ปักกิ่งและมาเก๊ากำลังให้ความสนใจการท่องเที่ยวและการค้าบริการระหว่างประเทศ
29 Jul 2013ปักกิ่งและมาเก๊าจับมือสู่อนาคตอันสดใสระหว่างการจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยน (Beijing Macao Cooperation and Exchange Symposium)
ปักกิ่งและมาเก๊าจับมือกันผลักดันความร่วมมือทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมและอุตสาหกรรม เชิงสร้างสรรค์ (cultural and creative industries) รวมทั้งอุตสาหกรรมการบริการด้านการค้า ซึ่งดูมีอนาคตสดใสอย่างมาก โดยเมื่อวันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกรุงปักกิ่งและเขตบริหารพิเศษมาเก๊า (Beijing Macao Cooperation and Exchange Symposium) เป็นครั้งที่ 2 ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊าซึ่งบริษัททั้งในปักกิ่งและมาเก๊าได้ ลงนามในสัญญาจำนวน 11 ฉบับ มีมูลค่า 4.14 พันล้านหยวน (674.8 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมากถึงร้อยละ 60 ทั้งนี้ งานสัมมนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกรุงปักกิ่งกับเขตบริหารพิเศษมาเก๊า (Beijing Macao Cooperation and Exchange Symposium) จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงปักกิ่ง ในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งบริษัททั้งในปักกิ่งและมาเก๊าจำนวน 32 บริษัท ได้ลงนามในสัญญาจำนวนทั้งสิ้น 16 ฉบับ มูลล่า 2.57 พันล้านหยวน และในจำนวนนั้นมีสัญญาด้านวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์กว่า 13 โครงการ
นาย Chui Sai-on ผู้บริหารสูงสุดของมาเก๊า กล่าวในพิธีเปิดการประชุมในครั้งนี้ว่า เขตบริหารพิเศษมาเก๊ามีความปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจระดับโลก และเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจระดับภูมิภาค รวมทั้งเป็นแหล่งให้บริการทางการค้าสำหรับประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่สามารถใช้ภาษาโปรตุเกสได้และมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีนแล้ว 7 ประเทศจากทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ โปรตุเกส บราซิล แองโกลา เคปเวิร์ด กินี-บิสเซา โมซัมบิก และติมอร์ตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่สำหรับจีนเนื่องจากมีประชากรมากประมาณ 300 ล้านคน ในขณะที่นาง Irene Lau Kuan-va กรรมการบริหารสถาบันสนับสนุนการค้าและการลงทุนมาเก๊า (the Macao Trade and Investment Promotion Institute) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการในเขตบริหารพิเศษมาเก๊าได้รับผลประโยชน์มากมายหลังจากมีโอกาสได้เข้าพบผู้แทนจากกรุงปักกิ่งในการประชุม โดยทางสถาบันฯจะพยายามหาโอกาสเดินทางไปกรุงปักกิ่ง เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับตลาดเพิ่มเติม พร้อมทั้งจะพยายามดำเนินการตามสัญญาที่ได้ลงนามไปอย่างดีที่สุดเพื่อช่วยสร้างบริบทที่ดีขึ้นสำหรับการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนระหว่าง กรุงปักกิ่งและเขตบริหารพิเศษมาเก๊า
มุมมองจากปักกิ่ง: “มาเก๊า” ประตูสู่ตลาดใหม่
ด้าน นาย Wang Anshun นายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่ง ได้กล่าวว่า กรุงปักกิ่งมีความประสงค์ จะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับเขตบริหารพิเศษมาเก๊า โดยทั้งสองฝ่ายจะขยายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในหลายภาคธุรกิจ อาทิ การค้าด้านบริการ ธุรกิจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และการท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนั้น กรุงปักกิ่งยังต้องการใช้เขตบริหารพิเศษมาเก๊าเป็นเวทีเพื่อขยายความร่วมมือไปสู่ประเทศและภูมิภาคอื่นๆ ที่ใช้ภาษาโปรตุเกสนอกจากนี้ นาย Wang ยังกล่าวต่อไปอีกว่า
ปัจจุบัน กรุงปักกิ่งเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเขตบริหารพิเศษมาเก๊า เห็นได้จากปริมาณการค้าระหว่างกรุงปักกิ่งและเขตบริหารพิเศษมาเก๊าที่สูงมากถึง 350 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 22 ซึ่ง นาย Lian Zhaotong ศาสตราจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศทางธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยมาเก๊า แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การทำงานร่วมกับกรุงปักกิ่งจะส่งผลให้เขตบริหารพิเศษมาเก๊าสามารถส่งออกสินค้าที่ผลิตภายในเขตบริหารพิเศษมาเก๊าไปยังกรุงปักกิ่งและจังหวัดอื่นๆ ในจีนได้ อีกทั้งเขตบริหารพิเศษมาเก๊ายังสามารถทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางส่งออกสินค้าที่นำเข้าจากภูมิภาคและประเทศต่างๆ ที่ใช้ ภาษาโปรตุเกสไปยังจีนได้อีกด้วย โดยปักกิ่งน่าจะใช้มาเก๊าเป็นประตูสู่ตลาดต่างประเทศ และใช้ประโยชน์จากมาเก๊าในด้านนโยบายที่ยืดหยุ่น เครือข่ายนานาชาติ และช่องทางทางการเงิน
มุมมองจากมาเก๊า: “อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว” หนทางสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
นาย Jackson Chang ประธานสถาบันสนับสนุนการค้าและการลงทุนมาเก๊า (Macao Trade and Investment Promotion Institute) กล่าวว่า ในช่วง 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบริการ อาทิ การจัดการประชุมและงานนิทรรศการได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในมาเก๊า โดยมีงานลักษณะดังกล่าวที่จัดขึ้นในมาเก๊าจำนวนมากกว่า 1,000 งาน ไม่ว่าจะเป็นงานประชุมเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โรงแรม ธุรกิจแฟรนไชส์ โดย นาย Sou Tim-peng ผู้อำนวยการสำนักงาน การบริการทางเศรษฐกิจ (Director of Economic Services Bureau) ของเขตบริหารพิเศษมาเก๊า กล่าวว่า ภาคธุรกิจการจัดการประชุมและนิทรรศการได้สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับมาเก๊า โดยงานแฟร์หลายงานได้ใช้ประโยชน์จากการที่มาเก๊าเป็นแหล่งให้บริการทางการค้า โดยในทางกลับกัน งานแฟร์เหล่านี้ก็ได้ทำให้ธุรกิจการประชุมและนิทรรศการในมาเก๊ามีความเป็นสากลมากขึ้นอีกด้วย
สำหรับภาคการท่องเที่ยว ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม รายได้ของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษมาเก๊าคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 47 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเก๊าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ในทุกๆ ปี โดยในปี 2555 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 28 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 30 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวดังกล่าวจะส่งผลดีต่ออุสาหกรรมหลายประเภทในมาเก๊า รวมถึง การค้าปลีก การจัดประชุม และการจัดนิทรรศการ
จับตาอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมและเชิงสร้างสรรค์จีน-มาเก๊า…หรือจะเป็นคู่แข่งของไทย?
บีไอซีมองว่า ความร่วมมือระหว่างกรุงปักกิ่งและเขตบริหารพิเศษมาเก๊าจะช่วยสร้างให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมและเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงธุรกิจภาคบริการและการค้า เจริญเติบโตขึ้น อย่างรวดเร็วทั้งในปักกิ่งและมาเก๊า ซึ่งทั้งสองเมืองก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมที่เก่าแก่ จึงมีพื้นฐานทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจในลักษณะดังกล่าว และยังจะทำให้มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกสมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจำนวนมากมายมหาศาลที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับยังจะมีส่วนช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการเมืองอันดีระหว่างเมืองหลวงและมาเก๊าอีกด้วย ดังนั้น ไทยน่าจะจับตามอง ความเติบโตของอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมและเชิงสร้างสรรค์ของจีนและมาเก๊าซึ่งไทยเราเองก็มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหรรมดังกล่าว โดยเฉพาะธุรกิจประเภทการจัดการประชุมการสัมมนา และงานแฟร์ ซึ่งไทยอาจใช้ประโยชน์ในการสร้างความร่วมมือกับจีนและมาเก๊าที่อาจจะกลายเป็นคู่ค้าหรือคู่แข่งที่สำคัญของไทยในอนาคต