ผลประโยชน์ของจีนในการเข้าร่วม TPP — ประสบการณ์ดีๆ ของจีนจากการเปิดประเทศ ผลพวงจาก WTO
1 Jul 2013เศรษฐกิจจีนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจจากการส่งเสริมการปฎิรูปตลาดภายในประเทศเมื่อครั้งเข้าร่วมองค์กรการค้าโลก (WTO) ในปี 2544 ซึ่งนับได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีของจีนที่การเปิดประเทศนำไปสู่การปฏิรูปตลาดภายในและการขยายตัวทางเศรษฐกิจจวบจนปัจจุบัน
กระทรวงพาณิชย์จีนได้เปิดเผยว่า จีนได้ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2,300 ประการและส่วนท้องถิ่นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 19,000 ประการเมื่อครั้งขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO และในโอกาสครบรอบ 5 ปีที่จีนเข้าร่วม WTO จีนได้เปิดสาขาธุรกิจบริการกว่า 100 สาขาจากทั้งสิ้น 160 สาขาให้แก่ต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อปฎิบัติตามกฎระเบียบของ WTO ซึ่งจีนต้องส่งเสริมการเปิดประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ นอกจากนั้น รัฐบาลจีนได้ลดการแทรกแซงตลาดและปล่อยให้กลไกตลาดดำเนินไปอย่างมีเสรีภาพในการกำหนดราคาของสินค้าและบริการประเภทต่าง ๆ (นอกจากสินค้าประเภทธัญญาหาร น้ำมันสำเร็จรูปและธุรกิจบริการสาขาไปรษณีย์) การเปิดเสรีดังกล่าวเป็นการการปฎิรูปตลาดของจีนครั้งใหญ่จากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบทุนนิยม และถือได้ว่าการปฎิรูปดังกล่าวเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เศรษฐกิจจีนพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด นอกจากนั้น ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้ จีนยังคงดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อ ปฎิรูปตลาดจีนและส่งเสริมให้กลไกตลาดมีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความพยายามของจีนที่ต้องรับมือกับความท้าทายจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ส่งผลให้ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้ ศักยภาพโดยรวมของประเทศจีน บทบาทในเวทีโลกของจีน รวมถึงศักยภาพการแข่งขันของบริษัทจีนถือว่าได้พัฒนาถึงระดับสูงที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์จีน
จีนได้เริ่มการเปิดประเทศตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งการเปิดประเทศดังกล่าวได้กระตุ้นเศรษฐกิจจีนเป็นอย่างมาก และประสบการณ์การเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ของจีนก็เป็นเครื่องยืนยันว่าการเปิดประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการขยายการปฏิรูปของตลาดภายในประเทศ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจน การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
ผู้นำรุ่นใหม่จีนก็เห็นผลดีจากการเปิดประเทศต่อการปฎิรูปตลาดภายในประเทศ เห็นได้จากการที่นายจาง กาวลี่ รองนายกรัฐมนตรีจีนได้กล่าวในเวทีการสัมมนาเพื่อการพัฒนาของจีน ซึ่งจัดขึ้นที่ปักกิ่ง ว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปตลาดจีนผ่านการเปิดประเทศเป็นประสบการณ์ที่สำคัญของจีน และยังได้กล่าวในระหว่างการสำรวจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฉางเจียงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่ที่สำคัญที่จะส่งเสริมและพัฒนาการเกื้อกูลกันของการเปิดประเทศและการปฏิรูปภายในประเทศ อีกทั้ง นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนยังได้ระบุว่า จีนยังมีช่องว่างอีกมากให้การเปิดประเทศผลักดันการปฏิรูปรอบใหม่เพื่อขยายความต้องการของตลาดภายในประเทศจีน นอกจากนั้น ในรายงานที่อดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทาได้นำเสนอในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำว่าจีนได้กำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การเปิดประเทศให้ดำเนินต่อไป
นายหวัง จื่อเล่อ นักวิจัยระดับสูงของสถาบันวิจัยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศแสดงความคิดเห็นว่า จีนควรมีท่าทีที่กระตือรือร้นกว่านี้ต่อความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ทั้งนี้ แม้ว่า TPP เป็นข้อตกลงที่สหรัฐ ฯ มีบทบาทนำอย่างเต็มที่ โดยที่ TPP ได้กำหนดกฎระเบียบทางการเงินและระบบการบริหารของบริษัทที่ค่อนข้างเข้มงวด นำไปสู่การแข่งขันในระบบการค้าเสรีที่ค่อนข้างเข้มข้น ดังนั้น การเข้าร่วมการเจรจาเปิดการค้าเสรีกับสหรัฐ ฯ และ EU จะสร้างแรงกดดันใหม่ให้จีนในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความเป็นสากลมากขึ้น รวมถึงประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญาด้วย นอกจากนี้ โดยที่การเจรจารอบโดฮา ภายใต้กรอบ WTO ยังไม่มีความคืบหน้า ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก นายหวัง เห็นว่า จีนไม่ควรปฎิเสธการเข้าร่วม TPP ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาคมโลกเป็นอย่างมาก
ถ้าเปรียบเทียบกับข้อตกลงการค้าเสรีอื่น ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือในกรอบ TPP คือการยกเลิกภาษีศุลกากรภายในประเทศสมาชิกอย่างสิ้นเชิงโดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ (โดยไม่คำนึงถึงระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน) ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าร่วม TPP โดยหากญี่ปุ่นได้เข้าร่วม TPP แล้ว ขนาดของเศรษฐกิจประเทศสมาชิก TPP จะครองสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของขนาดเศรษฐกิจโลก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ TPP จะพัฒนาเป็นเวทีสำคัญแห่งใหม่ที่จะเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของโลก
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ TPP ไม่เพียงมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ฯ หากยังเปิดโอกาสให้สหรัฐ ฯ เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น นายหวัง จื่อเล่อระบุว่า หากจีนเข้าร่วมเจรจา TPP จีนจะต้องเผชิญความท้าทาย พร้อมๆ ไปกับการพบโอกาสที่เปิดกว้าง การเป็นสมาชิกของ TPP จะสร้างแรงกดดันให้จีนในประเด็นด้านลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน รวมทั้งการลดการปล่อยของมลพิษ นอกจากนั้น การเข้าร่วม TPP ยังส่งเสริมการสร้างสรรค์และนวัตกรรมของจีน ตลอดจนเพิ่มพูนศักยภาพการแข่งขันของจีนในตลาดโลกเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกฎระเบียบใหม่ ๆ ในด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ต้องไม่ลืมว่า การเข้าร่วม (TPP) ที่เร็วกว่า (ประเทศอื่น ๆ) จะสร้างความได้เปรียบในการเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบของ TPP ในขณะที่ การต่อต้านไม่เข้าร่วม TPP จะทำให้จีนพลาดโอกาสที่จะใช้การเข้าร่วม TPP มาส่งเสริมการปฎิรูปของเศรษฐกิจจีนให้ขยายกว้างขวางมากขึ้น
ในส่วนของไทย ไทยได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมการเจรจา TPP ในระหว่างการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 อย่างไรก็ดีก่อนที่ไทยจะสามารถเริ่มการเจรจาความตกลง TPP ได้นั้น ประเทศสมาชิกจะต้องยินยอมให้ไทยเข้าร่วมโดยฉันทามติ และไทยดำเนินการตามกระบวนการภายในที่ระบุไว้ในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก่อน