พิธีเปิดงานอุตสาหกรรมการส่งออกแว่นตา ของอำเภอเฟิ่งเจี๋ยผ่านเส้นทางสายใหม่
27 Dec 2024เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสารสนเทศ กับคณะกรรมการบริหารเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของอำเภอเฟิ่งเจี๋ย ได้จัดพิธีเปิดงานการส่งออกแว่นตาของอำเภอเฟิ่งเจี๋ยผ่านระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (西部陆海新通道)[๑] เป็นครั้งแรก ณ อำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่ง โดยส่งออกแว่นตา จำนวน ๑๐๘,๐๐๐ ชิ้น ไปยังกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย สินค้าถูกลำเลียงจากอำเภอเฟิ่งเจี๋ย ด้วยรถบรรทุกไปยังสถานีถวนเจียชุนในนครฉงชิ่งก่อนจะขนส่งทางรถไฟไปยังท่าเรือเป่ยปู้หว่านในกว่างซี และเปลี่ยนเป็นการขนส่งทางเรือเพื่อส่งต่อไปยังอินโดนีเซีย
นายหม่า เผยหย่ง ผู้บริหารบริษัทแว่นตาในอำเภอเฟิ่งเจี๋ย เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์แว่นตาของบริษัทได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะจากลูกค้าในเวียดนามและอินโดนีเซีย การส่งออกผ่านเส้นทางสายใหม่นี้ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และสนับสนุนการขยายตลาดของบริษัทได้เป็นอย่างดี
นายกง อี้เซิ่ง นายอำเภอเฟิ่งเจี๋ย กล่าวว่า อุตสาหกรรมแว่นตาเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ทั้งในด้านการสร้างงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบสนองความต้องการด้านแฟชั่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นมา อำเภอเฟิ่งเจี๋ยได้มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมแว่นตาอย่างจริงจัง โดยเน้นการวางแผนและนวัตกรรมที่มีมาตรฐานสูงเพื่อสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมแว่นตาที่โดดเด่นในระดับประเทศ
ณ ปัจจุบัน อำเภอเฟิ่งเจี๋ยมีบริษัทแว่นตากว่า ๑๕๐ แห่ง และระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนปีนี้ มีมูลค่า การผลิตรวม ๒.๗๖ พันล้านหยวน (๓๗๐.๔๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อำเภอเฟิ่งเจี๋ยยังมุ่งเป้าหมายสู่การเป็นฐานการผลิตแว่นตาที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกของจีน โดยส่งเสริมทั้งการวิจัย การผลิต และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แว่นตาครบวงจรในแต่ละปี อำเภอเฟิ่งเจี๋ยสามารถผลิตแว่นตาได้ ๒๐๐ ล้านชิ้น เลนส์ ๓๐๐ ล้านชิ้น และผลิตภัณฑ์สุขภาพยาด้านดวงตา ๕๐ ล้านชุด การใช้ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (西部陆海新通道) นี้ช่วยเปิดโอกาสให้แว่นตาของอำเภอเฟิ่งเจี๋ยเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากขึ้น
นายกง อี้เซิ่ง ได้กล่าวปิดท้ายว่า “เราจะเร่งพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์แบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนการขยายตลาดของแว่นตาเฟิ่งเจี๋ยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก”
จากพิธีเปิดงานการส่งออกแว่นตาของอำเภอเฟิ่งเจี๋ยโดยผ่าน ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (西部陆海新通道) ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงประโยชน์หลายประการที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประเทศได้ โดยเฉพาะการพัฒนากลยุทธ์ในการส่งออกสินค้าและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ การใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งสินค้าใหม่ เช่น ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก ILSTC (西部陆海新通道) เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่ไทยสามารถศึกษาวิธีการวางแผนเชิงกลยุทธ์ เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าผ่านเครือข่ายโลจิสติกส์แบบผสมผสานที่มีประสิทธิภาพ เช่น การขนส่ง เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและลดต้นทุน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแว่นตาในอำเภอเฟิ่งเจี๋ยที่เติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นมา โดยมีการพัฒนาอย่างจริงจังด้วยนวัตกรรมและการวางแผนที่ได้มาตรฐานสูง เป็นตัวอย่างที่ดีที่ไทยสามารถ เรียนรู้ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมแฟชั่น หรืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและตอบสนองความต้องการในตลาดโลกอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าแว่นตาจำนวน ๑๐๘,๐๐๐ ชิ้น ของอำเภอเฟิ่งเจี๋ยไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม สะท้อนถึงโอกาสการขยายตลาดในภูมิภาคที่มีความต้องการสูง ซึ่งไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสินค้าไทยที่มีศักยภาพ เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป อาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ การมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่ม เช่น แว่นตาที่ผสานคุณสมบัติด้านแฟชั่น สามารถเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มคุณค่าของสินค้าและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้น การตั้งเป้าหมายเป็นฐานการผลิตระดับภูมิภาค เช่นเดียวกับเป้าหมายของอำเภอเฟิ่งเจี๋ยในการเป็นฐานการผลิตแว่นตาที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ไทยตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้าสำคัญในภูมิภาค โดยเน้นทั้งการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การผลิตที่ได้มาตรฐาน และการสร้างเครือข่ายการจำหน่ายที่ครอบคลุมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป
[๑] ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (西部陆海新通道) เป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมณฑลต่าง ๆ ทางภาคตะวันตกของประเทศจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีนครฉงชิ่งเป็นศูนย์กลาง การดำเนินงาน และใช้มณฑลหรือเมืองต่าง ๆ ในภาคตะวันตกเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญ เส้นทางนี้อาศัยรูปแบบการขนส่งหลากหลายทั้งทางรถไฟ ทางเรือ และทางถนน เพื่อเชื่อมต่อจากพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน เช่น กว่างซี และยูนนาน ผ่านท่าเรือชายฝั่งหรือด่านชายแดน ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ที่มา: เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๗
๑. https://www.chinanews.com.cn/cj/2024/12-03/10329690.shtml
ที่มา: เข้าถึงรูปภาพวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๗
๑. https://co.699pic.com/detail/picture/501126485?click_type=6