ภาครัฐเผยทิศทางพัฒนาเซี่ยงไฮ้.. สู่โอกาสธุรกิจไทยเดินหน้าอย่างท้าทาย!!
22 Feb 20135 ปีแห่งความพยายามในการรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของนครเซี่ยงไฮ้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่ตัวเลข GDP ยังเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.8 ต่อปี และทะลุยอด 2 ล้านล้านหยวนในปี 2555 ที่ผ่านมา รวมถึงยังประสบความสำเร็จในการดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่รวม 403 แห่ง เป็นที่ตั้งของสถาบันการเงินทั่วโลกรวมมากถึง 1,227 แห่ง มีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สูงที่สุดในโลก รวมถึงมีมูลค่านำเข้า-ส่งออกสูงถึงกว่า 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 430,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีในการดำเนินนโยบายผลักดันให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศ 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางการเงิน ศูนย์กลางการค้า และศูนย์กลางการขนส่งทางเรือ
นอกจากนี้ นครเซี่ยงไฮ้ยังประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคบริการ จนกระทั่งภาคบริการมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของ GDP เซี่ยงไฮ้ทั้งหมด รวมถึงสัดส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจากภาคการบริโภคเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 และพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พัฒนาไม่หยุด.. คุณภาพชีวิตรุดหน้า.. ทีท่าทำงานโปร่งใส
จากข้อมูลรายงานในการประชุมสามัญของสภาประชาชนนครเซี่ยงไฮ้ สมัยที่ 14 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2556 และรายงานในงานแถลงการณ์สภาพการค้าและการลงทุนของนครเซี่ยงไฮ้ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2556 พบว่า รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงปี 2556 ดังนี้
– GDP เติบโตกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 7.5 โดยเน้นการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและมีนวัตกรรม
– ลดโครงการที่ใช้พลังงานสูงลง 500 โครงการ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 1,000 เฮกเตอร์
– รักษาสัดส่วนงบประมาณด้าน R&D ให้มากกว่าร้อยละ 3 ของ GDP เซี่ยงไฮ้ และกำหนดให้มูลค่าการลงทุนในด้านสิ่งแวดล้อมมีสัดส่วนร้อยละ 3 ของ GDP
– เพิ่มสัดส่วนจำนวนผู้เชี่ยวชาญระดับสูงให้มากขึ้นร้อยละ 28 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด
– ดึงดูดบริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น 35 ราย และออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 10
– รักษาดัชนีราคาผู้บริโภคให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศ
– เร่งพัฒนาธุรกิจบริการสมัยใหม่ ธุรกิจการผลิตทันสมัย และอุตสาหกรรมใหม่เชิงกลยุทธ์
– ยกระดับการใช้เงินทุนจากต่างชาติอย่างมีประสิทธิบนพื้นฐานการเติบโตอย่างมั่นคง
นอกจากเป้าหมายทางเศรษฐกิจในภาพรวมข้างต้นแล้ว รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยรักษาให้อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชาชนในเขตเมืองและเขตชนบทสูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP อย่างต่อเนื่อง (ปี 2555 รายได้เฉลี่ยประชาชนเขตเมืองและเขตชนบท ในเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 และ 11.2 ตามลำดับ) และรักษาอัตราการว่างงาน (ที่ลงทะเบียน) ให้อยู่ที่ร้อยละ 4.5 พร้อมทั้งเพิ่มการจ้างงานใหม่จำนวนไม่ต่ำกว่า 50,000 อัตรา ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ โดยเน้นความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณ และลดบทบาทของภาครัฐในกลไกตลาด โดยเฉพาะลดขั้นตอนในการขออนุมัติต่างๆ ของภาคเอกชน
"ดึงเข้ามา" แบบเปิดกว้าง.. "ก้าวออกไป” อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อปีที่ผ่านมา การดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนและการก้าวออกไปลงทุนในต่างประเทศของเซี่ยงไฮ้มีการเติบโตขึ้นทั้งคู่ โดยมีมูลค่าการใช้เงินทุนจากต่างชาติ 15,185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการลงทุนในต่างชาติ 3,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตจากปี 2554 ร้อยละ 20.5 และร้อยละ 22 ตามลำดับ
สำหรับในปี 2556 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ยังคงให้ความสำคัญกับดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในด้านธุรกิจบริการสมัยใหม่ ธุรกิจการผลิตทันสมัย และอุตสาหกรรมใหม่เชิงกลยุทธ์ โดยเน้นสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญ ดังนี้
– อุตสาหกรรมบริการด้านการเงิน บริการด้านประกันภัย และบริการทางด้านเทคโนโลยี
– เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ เช่น Next Generation Network , Internet of things , Three networks convergence , จอภาพแสดงผลรุ่นใหม่ (จอแบน) , วงจรไฟฟ้ารวมสมรรถนะสูง ซอฟท์แวร์ระดับสูง เป็นต้น
– การผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ระดับสูง เช่น เครื่องมือการแพทย์ อุปกรณ์การบิน วัสดุเหล็กด้วยกรรมวิธีการผลิตทางเทคโนโลยีระดับสูง เป็นต้น
– การผลิตวัสดุใหม่ เช่น วัสดุอิเล็กทรอนิกส์สมรรถนะสูง วัสดุประเภทเยื่อ (membrane) วัสดุไฟเบอร์ (คาร์บอนไฟเบอร์ อารามิดไฟเบอร์)
– พลังงานใหม่ เช่น พลังงานลม พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานแสงอาทิตย์ และรถยนต์พลังงานใหม่ เป็นต้น
– อุตสาหกรรมการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาชีวภาพ
– อุตสาหกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ยังสนับสนุนให้วิสาหกิจภาคเอกชนที่มีศักภาพออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้วิสาหกิจจีนเข้าร่วมทุน (joint venture) กับบริษัทต่างชาติ และเข้าถือครองหุ้น (Equity Investment) ของบริษัทในต่างชาติ
จากทิศทางการพัฒนาเซี่ยงไฮ้.. สู่โอกาสทางธุรกิจของไทยหลากหลายด้าน
จากการดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นว่าเซี่ยงไฮ้ได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับภาคบริการ / อุตสาหกรรมเทคโลโลยีระดับสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงก่อนหน้านี้ ได้ทำให้เซี่ยงไฮ้หันมาพยายามพึ่งพาตนเองมากขึ้น เช่น การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศให้น้อยลงกว่าในอดีต (แต่ยังให้ความสำคัญกับการดึงดูดธุรกิจต่างชาติอยู่ในปัจจุบัน) รวมถึงลดการพึ่งพาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากการลงทุน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เน้นการใช้แรงงาน สิ้นเปลืองพลังงาน และสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
จากทิศทางการพัฒนาของรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ตามข้อมูลข้างต้น โดยเฉพาะเรื่องการดึงดูดธุรกิจบริการสมัย ได้สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของไทย โดยเฉพาะโอกาสของธุรกิจบริการที่ไทยมีความก้าวหน้ามากกว่า เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร ธุรกิจประกันภัย หรือธุรกิจทางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งฝ่ายไทยมีรูปแบบการบริหารจัดการและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดดเด่นกว่า
นอกจากนี้ นโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน จนมีผลสำเร็จทำให้รายได้เฉลี่ยของประชาชนในนครเซี่ยงไฮ้มีอัตราการเติบโตที่ตัวเลข 2 หลักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของชาวเซี่ยงไฮ้ และสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของไทย เช่น การดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยโปรแกรมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หรือการผลักดันสินค้าไทยคุณภาพสูงสู่ตลาดเซี่ยงไฮ้ (ผลไม้ไทย อาหารไทย) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยเซี่ยงไฮ้มีต้นทุนการทำธุรกิจสูง มีอัตราการแข่งขันทางธุรกิจสูง ประกอบกับมีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎระเบียบ และมักได้รับมอบหมายให้เป็นเมืองนำร่องสำหรับกฎระเบียบ/โครงการใหม่ๆ ของรัฐบาลกลางจีน ดังนั้น ภาคเอกชนไทยที่ต้องการทำธุรกิจในเซี่ยงไฮ้จึงควรมีความพร้อมและความสามารถในการปรับตัว เพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวด้วยเช่นกัน
____________________________
จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง เรียบเรียงโดย นางนาฏพร นิติมนตรี
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้
แหล่งข้อมูล : รายงานการประชุมสามัญสภาประชาชนนครเซี่ยงไฮ้ สมัยที่ 14 ครั้งที่ 1 และรายงานแถลงการณ์สภาพการค้าและการลงทุนของนครเซี่ยงไฮ้