียภาษีทั่วไป จะได้รับจากการปฏิรูปภาษีในครั้งนี้ คือ ภาระภาษีที่ลดลง และลดการชำระภาษีซ้ำซ้อน อัตราภาษีที่เพิ่มเข้ามาใหม่มีอัตราต่ำ อีกทั้งยังสามารถนำไปหักภาษีซื้อได้มากขึ้นด้วย ทำให้ต้นทุนประกอบการลดลงและมีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น

สำหรับผู้เสียภาษีรายย่อย ซึ่งก็คือ ผู้ประกอบการที่มี ยอดรายได้จากการขายไม่เกิน 5 ล้านหยวนต่อปีภาษี แม้ว่าจะไม่ได้รับสิทธิหักภาษีซื้อ แต่สูตรการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระถือว่าต่ำมาก คือ ยอดขาย X อัตราภาษีร้อยละ 3 = ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน