ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์จีนชี้ – แนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในปี 2556 จะเป็นรูปตัว “U”

26 Feb 2013

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 สมาคมนักข่าวแห่งประเทศจีนได้จัดกิจกรรมบรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์โลกในปี 2556 และเศรษฐกิจจีน” โดยมี นางเฉิง เฟิงหยิง หัวหน้าศูนย์วิจัยเศรษฐกิจโลกประจำสถาบันวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน (Institution of Contemporary International Relations) เป็นผู้บรรยาย ในงานดังกล่าวมีตัวแทนจากสถานทูตประเทศต่างๆและสื่อสารมวลชนต่างประเทศเข้าร่วมรับฟัง ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนขอคัดเลือกประเด็นสำคัญนำเสนอให้ทุกท่านดังนี้

ภาพจากhttp://news.xinhuanet.com/zgjx/2013-02/22/c_132185024.htm

นางเฉิง เฟิงหยิงระบุว่า ในปี 2556 จะมี 4 ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ 1. ปัจจัยทางการเมือง เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ประเทศสำคัญอย่างสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต่างมีการผลัดเปลี่ยนผู้นำและรัฐบาล ประเทศเหล่านี้จึงน่าจะมีนโยบายใหม่ออกมา 2. ปัจจัยวงจรเศรษฐกิจระยะสั้น ยังคงจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งอาจทำให้ช่วงแรกของปี เศรษฐกิจจีนน่าจะยังอยู่ในช่วงปรับฐานและชะลอตัวลง และช่วงหลังของปีถึงจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง โดยออกเป็นรูปตัว "U" 3. กระแสโลกาภิวัตน์เดินหน้าต่อไป โดยผู้เล่นที่เกิดขึ้นใหม่อย่างกลุ่ม BRICS และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะมีบทบาทมากขึ้นในด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ แม้ว่าการเติบโตดังกล่าวจะช้ากว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินปี 2551 และ 4. การพัฒนานวัตกรรมหรือที่เรียกกันในนามของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3” จะมีความสำคัญมากขึ้น

นางเฉิง เฟิงหยิงเน้นย้ำว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2556 จะยังคงไม่สามารถกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนก่อนหน้าการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 และขณะเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยนอกจากกลุ่มประเทศ BRICS ยังรวมถึงตุรกี เม็กซิโก เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ จากรายงานของสหประชาชาติที่ประเมินถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก 3 ประการ อันได้แก่ ปัญหาหนี้ยุโรป ปัญหาหน้าผาการคลังของสหรัฐ และเศรษฐกิจจีนที่อาจประสบภาวะฟองสบู่แตก นางเฉิง เฟิงหยิงให้ความเห็นว่า ปัญหาทั้งสามประการไม่น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกัน เศรษฐกิจโลกจึงไม่น่าจะถึงขั้นวิกฤตอีกครั้ง และตราบใดที่สองหัวเรือใหญ่ของเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและที่กำลังพัฒนาอย่างสหรัฐและจีนไม่เกิดปัญหาร้ายแรง เศรษฐกิจโลกก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาร้ายแรงเช่นกัน

ภาพจาก http://news.xinhuanet.com/zgjx/2013-02/22/c_132185024.htm

สำหรับเศรษฐกิจจีนต่อจากนี้ นางเฉิง เฟิงหยิงเชื่อว่า จะเปลี่ยนจากการเติบโตที่ร้อนแรงและรวดเร็ว เป็นการเติบโตที่ช้าลงแต่เน้นความมั่นคงมากขึ้น โดยคาดว่า ก่อนปี 2020 เศรษฐกิจจีนจะเติบโตราวร้อยละ 7-8 และหลังจากปี 2020 จะเติบโตลดลงเหลือร้อยละ 5-6

ภายหลังการบรรยาย ได้มีผู้เข้าร่วมรับฟังถามคำถามจำนวนมาก โดยครอบคลุมประเด็นความท้าทายของเศรษฐกิจจีน ปัญหาความขัดแย้งทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน ความร่วมมือระหว่างแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน และปัญหาสิ่งแวดล้อม นางเฉิง เฟิงหยิงได้กล่าวตอบรายประเด็นปัญหาดังต่อไปนี้ว่า สำหรับความท้าทายของเศรษฐกิจจีน มีสิ่งที่ต้องได้รับการปฏิรูป คือ 1. การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของระบบทะเบียนบ้าน (Household Registration 户口) 2. การควบคุมดูแลราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่ให้สูงเกินไป 3. การลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เพื่อผลักดันความต้องการภายในประเทศให้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนที่การส่งออกและการลงทุนโดยภาครัฐ 4. การจัดการด้านทรัพยากร โดยจีนไม่สามารถเน้นการเติบโตที่รวดเร็ว แต่เผาผลาญทรัพยากรจำนวนมากได้อีกต่อไป และ 5. การพัฒนาภาคการเกษตรสมัยใหม่ (Agriculture Modernization) เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในภาคการเกษตร

ต่อปัญหาความขัดแย้งทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน นางเฉิง เฟิงหยิงให้ความเห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้ว่า หลายปีมานี้ ประเทศในเอเชียต่างหันมาพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นกับจีน แต่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็มีความเสี่ยงแฝงอยู่ โดยบทบาทของสหรัฐได้กลายเป็นปัจจัยหลักของความมั่นคงในภูมิภาค อย่างไรก็ดี นางเฉิง เฟิงหยิงยังคงเชื่อว่า สามประเทศหลักของเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้น่าจะร่วมมือกันได้ โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ จะมีการหารือในประเด็น FTA ระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เชื่อว่า น่าจะมีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

สำหรับความร่วมมือระหว่างแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน นางเฉิง เฟิงหยิงเห็นว่า เศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันมีความใกล้ชิดกันอย่างมากในระยะหลัง โดยเศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของไต้หวันและฮ่องกงไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกมากนัก ทั้งนี้ นางเฉิง เฟิงหยิงมองว่า ไต้หวันควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม นางเฉิง เฟิงหยิงยอมรับว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่ผ่านมาได้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก แม้จะมีตัวอย่างให้เห็นในทำนองเดียวกันเช่นการพัฒนาของประเทศตะวันตกและญี่ปุ่นในศตวรรษก่อนหน้า ดังนั้น จีนจึงไม่สามารถเน้นการพัฒนาอย่างรวดเร็วแต่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมได้อีกต่อไป โดย นางเฉิง เฟิงหยิงแสดงความหวังว่า ภายหลังปัญหาสิ่งแวดล้อมได้รับการให้ความสำคัญจากรัฐบาลกลางแล้ว น่าจะเห็นความพยายามแก้ไขปัญหาที่เอาจริงเอาจังมากขึ้นและเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน