ผู้เชี่ยวชาญชี้ กว่างซีต้องบูรณาการเส้นทางบกและเรือ เพื่อสร้างเม็ดเงินจากทรัพยากรทางทะเล

18 Jan 2013

เว็บไซต์ข่าว เขตฯ กว่างซีจ้วง: กว่างซีต้องบูรณาการเส้นทางทางบกและทะเล ควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่ทางทะเลสีเขียวเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ข้อคิดเห็นของนักวิชาการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทะเลมหาสมุทร (Ocean Economy)

จากสถิติ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 11 (ค.ศ. 2006-2010) ซึ่งเป็นฉบับแรกที่จีนให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับ Ocean Economy จีดีพีเศรษฐกิจทะเลมหาสมุทรจีนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13.5 ต่อปี

โดยปี 54 มีมูลค่าการผลิตทั้งประเทศสูงทะลุ 4.5 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.7 ของ GDP รวม

เป็นที่คาดกันว่า มูลค่าการผลิตดังกล่าวจะเพิ่มสูงทะลุ 7.4 ล้านล้านหยวนในช่วงปลายแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และสัดส่วนใน GDP จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13

เดือน ต.ค.  2555 ทางการจีนได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจทะเลมหาสมุทร โดย 8 มณฑล (เขตปกครองตนเอง) ที่มีพื้นที่ติดทะเลต่างก็ได้รับอานิสงค์จากแผนดังกล่าวอย่างถ้วนหน้า

หลายปีมานี้ การพัฒนาเศรษฐกิจทะเลมหาสมุทรกำลังเข้าสู่ช่วงสำคัญ โดย GDP เศรษฐกิจทะเลมหาสมุทรกว่างซีในปี 54 ที่ผ่านมาขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 มูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 19,000 ล้านหยวนในปี 48 เป็น 65,400 ล้านหยวนในปี 54 และมีสัดส่วนร้อยละ 5.6 ของ GDP ทั้งหมด

         

ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

ทางการจีนหันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจทะเลมหาสมุทรควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยได้เสนอแนวคิดการบูรณาการทางบกและทางทะเลให้เป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจทะเลมหาสมุทรอย่างยั่งยืน

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายต่างเห็นตรงกันว่า ช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้าถือเป็นช่วงสำคัญสำหรับการพัฒนา Ocean Economy ของกว่างซี ซึ่งจะมีทั้งโอกาสและความท้าทายรออยู่

ในภาพรวม Ocean Economy ของกว่างซียังมีขนาดและผลผลิตต่ำ โดยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของ GDP ในสาขาดังกล่าวของทั้งประเทศ รูปแบบและการทำงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทางทะเลยังล้าหลัง ซึ่งส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยทุน ทรัพยากรและแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลัก การรวมกลุ่มอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำ ความสามารถในการแข่งขันไม่เข้มแข็ง

ขณะเดียวกัน ระบบการบริหารจัดการทางทะเลที่ยังก้าวไม่ทันรูปแบบการพัฒนาสมัยใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรค ปัจจุบัน กว่างซียังขาดระบบการจัดการและนโยบายสนับสนุนที่สามารถช่วยส่งเสริม Ocean Economy ให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจทะเลมหาสมุทรกว่างซี (5 ปี) ฉบับที่ 12 (ค.ศ. 2011-2015) ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสาขาดังกล่าว พร้อมยกระดับเป็นแนวนโยบายสำคัญต่อการพัฒนากว่างซีอย่างก้าวกระโดดภายใต้แผนงานกว่างซีเข้มแข็งประชาชนมั่งคั่ง

โดยการเร่งพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจทะเลมหาสมุทร เป็นภารกิจสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้

นายจาง ช่วง จื้อ (Zhang Chuang Zhi, 张创智) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสมุทรศาสตร์ เขตฯ กว่างซีจ้วง (The Oceanic Administration of Guangxi, 广西海洋局) เผยว่า หลังยุทธศาสตร์ก้าวเป็นมหาอำนาจทางทะเลของจีนได้ถูกยกระดับให้กลายเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ทางการได้วางแผนการทำงานและกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนา Ocean Economy อย่างชัดเจน โดยกว่างซีพร้อมปฏิบัติตามอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจทะเลมหาสมุทรของกว่างซีในระยะยาวยังคงมีอุปสรรคบางประการ โดยเฉพาะการขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับทะเลมหาสมุทร ศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่พร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจสาขาดังกล่าวไม่เข้มแข็ง ระบบบริหารจัดการยังไม่พร้อม รวมถึงสภาพแวดล้อมทางทะเลที่เริ่มมีปัญหา

กว่างซีต้องอาศัยจุดแข็งของทรัพยากรของเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้บูรณาการทางบกและทางทะเล ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมทะเลมหาสมุทรให้กลายเป็นอุตสาหกรรมเสาหลักของเขตเศรษฐกิจ นายหวัง เต๋อหมิ๋น (Wang De Min, 王德民) เลขาธิการสมาคมวิจัยเศรษฐกิจแบบตลาด เขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Research Association on Market Economy, 广西市场经济研究会) ให้ความเห็น

         

ปรับรูปแบบใช้พื้นที่ทางทะเลให้คุ้มค่า

ตามแผนพัฒนาและใช้ประโยชน์ทางทะเลมหาสมุทรแห่งชาติจีน ปี 54-63 (全国海洋功能区划 2011-2020) ระบุไว้ว่า การพัฒนาพื้นที่ทางทะลของมณฑล (เขตปกครองตนเอง) ต้องตั้งอยู่บนแนวคิดอนุรักษ์คู่กับการพัฒนา เพื่อใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลให้คุ้มค่า

การบูรณาการทางบกและทางทะเลต้องเริ่มจากการวางแนวคิดการใช้พื้นที่ทางทะเลตามหลักวิทยาศาสตร์ ปรับรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ ควบคู่กับการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีฟื้นฟูพื้นที่ทะเล และยกระดับศักยภาพเทคโนโลยีทางทะเลให้ก้าวหน้า

กว่างซีต้องปฏิบัติตามแผนดังกล่าว พร้อมจัดวางภารกิจและมาตรการการทำงานให้สอดคล้องตามหลักการ ปรับปรุงระบบและกลไกการบริหารจัดการพื้นที่ทางทะเล ปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ

ก่อนหน้านี้ สำนักงานสมุทรศาสตร์แห่งชาติจีนตั้งเป้าอนุรักษ์พื้นที่ร้อยละ 35 ของแนวเส้นชายฝั่งทะเลให้อยู่ในสภาพเดิม แต่จากสำรวจพบว่า ปัจจุบัน พื้นที่กว่าร้อยละ 70 ของแนวเส้นชายฝั่งทะเลดังกล่าวกำลังถูกบุกเบิกพัฒนา

         

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กว่างซีประกาศแผนพัฒนา Ocean Economy ตั้งเป้า GDP ทะเลมหาสมุทรทะลุ 151000 ล้านหยวนภายในปี 58 (6 ธันวาคม 2555)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน